ก้าวสู่สังคมธรรมาภิบาลกับศาลปกครอง :
โดย ธัญธร ปังประเสริฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง
“หน่วยงานของรัฐละเมิดกันเอง”
ใช้สิทธิเรียกร้องเหมือนบุคคลภายนอกหรือไม่ ?
เป็นที่ทราบกันว่า ... กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้อง ๒ วิธี คือ วิธีแรก ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และ วิธีที่สอง ใช้สิทธิยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดสังกัด เพื่อให้พิจารณาชดใช้ค่าเสียหาย ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงมี “ประเด็นชวนคิด” ที่น่าสนใจตามมาว่า ...
ยื่นคำขอให้หน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดสังกัดชดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนด ไว้ในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ ได้หรือไม่ ?
มาดูบทบัญญัติในมาตรา ๑๑ ดังกล่าวกันก่อนค่ะ ...
“มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ผู้เสียหายเห็นว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดตามมาตรา ๕ ผู้เสียหายจะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนก็ได้ ในการนี้หน่วยงานของรัฐต้องออกใบรับคำขอให้ไว้เป็นหลักฐานและพิจารณาคำขอนั้นโดยไม่ชักช้า เมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้วหากผู้เสียหายยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐก็ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง) ได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย
ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอที่ได้รับตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หากเรื่องใดไม่อาจพิจารณาได้ทันในกำหนดนั้นจะต้องรายงานปัญหาและอุปสรรคให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือกำกับหรือควบคุมดูแลหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นทราบและขออนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้ แต่รัฐมนตรีดังกล่าวจะพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาให้อีกได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน”
เรื่องราวที่พิพาทกันนี้มีที่มาว่า ... เทศบาลตำบลได้มีคำขอให้กรมบัญชีกลางซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ในกรณีที่เทศบาลตำบลมีประกาศประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์โครงการซ่อมสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และได้เกิดข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประกาศผลผู้ชนะการประกวดราคา โดยเทศบาลตำบลได้ใช้สิทธิยื่นคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ แต่กรมบัญชีกลางมิได้ออกใบรับคำขอให้และมิได้พิจารณาชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด เทศบาลตำบลจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดี)
ออกใบรับคำขอภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๑ ดังกล่าวนั้น หมายถึง บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเช่นเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีจึงหาใช่ผู้เสียหายที่จะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ
กรณีจึงถือว่าไม่มีข้อพิพาทตามฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐคือผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการออกใบรับคำขอของผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ.๑๒๕/๒๕๖๓)
คดีดังกล่าว ศาลปกครองได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น หมายถึงผู้เสียหายที่เป็นบุคคลภายนอกเท่านั้น ไม่รวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง
อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานของรัฐผู้เสียหายไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๑๑ ดังกล่าวได้ แต่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งมุ่งหมายที่จะให้หน่วยงานของรัฐยุติข้อพิพาทกันเองตามวิธีการดังกล่าว ฉะนั้น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายของหน่วยงานของรัฐกับบุคคลภายนอกจึงแตกต่างกัน ... ด้วยประการฉะนี้
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕)