ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
กฟก. จับมมือ มจร. ศึกษาวิจัย ประเมินผลการดำเนินงาน ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
15 ต.ค. 2564

               ประเทศไทยจัดได้ว่า เป็นประเทศเกษตรกรรมในอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งแน่นอนว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็ต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ขึ้นๆ ลงๆ และโน้มเอียงไปทางตกต่ำอยู่บ่อยๆ แถบทุกปี จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรไทยต้องตกต่ำลงไปด้วย ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินติดตามมาอย่างไม่รู้จบ บางรายก็ยากแก่การฟื้นตัว นี่จึงเป็นสาเหตุของการก่อกำเนิดหน่วยงานที่ชื่อ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก.ขึ้นเมื่อปี 2542 มีเลขาธิการ กฟก. ซึ่งปัจจุบันคือ นายสไกร พิมพ์บึง เป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

            ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า การก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้เลขาธิการ กฟก. ของนายสไกร นั้น ความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้สิ้นให้แก่เกษตรกรถูกขับเคลื่อนอย่างเต็มลูกสูบ โดยมีการกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน เช่น การให้เร่งสะสางข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกรใหม่ทั้งหมดให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความเป็นจริง ซี่งจะนำไปสู่การแก้ไขความเดือดร้อน โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้สิน รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพทันต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร

ที่สำคัญ คือความพยายามอุดช่องโหว่และอุปสรรคในการช่วยเหลือเกษตรกรเสริมองค์ความรู้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการช่วยเหลือ เพื่อให้การฟื้นฟูและพัฒนาสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเกษตรกรสัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย ตลอดจนพัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรมให้ดียิ่งขึ้นภายใต้ “โครงการการติดตามประเมินผลการดำเนินงานฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” ที่ได้ให้นักวิชาการมืออาชีพ“รศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จัดทีมเข้ามาทำการศึกษวิจัย เพื่อถอดบทเรียน ให้กับ กฟก. นำไปใช้ในการปรับปรุงให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาวต่อไป

            ดังนั้น อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงขอให้เข้าพูดคุยกับรศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง ถึงการดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าวโดยรศ.ดร.โกนิฏฐ์ กล่าวเริ่มต้นว่า กฟก. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญของภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นทั้งการฟื้นฟูอาชีพ การให้เงินสนับสนุนรวมถึงการให้กู้ยืมเพื่อเป็นต้นทุนในการทำเกษตรกรรม โดยข้อดีของกองทุนฟื้นฟูฯ คือเป็นที่พึ่งของเกษตรกรอย่างแท้จริง เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูง แตกต่างจากกองทุนอื่นๆ หรือสถาบันการเงินทั่วไป ที่บางครั้งอาจมีดอกเบี้ยสูงเกินที่เกษตรกรจะแบกรับไหวอย่างไรก็ตามแม้กองทุนฟื้นฟูฯ จะมีการออกแบบความช่วยเหลือให้กับเกษตรกรไว้เป็นอย่างดีแต่ก็ยังประสบปัญหาเกษตรกรบางกลุ่มไม่ยอมส่งเงินคืนให้กับทางกองทุนฯ

ด้วยเหตุนี้ทางกองทุนฟื้นฟูฯจึงได้เลือกสนับสนุนงบประมาณกว่า 3,200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาศึกษา ภายใต้“โครงการการติดตามประเมินผลการดำเนินงานฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” โดยสาเหตุที่ถูกคัดเลือกให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีศักยภาพที่พร้อมด้วยทีมวิจัยที่มีคุณภาพครอบคลุมทั่วประเทศ มีสมาชิกเครือข่ายพัฒนาสังคมและชุมชนเครือข่ายสถาบันการศึกษา ทั้งราชภัฏ, มจร.พร้อมเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในการรวบรวมข้อมูล

           รศ.ดร.โกนิฏฐ์ เปิดเผยถึงขั้นตอนการวิจัยว่าจะมีการรวบรวมข้อมูลทั้ง 4 ภูมิภาค 11 กลุ่มจังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับ นายประยงค์ อัฒจักร ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในการให้ข้อมูลเกษตรกร ก่อนจะให้ทีมวิจัยติดต่อกองทุนฟื้นฟูฯ จังหวัด พร้อมลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูล โดยลักษณะการศึกษาจะทำในรูปแบบ360 องศา กล่าวคือดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูล โดยยึดหลักประเมินแบบซิป (CIPP Model) ซึ่งจะเป็นการการศึกษาในทุกมิติอาทิ ให้เจ้าหน้าที่รับทราบวิธีการรวบรวมข้อมูลดึงกลุ่มเกษตรกรมาสะท้อนปัจจัยอะไรที่ทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จและเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาไม่สำเร็จ นำไปสู่การทราบถึงสาเหตุเชิงลึกตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จและอุปสรรคของการดำเนินงาน รวมถึงประเมินศักยภาพของเกษตรกรในการชำระเงินกับทางกองทุนฯ ว่าเป็นอย่างไรพร้อมทำประชาสังคมให้เกษตรกรได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงองค์ความรู้จากงานวิจัยในครั้งนี้ เพื่อนำไปเป็นหลักในการฟื้นฟูเกษตรกรอย่างถูกต้องและตรงจุดมากขึ้นรวมถึงสามารถนำข้อสรุปไปเขียนเป็นโมเดลกล่าวได้ว่า ต้องเป็นงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริง ไม่ขึ้นหิ้งนั้นเอง

โดยระยะเวลาในการดำเนินโดรงการในครั้งนี้รศ.ดร.โกนิฏฐ์บอกว่า ช่วงเวลาการวิจัยนั้นแท้จริงแล้วได้เริ่มทำมาตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดเวลาทั้งสิ้น 150 วันที่จะรวบรวมข้อมูล แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูลจนแล้วเสร็จภายในสิ้นได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

“ซึ่งหลังจากที่ได้ลงมือทำวิจัยไปแล้วกว่า 60% ทำให้เห็นถึงประเด็นประโยชน์ที่ทางกองทุนฟื้นฟูฯ หรือองค์กรเกษตรกรจะได้รับจากงานวิจัยในครั้งนี้คือเป็นองค์ความรู้ที่ทางกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถนำไปปรับใช้ในเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการให้เงินสนับสนุน วิธีการที่จะให้เงินกู้สำหรับเกษตรกรควรจะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งระเบียบและขั้นตอนจากงานวิจัยนี้อะไรที่เป็นอุปสรรค การวิจัยก็จะมีการเสนอแนะ ในส่วนองค์กรเกษตรกรก็สามารถนำข้อมูลจากงานวิจัยนี้ไปประเมินได้ว่าอะไรคือปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและนำไปปรับใช้ได้ รวมไปถึงทราบถึงขั้นตอนยื่นเรื่องและวิธีขอการสนับสนุนเพื่อขอเงินกู้ พร้อมทราบขั้นตอนกระบวนการคืนเงินให้กับกองทุนฯ ได้อย่างถูกต้อง นี้คือสิ่งที่เกษตรกรจะนำไปใช้ได้อย่างแน่นอน เพราะว่าเป็นองค์ความรู้ที่สะท้อนจากเกษตรกรโดยตรง”

รวมทั้งการวิจัยในครั้งนี้ยังทำให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ปรับปรุงการจัดการโครงการที่เหลือในอนาคตให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับปรุงคุณภาพของโครงการให้ได้มาตรฐานทางวิชาการมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลลัพธ์จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นยังพบอีกว่า

              การสนับสนุนช่วยเหลือของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนั้นได้แก้ปัญหาและฟื้นชีวิตให้พี่น้องเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น นายสวิด แสงตะกร้อประธานองค์กรกลุ่มเกษตรกรบ้านคลองใหญ่ ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทที่เคยกู้ยืมจากสถาบันการเงินมเพื่อเป็นต้นทุนการเกษตรในการทำนา/ทำไร่ แต่เนื่องจากไม่สามารถชำระคืนได้ ผนวกกับดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆจึงถูกยึดที่ทำกินไปจนหมดต่อมามีคนแนะนำให้รู้จักกองทุนฟื้นฟูฯ จึงได้ชักชวนเพื่อนเกษตรกรมารวมตัวกัน สมัครเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรทำให้ได้ความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ในการแก้ปัญหาต่างๆ  ทั้งการเจรจาซื้อหนี้ให้ทั้งหมด รวมไปถึงฟื้นฟูอาชีพผ่านความรู้ด้านการเกษตรเพื่อนำไปพัฒนาอาชีพทำให้เกิดความเข้มแข็งภายในกลุ่มจนในที่สุดก็พลิกฟื้นกลับมาและสามารถไปคืนหนี้กับสถาบันการเงินได้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันกลุ่มได้พัฒนาต่อยอด โดยการสร้างกลุ่มเลี้ยงโคนม โคเนื้อแพะ ทำให้องค์กรเกษตรกรบ้านใหญ่สามารถลืมตาอ้าปากได้ พูดได้เต็มปากว่า มีวันนี้ได้เพราะกองทุนฯ ที่สำคัญปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรบ้านใหญ่ได้ใช้หนี้กองทุนฯ หมดแล้ว

“การวิจัยและพัฒนาโครงการการติดตามประเมินผลการดำเนินงานฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนี้เอง เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม พร้อมฟื้นฟูอาชีพและสร้างองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรรมอย่างเป็นรูปธรรม และด้วยความช่วยเหลือที่เข้าใจและเข้าถึงปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริงนี้เอง ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน”

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...