ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันขึ้นต้นปีงบประมาณใหม่ ซึ่งก็จะมาพร้อมกับการเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ๆ ของข้าราชการทั่วประเทศ ซึ่งจุดที่น่าสนใจก็คงหนีไม่พ้น พ่อเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเอง โดยหากจากจังหวัดเล็กขึ้นมานั่งที่จังหวัดใหญ่ก็ถือว่าได้ขยับเกรดขึ้นมา หรือถ้าจากจังหวัดไกลๆ แต่ถูกโยกให้มานั่งในจังหวัดใกล้ๆ ส่วนกลางมากขึ้น ก็ถือว่าได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเหมือนกัน แต่ตรงกันข้าวหากเดิมเคยนั่งจังหวัดใหญ่ แต่แล้วต้องกลับไปนั่งว่าการจังหวัดเล็ก ก็มักจะถูกมองว่าถูกแป็กไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2564 มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงมหาดไทยล็อตใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะมีถึง 28 ตำแหน่ง และก็จะมีผลให้ต้องไปนั่งตำแหน่งใหม่กันในวันที่ 1 ตุลาคม ดังที่กล่าว และก็มี 1 บุคคลใน 28 ตำแหน่งที่กล่าว ที่ทอปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉับบนี้จะพาท่านผู้อ่านมารู้จักพูดคุยด้วย ซึ่งก็คือ “สิธิชัย จินดาหลวง”ที่พ้นจากตำแหน่งพ่อเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน มานั่งเป็นพ่อเมืองจังหวัดลำปางคนล่าสุด
และเมื่อพูดถึงจังหวัดทางภาคเหนือ ใครหลายคนอาจคิดถึงจังหวัดเชียงใหมเป็นจังหวัดแรกๆ แต่แท้จริงแล้วจังหวัดลำปางก็เสมือนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของภาคเหนือด้วยเช่นกัน เพราะมีศักยภาพทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่ครบครัน กล่าวกันว่า การมานั่งในตำแหน่งพ่อเมืองลำปางของ สิธิชัย จินดาหลวง นี้ เปี่ยมไปด้วยเป้าหมายที่มุ่งมั่นและองค์ความรู้ที่ครบครัน ที่พร้อมจะยกระดับและพัฒนาจังหวัดลำปางให้ดียิ่งขึ้น
ผู้ว่าฯ สิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางหรือ ผู้ว่าฯ ป๋อม ในวัย 59 ปี ได้เล่าย้อนเรื่องราวในวัยเด็กให้ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฟังว่า ตัวผู้ว่าฯ เป็นคนภาคเหนือแต่กำเนิดโดยเป็นคนจังหวัดลำพูนเรียนอยู่ที่จังหวัดลำพูนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมคือจากโรงเรียนอนุบาลลำพูน มาโรงเรียนเมธีวุฒิกร และโรงเรียนจักรคำคณาทร ตามลำดับส่วนด้านมารดานั้นเป็นชาวสวนและทำค้าขายทั่วไป ขณะที่บิดาเป็นครูในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่าผู้ว่าฯ สิธิชัย มีต้นทุนชีวิตเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพราะครอบครัวไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยายไม่เคยมีใครทำงานในแวดวงราชการเลย แต่ตัวเองนั้น มีเป้าหมายที่จะสมัครเข้าเป็นราชการเพื่อรับใช้ประเทศชาติ
ผู้ว่าฯ สิธิชัย เล่าต่อไปว่า ในช่วงมหาวิทยาลัย ได้ไปสอบเอ็นทรานซ์เพื่อที่จะเข้าที่เรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรเน้นการสอนไปที่เป็นการบริหารจัดการฟาร์ม ซึ่งหลังเรียนจบปริญญาตรีทาง ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ยังไม่เปิดสอบข้าราชการในตำแหน่งที่เป็นคุณวุฒิของเขาจึงได้มองหางานอื่นและก็มาได้งานที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ก่อนที่ปีถัดมา ก.พ.จะเปิดสอบซึ่งผู้ว่าฯ สิธิชัยก็ไปสอบและก็ได้ขึ้นบัญชีไว้
“ประกอบกับทางกระทรวงมหาดไทยมีความต้องการผู้มีคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์มาทำแผนพัฒนาจังหวัดผมจึงไปสอบที่กระทรวงมหาดไทยอีกครั้งก็ได้รับคัดเลือกและแต่งตั้งด้วยเหตุนี้ ผมจึงลาออกจากเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อมารับราชการ ซึ่งยอมรับว่า การได้ทำงานใน CP ถือได้ว่ามีสถานะที่ดี เนื่องจากเป็นงานตรงสายกับที่เรียนมา มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ด้วยความตั้งใจและอุดมการณ์ที่ต้องการเข้ารับราชการเพื่อรับใช้บ้านเมืองจึงตัดสินใจเข้ารับราชการอย่างไม่ลังเล”ผู้ว่าฯ สิธิชัย กล่าว
ผู้ว่าฯ สิธิชัย ยอมรับว่า หลังจากได้รับโอกาสให้เข้ามาทำงานที่กระทรวงมหาดไทย จึงเห็นถึงความสำคัญด้านรัฐศาสตร์ จึงได้ไปเรียนต่อปริญญาตรีอีกใบที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รัฐศาสตร์บัณฑิต และต่อปริญญาโทมหาวิทยาลัยรามคำแหง วุฒิศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นคุณวุฒิที่จะเกื้อกูลต่อการทำงานที่กระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ สิทธิชัย บอกว่า สำหรับบันไดขั้นแรกที่ได้ทำงานในฐานะราชการถูกบรรจุในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนที่สำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยปีแรกได้ทำหน้าที่การพัฒนาจังหวัด การรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนโครงการต่างๆ การแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัด ก่อนที่ปีต่อมาจะได้รับคัดเลือกจากผู้บังคับบัญชาให้ไปเป็นเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่ง ณ เวลานั้นผู้ดำรงตำแหน่งผู้วาราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคือประมวล รุจนเสรี
ผู้ว่าฯ สิธิชัย บอกด้วยว่า ด้วยโอกาสจากการทำงานเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้เองที่เหมือนเป็นประตูสู่ความรู้และช่วยสร้างประสบการณ์มากมายทั้งวิธีการคิดวิธีการทำงาน ได้สัมผัสส่วนราชการต่างๆทำให้การทำงานในเวลานั้น เป็นเสมือนบทเรียนสำเร็จรูป ประกอบกับเป็นคนประเภทครูพักลักจำทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนเมื่อท่านประมวล รุจนเสรี ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น ท่านก็ให้ติดตามไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ ทำให้มีโอกาสได้ติดตามไปในหลายๆ แห่ง ทั้งช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงมหาดไทย หรือตอนที่ท่านดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งการติดตามท่านประมวลนี่เอง ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งระดับภูมิภาค ราชการส่วนกลาง และราชการส่วนท้องถิ่น กล่าวได้ว่า การทำงานเลขานุการทำให้ได้สัมผัสถึงการทำงานในหลายมิติมากยิ่งขึ้น
“หลังจากที่ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการจนท่านประมวลได้เกษียณราชการ ผมก็มาปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งสายงาน ซึ่งผมก็ผ่านเวทีมาหลายตำแหน่งแล้ว ผมอยู่ทุกระดับของสายงานของกระทรวงมหาดไทย ผมเคยไปเป็นปลัดอำเภอ ที่ว่าการอําเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ได้เรียนรู้การปกครองในเชิงพื้นที่ อยู่ส่วนกลางหลายกรมที่อยู่กับผู้บังคับบัญชา รวมถึงเคยอยู่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก่อนที่จะได้ไปเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 10 ปี ผมมีประสบการณ์ในการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ”ผู้ว่าฯ สิธิชัย กล่าว พร้อมบอกต่ออีกว่า
“จากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานทั้งหมด รวมถึงการครูพักลักจำ ทำให้เรามองเห็นภาพในการทำงาน โดยหลักการที่ได้คือ เราต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด โดยต้องไม่วิติกกังวลกับปัญหาว่าทำได้หรือไม่ได้ ทุกอย่างต้องทำได้ ทุกอย่างต้องมีทางออก เราก็อาศัยความรู้ อาศัยประสบการณ์ อาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน การบูรณาการร่วมกันสำคัญมาก มันคือหัวใจของการทำงาน เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือ ไม่ว่าจากราชการด้วยกันเองหรือภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมและประชาชน งานจะไม่สำเร็จ เพราะงานไม่มีทางสำเร็จได้จากคนๆ เดียวหรือจากหน่วยงานเดียว”
“แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการการบูรณาการทั้งสิ้น อยู่ที่บูรณาการมากหรือน้อยในแต่ละเนื้องานเท่านั้นเองโดยเฉพาะงานในเชิงพื้นที่ต้องพึ่งพาการบูรณาการความร่วมมือ เพราะงานในเชิงพื้นที่ค่อนข้างหลากหลายและสลับซับซ้อน บางทีภารกิจหน้าที่จากหลายหน่วยงานมันทับซ้อนในเชิงพื้นที่แต่เราก็ต้องบูรณาการให้งานสอดคล้องต่อเนื่องกัน ไม่ไปทับซ้อนหรือแย่งหน้าที่กัน มันเป็นหลักการในการบริหารพื้นที่ ที่ต้องอาศัยความเข้าใจกันจริงๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นงานจะสะเปะสะปะ ส่งผลให้ไม่สำเร็จเท่าที่ควร งานอาจสำเร็จตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานจริง แต่ความสำเร็จที่จะตกอยู่กับผืนแผ่นดินหรือประชาชนมันจะน้อยหรือด้อยลงไป แต่ถ้าเกิดการบูรณาการงานจะสำเร็จและเกิดผลดีต่อประเทศและประชาชน”
ส่วนความแตกต่างและความเหมือนระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดลำปางเป็นอย่างไรนั้นผู้ว่าฯ สิธิชัย ให้ทัศนะว่า ทั้ง2 จังหวัดมีลักษณะเหมือนกันค่อนข้างมากทั้งขนาดพื้นที่และสภาพแวดล้อม โดยลำปางมีพื้นที่ 7 ล้าน 8 แสนไร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ 7 ล้าน 9 แสนไร่ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกันมาก รวมถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประเพณีและวัฒนธรรมของทั้ง 2 จังหวัดก็ใกล้เคียงกัน ขณะที่สภาพโดยทั่วไปทั้ง 2 จังหวัดจะเป็นพื้นที่ป่าเสียส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีปัญหาประชาชนไปตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินในพื้นที่ป่า แน่นอนว่าย่อมไม่มีเอกสารสิทธิ์ การไปอยู่หรือประกอบอาชีพในพื้นที่นั้น จึงผิดกฎหมาย ซึ่งการแก้ปัญหาและพัฒนาทั้ง 2 จังหวัด จะคล้ายๆ กันคือการขับเคลื่อนให้การดำรงชีพและการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ป่ามีความถูกต้องตามกฎหมายให้ได้
ส่วนความแตกต่างคือ แม่ฮ่องสอนจะเป็นจังหวัดที่ติดกับตะเข็บชายแดนฝั่งประเทศเมียนมา ขณะที่จังหวัดลำปางตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมและเป็นเหมือนศูนย์กลางของภาคเหนือ เพราะเป็นจังหวัดที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือได้อย่างสะดวกสบาย จึงส่งผลให้ลำปางเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ รวมถึงเมืองเก่าแก่ทางเหนือจังหวัดลำปางยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่นกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีทั้ง เหมืองถ่านหินลิกไนต์ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นศูนย์กลางในการกระจายไฟฟ้า ไปทั่วภาคเหนือหรือเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ของภาคเหนือ ในส่วนแร่ธาตุที่เป็นหินปูน ก็มีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ SCGได้สัมปทานทำหินปูนเพื่อทำปูนซิเมนต์แล้วยังมีทรัพยากรดินขาวสำหรับเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเซรามิค จึงกล่าวได้ว่า จังหวัดลำปางค่อนข้างมีแร่ธาตุที่อดุมสมบูรณ์กว่าแม่ฮ่องสอน
โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมโดดเด่นของจังหวัด อย่าง เซรามิค ถือเป็นจุดโดดเด่นและความแตกต่างของจังหวัดลำปาง และยังเป็นภาพใหญ่ของจังหวัด เพราะอุตสาหกรรมเซรามิคในจังหวัดลำปางมีธุรกิจทุกขนาดทั้งใหญ่ กลาง และเล็ก ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดเซรามิคนอกเหนือจากข้าวของเครื่องใช้ โดยโรงงานเซรามิคใหญ่ๆ เริ่มมีการใช้ know-how เตาเผาล้ำสมัย ทำให้สามารถผลิตเซรามิคที่ได้คุณภาพ เป็นสินค้าพรีเมียมและส่งไปต่างประเทศได้ รวมไปถึงธุรกิจเซรามิคขนาดกลางและเล็กก็มีการพัฒนาและต่อยอดให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“จริงๆ แล้วลำปางถูกวางหมุดให้เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการและศูนย์กลางการบริหารราชการและด้านเศรษฐกิจ เพราะลำปางเป็นประตูการค้า คนจีนมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ได้เปิดประตูทั้งการค้าทางบกและทางน้ำ ด้วยจุดที่ตั้งเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมมาก แต่เนื่องจากช่วงหลังๆ จังหวัดเชียงใหม่พัฒนาได้เร็ว ความเป็นศูนย์กลางก็จะถูกเบี่ยงเบนไปที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามจังหวัดลำปางยังเป็นจังหวัดที่จะขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ด้วยศักยภาพของตัวจังหวัดเอง”ผู้ว่าฯ สิธิชัย กล่าว
เมื่อถามถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดลำปาง ผู้ว่าฯ สิธิชัยบอกว่า ปัจจุบันแนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดลำปาง ต้องมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมที่เน้นเชิงคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้พื้นที่ไม่มากแต่สร้างอาชีพและงานได้มาก ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงวิถีการตลาด ซึ่งอนาคตจะไม่ทำเกษตรเชิงปริมาณ ที่เป็นการเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้พื้นที่ผลิตเยอะและเกิดการล้นตลาด แต่จะเน้นไปที่การผลิตเชิงคุณภาพเป็นหลัก รวมถึงแนวทางในการขับเคลื่อนหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดลำปาง ซึ่งมีทั้งงานไม้ ผ้าทอมือและงานฝีมือ งานแกะสลักชิ้นงานต่างๆ ก็จะมีการต่อยอดในอุตสาหกรรมภาคนี้เช่นกัน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพในเชิงสร้างสรรค์
ขณะที่การท่องเที่ยว ก็ถือเป็นจุดแข็งของจังหวัดลำปาง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทุกจังหวัดในภาคเหนือ อีกทั้งมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดลำปาง ดังนั้นแนวทางในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจึงต้องดึงศักยภาพดังกล่าว ให้เป็นจุดเด่น และสามารถดึงดูนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเที่ยว ซึ่งผู้ว่าฯ สิธิชัย ยังได้ตอกย้ำเป้าหมายกับเราว่า
“ลำปางจะไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป จังหวัดลำปางจะเป็นจังหวัดที่ต้องแวะมาพักซัก 1 คืน 2 คืน เราจะพยายามสรรค์สร้างสถานที่ท่องเที่ยวให้มีความโดดเด่น สะอาดสะดวกและปลอดภัย พร้อมกับเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาคต่างๆ รวมถึงจังหวัดข้างเคียงด้วย ซึ่งส่วนนี้ได้มีการวางแผนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลัเอกชนที่เกี่ยวข้องไว้เป็นการเบื้องต้นแล้ว หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ก็น่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ได้ และจังหวัดต้องเชื่อมสังคม เศรษฐกิจ ไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ภาคเหนือรวมถึงต่างประเทศด้วย”
“โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด เป็นแผนระยะกลางเคือแผนแม่บทระยะ 5ปี (2566-2570) เป็นการวางแผนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคการศึกษา ประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งได้ร่วมกันคิดและวางแผนไว้หมดแล้ว ผมจึงจะมาเพื่อขับเคลื่อน ภาคส่วนของจังหวัดลำปางให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราได้คิดร่วมกัน”ผู้ว่าฯ สิธิชัย พูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น
ผู้ว่าฯ สิธิชัย จินดาหลวง จะเกษียณภายในปี 2565 ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้ทำธุรกิจส่วนตัวอะไร โดยผู้ว่าฯ สิธิชัย ยังเผยถึงเคล็ดลับในการรับมือกับความกดดันจากงานไว้ด้วยคือการพบปะเพื่อนฝูง รัปประทานข้าวด้วยกัน และไม่เอางานมาหมกมุ่น เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับและกินไม่ได้ ทำให้วันต่อๆ ไป ร่างกายจะไม่แจ่มใสและคิดงานไม่ออกได้ ดังนั้นเวลาพักผ่อน จึงปล่อยพักเรื่องงานออกจากสมอง แล้วเมื่อขึ้นวันใหม่จะมีความสดชื่นทำให้สมองและสติปัญญาแจ่มใสตามไปด้วย สุดท้ายนี้ผู้ว่าฯ สิธิชัย ยังยืนยันในอุดมการณ์ หากมีโอกาสได้รับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองได้ เขาจะยังคงตั้งมั่นที่จะทำต่อไป