ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
โรคระบาดร้ายในประวัติศาสตร์โลก
23 ธ.ค. 2564

#CSRcontent โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

โรคระบาดร้ายในประวัติศาสตร์โลก

หากไม่มีเขาเหล่านั้น ความสูญเสียคงทับถมทวีคูณต่อเนื่องหลายศตวรรษ

โรคระบาดร้ายแรงในประวัติศาสตร์โลกเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งมีสถานการณ์ช่วยโหมกระพือให้ระบาดหนัก เหมือนเปิด pandora box เช่น สงคราม แผ่นดินไหว น้ำท่วม ทุพภิกขภัย

Smallpox ไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 15 เมื่อคนยุโรปเดินทางไปอเมริกา ได้นำโรคฝีดาษไปแพร่ระบาดแก่คนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ก่อนจะแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคของการเดินทางสำรวจโลกและล่าอาณานิคม ตลอดเวลาหลายร้อยปีของการแพร่ระบาด ไข้ทรพิษคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปไม่น้อยกว่า 56 ล้านคน จนช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นายแพทย์ชาวอังกฤษสังเกตว่า หญิงรีดนมวัวที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษวัว (Cowpox) ไม่เคยป่วยเป็นไข้ทรพิษเลย เขาจึงทดลองนำหนองจากแผลของผู้ป่วยฝีดาษวัวใส่เข้าไปใต้ผิวหนังของเด็กชาย แล้วจึงนำเชื้อไข้ทรพิษเข้าสู่ร่างกาย ปรากฏว่า เด็กไม่มีอาการล้มป่วย จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า เชื้อฝีดาษวัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้

ต่อมาผลการทดลองนี้ได้รับการเผยแพร่สู่วงวิชาการแพทย์ เรียกวิธีสร้างภูมิคุ้มกันนี้ว่า วัคซีน (vaccine) มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า vacca ที่แปลว่าวัว ปัจจุบัน ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อในมนุษย์ชนิดเดียวที่ถูกกำจัดไปจากธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกในเดือนพฤษภาคมปี 1980 ประเทศไทยเคยมีการระบาดของไข้ทรพิษตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็เคยประชวรด้วยไข้ทรพิษ จนมาระบาดอีกในสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยมีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3

The Cholera Pandemic อหิวาตกโรค เกิดขึ้นในอินเดียในปี 1817 เริ่มจากฝนตกหนัก น้ำท่วมทุ่งนาที่ Ganges Valley และพบว่า มีเชื้อโรคที่ส่งผลต่อลำไส้ ทำให้มีอาการท้องร่วง อาเจียน ขาดน้ำอย่างหนักและเสียชีวิต   อาการแบบนี้นักฟิสิกส์ชาวฮินดูเคยบรรยายไว้ตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล แสดงว่า เคยมีการแพร่ระบาดมาก่อนในอดีตที่ยาวนาน โรคนี้แพร่ระบาดออกไปจนไปถึงเส้นทางการค้าทางเรือ อินเดียสู่อารเบีย อารเบียสู่เปอร์เซีย ตุรกี รัสเซียตอนใต้ พร้อมกับการแพร่ระบาดไปทางตะวันออก มะละกาและญี่ปุ่น จนถึงปี 1831 ก็ไปถึงมอสโคว์ เบอร์ลิน อังกฤษ และอเมริกาเหนือ และทวีความรุนแรงอีกครั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือในปี 1848-1849 ประมาณการณ์ว่า 4 ใน 5 ของทหารยุโรปที่เสียชีวิตในสงครามไครเมีย (Crimean War : 1853-1856) ระหว่างจักรวรรดิรัสเซียกับฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออตโตมันและอิตาลี ไม่ได้เสียชีวิตจากการสู้รบแต่เสียชีวิตจากอหิวาตกโรคและสภาพอากาศหนาวเหน็บ

รายงานข่าวความเลวร้ายของสงครามที่บรรยายสภาพของทหารที่เจ็บป่วยถูกทอดทิ้ง ทำให้ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) สตรีชาวอังกฤษ รวบรวมสตรีอาสา 50 คน ไปเป็นพยาบาลประจำฐานทัพอังกฤษในไครเมีย การอุทิศตนของเธอส่งผลให้มีการปรับปรุงเรื่องการแพทย์ในสนามรบ เรื่องอาหารและสุขอนามัย และที่สำคัญคือ มีการก่อตั้งองค์การกาชาดสากล การสอนวิชาพยาบาลในยุโรป และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังมีสตรีที่น่ายกย่องอีกคน แมรี่ ซีโคล (Mary Seacole) พยาบาลและนักธุรกิจชาวจาไมก้า ที่ตั้งใจจะไปเป็นพยาบาลในแนวหน้า แต่ด้วยปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวจึงถูกปฏิเสธ แต่เธอไม่ยอมแพ้ใช้เงินส่วนตัวไปยังไครเมียเพื่อตั้ง British Hotel สถานที่พักผ่อนสำหรับทหารที่ป่วยและกำลังพักฟื้น ช่วยดูแลพวกเขาให้กลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น   ชาวโลกยังเป็นหนี้

จอห์น สโนว์ (John Snow) แพทย์ชาวอังกฤษผู้ช่างสังเกต ผู้หยุดการระบาดของอหิวาตกโรคที่กรุงลอนดอน  จากที่เขาตั้งข้อสงสัยว่า การติดเชื้ออาจไม่ได้มาจากอากาศเสียในกรุงลอนดอนหรือสัมผัสกับผู้ป่วย และตั้งสมมุติฐานว่า เชื้อโรคอาจมาจากการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนกับบางสิ่งบางอย่างที่ออกจากตัวผู้ป่วย ในปี 1849 เขาทดลองการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในพื้นที่โซโห กรุงลอนดอน โดยใส่บ้านคนที่เสียชีวิตลงในแผนที่กรุงลอนดอน และใส่คันโยกน้ำจากบ่อที่ประชาชนใช้ลงในแผนที่ด้วย ปรากฏว่า คนเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่บริเวณรอบๆ คันโยกน้ำอันหนึ่งที่ Broad Street (ปัจจุบันคือ Broadwick) และเมื่อเขาถอดคันโยกนั้นออก การเสียชีวิตก็ค่อยยุติลงอย่างน่าอัศจรรย์

การค้นพบนี้ได้วางรากฐานการปรับปรุงการบำบัดน้ำเสียในกรุงลอนดอน การอำนวยความสะดวกทางสุขาภิบาลในช่วงกลางศตวรรษที่ 19  รวมถึงการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสาธารณสุขพื้นฐานทั่วโลก ประเทศไทยเคยมีอหิวาตกโรคระบาดในสมัยพระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมามีการระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 และเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ล่าสุดในปี 1958-1959 กระทั่งมีการฉีดวัคซีนป้องกันจึงไม่มีการระบาดรุนแรงอีก

The Black Death กาฬโรค เกิดจากแบคทีเรียที่มีหนูและหมัดเป็นพาหะ แพร่ในอากาศ ผ่านการสัมผัส โดยอาหาร หรือวัสดุที่ปนเปื้อน ในอดีตมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้น 3 ครั้ง ช่วงที่ 1 ยุคกลางตอนต้น ในศตวรรษที่ 6 ระหว่างปี 541-542 เรียกกันว่า Plague of Justinian คาดกันว่า มีต้นกำเนิดในจีน แพร่กระจายสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิลจากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์ ช่วงที่ 2 ในศตวรรษที่ 14-19 เรียกการระบาดนี้ว่า Great Pestilence เริ่มจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและประเทศจีนระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม กระจายไปทั่วเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ที่อิตาลีมีการระบาดในช่วงปี 1338-1351 ทำให้ประชากร 2 ใน 3 ของประเทศเสียชีวิต เรียกว่า Great Mortality และในปี 1400 เกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอน มีคนตายถึง 70% จากจำนวนประชากร 450,000 คน  เรียกว่า The Great Plague of London  ต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดใหญ่ในศตวรรษที่ 17 เรียกกันว่า Black Death มีคนตายประมาณ 25 ล้านคน คาดว่า การระบาดยาวนาน ทำให้เกิดหมอกาฬโรคหรือหมออีกาดำ (Plague Doctor) ที่คอยรักษาผู้ป่วยกาฬโรคโดยเฉพาะ นับเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญต่อยุโรปยุคกลาง พวกเขามักเป็นเเพทย์ที่จบใหม่หรือเเพทย์ที่ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพสักเท่าไหร่ อาชีพนี้มีลักษณะเป็นการว่าจ้างโดยชุมชนโดยค่าจ้างที่สูง ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เเละได้รับการเคารพ หากเเต่เสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก ประกอบกับหมอกาฬโรคมีวิธีรักษาที่ขัดกับการเเพทย์ในยุคนั้น แต่ถือว่า มีความถูกต้องในระดับหนึ่ง

พวกเขาเชื่อว่า กาฬโรคมีการติดต่อทางอากาศเเละการสัมผัส เเละเกิดจากการดูเเลสุขภิบาลในบ้านไม่ดี จึงเน้นให้รักษาบ้านให้สะอาด ซึ่งตรงกับทฤษฎีการป้องกันโรคระบาดของเเพทย์เเผนปัจจุบัน ในปีค.ศ. 1619 บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ชาร์ล เดอ โลเมนี คิดค้นชุดหมอกาฬโรคขึ้น โดยมีเสื้อคลุมยาวทำจากหนังหนาเคลือบด้วยขี้ผึ้ง มีหน้ากากที่มีจงอยเหมือนนก มีกระจกปิดตา ภายในจงอยใส่เครื่องหอมสมุนไพรต่างๆ เช่น กานพลู การบูร สะระเเหน่ ซึ่งเชื่อกันว่า กลิ่นหอมของสมุนไพรช่วยป้องกันเชื้อกาฬโรคในอากาศได้ เเละมีไม้เท้ายาวไว้ใช้เพื่อวินิจฉัยเเละสัมผัสตัวผู้ป่วย ต่อมากาฬโรคจึงค่อยหยุดระบาด มีการระบาดอีกเป็นครั้งคราวในอีกหลายปีหลังจากการระบาดใหญ่หมดไป เเละระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อศตวรรษที่ 19    

ประเทศไทยพบกาฬโรคครั้งแรกในปี 1904 ที่ฝั่งธนบุรี สันนิษฐานว่า มาจากหนูที่มีเชื้อโรคติดมากับสินค้าจากอินเดีย และมีการระบาดต่อไปเป็นระยะๆ ในหลายจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางตลาดใหญ่ จนถึงปี 1952 ก็ไม่มีกาฬโรคเกิดขึ้นอีกเลย

ความช่างสังเกต ช่างคิดค้น มีค่าสูงเท่ากับชีวิตคนหลายล้านคน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...