ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ
10 ม.ค. 2565

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทีเส็บ” เป็นหน่วยงานที่เน้นการจัดอีเวนต์ทางธุรกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านภูมิปัญญาและโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริการที่แข็งแกร่ง และวิธีการใหม่ๆ ในการร่วมสร้างกิจกรรมที่โดดเด่นสำหรับผู้จัดงานอีเวนต์ เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของประเทศไทยในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางทางธุรกิจชั้นนำของเอเชีย

แน่นอนว่า วิสัยทัศน์และทัศนคติที่กว้างขวางของผู้บริหาร คือสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก และ ดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ หรือ (พี่ปุ้ย)คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ทาง อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขกขอยกมาเป็นเคสที่น่าสนใจมาให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักกันในฉบับนี้

                จากประสบการณ์การทำงานและการศึกษาที่ต่างแดน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้มุมมองและการมองโลกมีความลึกซึ้งและกว้างขวาง ส่งผลไปถึงการทำงานที่มีความละเอียดอ่อน พร้อมมีแนวคิดที่ทันสมัยและทันโลก จนมีทักษะการเชื่อมตลาดเข้ากับอุตสาหกรรมไมซ์ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับ พี่ปุ้ยได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ “ไมซ์ชุมชน” ทำให้เกิดการผสานชุมชน ผ่านแนวคิดที่นอกกรอบและเปิดกว้าง กลายเป็นแนวทางในการพัฒนาไมซ์ชุมชน มีมิติที่หลากหลายมากขึ้น

พี่ปุ้ย เป็นคนที่อยู่และศึกษาอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯมาตั้งแต่เด็ก ตอนมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนที่โรงเรียนสาธิต ปทุมวันก่อนจะย้ายมาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไทเรียนด้านสายศิลป์-ฝรั่งเศส จบปริญญาตรีที่รั้วจุฬา ในสาขารัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก่อนที่จะได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ University of Warwickศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ โดยสาเหตุที่ไปเรียนที่อังกฤษ พี่ปุ้ยบอกว่า เพราะมีความสนใจและใช้เวลาเรียนแค่ปีเดียว ทำให้เสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก ก่อนที่จะได้ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยได้ทำงานไปพร้อมกันด้วย 

พี่ปุ้ยบอกว่า สิ่งที่ทำให้พี่ปุ้ยมีความสนใจในการเรียนด้านภาษานั้น มาจากที่มีความสนใจเรื่องรอบตัว เรื่องของมนุษย์ เรื่องของการพบปะผู้คน วัฒนธรรมต่างๆ และเรื่องการท่องเที่ยว มาตั้งแต่เด็กประกอบกับที่บ้านให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากพร้อมทั้งให้อิสระทางความคิดจึงทำให้พี่ปุ้ยได้มีโอกาสศึกษาอย่างที่ตั้งใจไว้ เป็นการเปิดโลกให้กับตัวเอง ได้เข้าใจโลกที่กว้างและลึกซึ้งมากขึ้น พร้อมกับสามารถเข้าถึงภาษาได้หลากหลายทั้งอังกฤษ ไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

“ด้วยโอกาสที่ได้สัมผัสวัฒนธรรมสังคมและระบบการศึกษาจากหลายประเทศ ทำให้พบว่า ระบบการศึกษา วิธีการเรียนนั้นมีความแตกต่าง และส่งผลต่อวิธีการคิดและการทำงานของ ตอนเรียนอยู่ที่ประเทศไทย อยู่ในฐานะเด็กเรียนดีมาโดยตลอด แต่ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษเป็นระบบที่ให้นักเรียนได้ถกเถียง ไม่ได้เน้นท่องจำ แต่เน้นไปที่การส่งเสริมให้ได้คิด ซึ่งต่างจากที่เคยเรียนมาที่ไม่เคยมีโอกาสให้คิดมาก่อน เขาสั่งอะไรมา เราก็ทำ เน้นไปที่การจดจำให้ได้มากที่สุด เมื่อไปอยู่ในระบบการศึกษาที่ต้องคิดอย่างอังกฤษ ทำให้รู้ว่าตัวเองมีปัญหาในระบบนั้น และไม่สามารถทำได้ดีแต่เมื่อผ่านมันมาได้ก็ทำให้ตัวเองเกิดทักษะใหม่ๆ มีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น กล้าที่จะออกความคิดเห็น และมีการเปลี่ยนแปลงในระบบความคิด”

                “พี่ตื่นเต้นและชอบที่จะเจอกับคนที่หลากหลาย หลายวัฒนธรรม จึงไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเวลาอยู่กับคนที่คิดไม่เหมือนกันเพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่คนจะคิดไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุเพราะวัยที่ต่างกันต่างวัฒนธรรม หรือต่างครอบครัว ก็อาจคิดไม่เหมือนกันได้เช่นกัน เป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าหากคิดเหมือนกันหมดเลย ก็จะไม่มีวิวัฒนาการ”พี่ปุ้ย กล่าว

เมื่อถามถึงงานที่เคยผ่านมี พี่ปุ้ย เผยว่า ที่ทำงานแรกคือบริษัทCP ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทั่วไป แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นตำแหน่งที่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ผู้บริหาร ทำให้ได้ศึกษาแนวคิด ลักษณะการทำงาน หลังจากนั้นก็ได้ทำงานบริษัทเครื่องสำอางอย่าง ชิเซโด้ดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้บริหาร ต่อมาก็ไปเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น ที่บริษัทก่อสร้าง ไทย โอบายาชิ ก่อนที่ในปี 2551 จะได้เข้ามาทำงานในฝ่ายบริหารรัฐกิจวิสาหกิจที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ในการรับผิดชอบการประสานงานภาครัฐ

จากการที่พี่ปุ้ย ได้มีโอกาสฝึกงานมาหลายอย่างมากมาย จึงได้ให้มุมมองของการทำงานไว้อย่างน่าสนใจว่าการจะหางานที่ตัวเองสนใจหรือไม่นั้นก่อนอื่นจะต้องได้ลองทำงานนั้นๆ ดูจริงๆ เสียก่อน เนื่องจากความสนใจในงาน อาจหมดลงได้ การได้ทำงาน แล้วพยายามผ่านจุดที่ลำบากที่สุดให้ได้ จะทำให้ทราบว่างานนั้นๆ เหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ ซึ่ง พีปุ้ยก็เคยผ่านประสบการณ์การทำงานมามากมาย ทั้งนักวิจัยที่ต้องทำหน้าที่เขียนบทความวิจัยค้นคว้า แล้วก็ค้นพบว่า ตัวเองไม่ได้ชอบงานวิจัย เพราะเป็นงานที่ต้องตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อเปิดหนังสือพิมพ์ เปิดคอมฯ อ่านหนังสือ เขียนบทความ หรือแม้กระทั่งนักข่าวตัวเองก็เคยเป็นมาแล้ว แต่ก็ไม่ชอบเช่นกัน ดังนั้นนอกจากค้นหางานที่ชอบ ยังต้องพยายามหาความหมายในสิ่งที่ทำด้วย โดยเหตุผลที่เลือกทำงานที่ทีเส็บนั้น พี่ปุ้ยได้อธิบายเอาไว้ว่า

“พี่ทำงานมาหลายอย่างมากพอ ประกอบกับพี่มีครอบครัว จึงต้องดูหลายๆ มิติให้มากขึ้นซึ่งค้นพบว่างานที่ทีเส็บตอบโจทย์ในความหมายชีวิต เพราะทีเส็บให้อำนาจหน้าที่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้รู้สึกมีกำลังใจที่จะทำงานต่อ เห็นผล”พี่ปุ้ยกล่าว พร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้า

พี่ปุ้ย บอกอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัวเองเลือกที่จะทำงานกับทีเส็บ เนื่องจากเป็นคนที่มีไลฟ์สไตล์ชอบในการเดินทาง  ชอบท่องเที่ยว ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ และที่สำคัญเป็นคนชอบเรียนรู้โดยธรรมชาติ ซึ่งทีเส็บเป็นองค์กรของการเรียนรู้ ทั้งด้านวิชาการ องค์ความรู้ในการจัดประชุม ธุรกิจไมซ์ต้องอัพเดทตลอด เรื่องการบริหารจัดการภายใน รวมไปถึงเรื่องบุคคล เรื่องทัศนคติ ที่ทีเส็บมีเรื่องนี้หมดเลย จึงมีความสุขมากที่ได้ทำงานที่นี่ และคิดว่าจะอยู่ทำงานนี้ต่อไปจนกว่าเกษียณ

เมื่อพูดถึงทีเส็บแล้ว ทาง อปท.นิวส์ จึงได้ถามถึงโครงการที่ประทับใจที่ได้ทำร่วมกับทีเส็บโดยพี่ปุ้ยได้กล่าวว่า ตัวเธอได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ ไมซ์ชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ร่วมมือกันระหว่างทีเส็บและกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งหลังจากที่ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการ ไมซ์ชุมชน จึงได้ปรับแนวคิดนิดหน่อย เนื่องจากในระยะแรก เรามองชุมชนเป็นพื้นที่จัดประชุม แต่หลังจากได้ทำงานมาทำให้พบว่า ไม่ใช่ทุกชุมชนสามารถรองรับกลุ่มประชุมได้ เช่น บางชุมชนห้องน้ำไม่พร้อม ไม่มีที่ หรือบางชุมชนอยู่ไกลมาก น่ยเลยเป็นเหตุผลที่ลูกค้าจะไม่ไป

ดังนั้นแนวคิดที่ได้เปลี่ยนคือ การนำชุมชนมาขายลูกค้าแทนได้หรือไม่โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนที่มีกิจกรรมหรือวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เช่น บางชุมชนเก่งทางเรื่องจักรสาน ทางทีเส็บก็จะนำผู้ที่ทำจักรสานเป็นมานำเสนอ หรือถ้าหากทางชุมชนไม่ได้มีกิจกรรมลักษณะแบบนี้ ก็จะเน้นให้ได้ขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ในชุมชนต่างๆ

นอกจากนี้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยการพัฒนาสินค้าให้เป็นของที่ระลึก โดยให้บริษัทเอกชนและให้ชุมชนเป็นผู้ผลิต เป้าหมายเพื่อให้สินค้าเข้าถึงสอดรับกับตลาดในวงกว้างมากขึ้น และจะทำให้ชุมชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไมซ์มากยิ่งขึ้น ผ่านการเข้าถึงลูกค้าที่กำลังจ่ายมากพอ พร้อมคำนึงถึงการเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ในราคาเบาๆ  เป็นการขยายตลาดนอกจากจะขายชุมชนเพียงอย่างเดียวโดยโครงนี้จะถูกเรียกว่า Product Mice Premium ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ทำและได้รับความสนใจจากเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ก็ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนให้มากขึ้นด้วยว่า การจัดงานไม่ใช่เพียงแค่อีเว้นท์ ถ้าออกแบบงานได้ดี จะมีประโยชน์ในการนำเสนอของดีของชุมชน สร้างรายได้ พัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ ได้อีกด้วยโดยหากชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งกับทางทีเส็บโดยมี อปท.นิวส์ เป็นสื่อกลางในการเชื่อมระหว่างท้องถิ่นและทีเส็บ ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับฐานราก ทั้งเรื่องของรายได้และการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

ดร.จุฑา ได้บอกกับ อปท.นิวส์ อีกว่า หลังจากได้เข้ามาทำงานแล้ว ทำให้ค้นพบว่า ตัวเองรักประเทศไทย และด้วยความรักประเทศไทย จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ประกอบกับตัวเองมีลูก ก็เลยอยากเห็นประเทศไทยที่ดีขึ้นสำหรับลูกพร้อมทั้งได้ทำงานในหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่และอำนาจพอสมควร ในการเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่อง “ถ้าเรารู้ว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ พี่ก็อยากทำให้สิ่งนั้นมให้เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากได้มาทำงานตรงนี้ ทำให้พบว่า ประเทศไทยยังมีมีข้อดีอยู่มากมาย เพียงแค่ไม่มีโอกาสในการนำเสนอ หรือเขาไม่รู้วิธีการนำเสนอสิ่งที่ดีในพื้นที่นั้นๆ สองสิ่งนี้ อุตสาหกรรมไมซ์สามารถช่วยนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้ได้

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...