เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์
เบิกจ่ายเป็นเท็จ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ปีใหม่เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน แต่สถานการณ์โควิทยังไม่ผ่านไปง่ายๆ ยังมีเจ้าโอมิครอนมาอีกตัว เขาบอกว่า ไม่รุนแรงเช่นเจ้าโควิทตัวเดิม แต่ก็อย่าวางใจนะครับ ต่างประเทศไม่ว่า อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ประเทศฝั่งยุโรป เริ่มมากขึ้นมาอีก บ้านเราเองแม้จะมีการฉีดวัคซีนกันครบสองเข็มหรือสามเข็มแล้ว แต่มันอาจดื้อยาก็ได้นะครับ ยังไงเสียก็ใส่แมส งดการสังสรรค์เฮฮาบ้าง เราเริ่มหย่อนยานในสองสามเดือนที่ผ่านมา อย่าให้เกิดคลัสเตอร์เหมือนปีที่แล้วอีกนะครับ
มาตอนนี้จะขอเล่าเรื่องท้องถิ่นบางแห่งมีการเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างทั้งที่ยังทำงานไม่แล้วเสร็จ ซึ่งก็ยังมีเรื่องเช่นนี้มาจนทุกวันนี้ครับ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปลายปี 2555 อบต.แห่งหนึ่งในจังหวัดภาคกลางมีโครงการก่อสร้างโรงสูบน้ำ วงเงินหกแสนบาทเศษ นายก อบต.แห่งนี้ให้ชื่อว่านายก อ.นะครับ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการตรวจรับงานที่มีนาย ม. ปลัด อบต.เป็นประธาน และมีข้าราชการสองคนและผู้แทนชุมชนอีกสองคนร่วมเป็นกรรมการ เหตุที่เกิดเรื่องร้องเรียนเพราะงานนี้กำหนดแล้วเสร็จช่วงเดือนธันวาคม 2555 คณะกรรมการตรวจรับไปตรวจรับงาน ปรากฏว่า กรรมการที่เป็นข้าราชการคนหนึ่งกับกรรมการชุมชนสองคนเห็นว่า งานยังไม่แล้วเสร็จ จึงไม่ได้ลงชื่อตรวจรับ ส่วนกรรมการที่เป็นข้าราชการอีกคนไม่ได้ไปด้วย คงมีแต่ปลัด ม.ที่ลงนามในฐานะประธานกรรมการตรวจรับคนเดียว โดยบันทึกรับรองว่า
“บัดนี้ผู้รับจ้างได้ส่งมอบของมีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน และคณะกรรมการตรวจรับได้รับของได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม จึงสมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างต่อไป” ผลการรับรองนี้ได้ใช้เป็นหลักฐานเบิกจ่ายเงินจาก อบต.ทั้งที่ปลัด ม.ก็รู้ว่า ผู้รับจ้างยังทำงานไม่เสร็จ ทำให้ อบต.แห่งนี้ไม่ได้ใช้งานโรงสูบน้ำได้อย่างเต็มที่ อย่างนี้ละครับท่านผู้อ่าน ที่คนลงนามตรวจรับจะถูกกล่าวหาว่า เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง
เรื่องนี้ข้อเท็จจริงผู้รับจ้างทำงานล่าช้าถึงร้อยสี่สิบกว่าวัน แต่จากการที่ปลัด ม.ไปลงนามตรวจรับทั้งที่งานไม่เสร็จนั้น ทำให้ผู้รับจ้างถูกปรับเพียง 11 วัน และเมื่อสัญญากำหนดค่าปรับวันละ 600 บาทเศษ นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาหรือวันที่ผู้ว่าจ้างขยายเวลาให้ถึงวันที่ทำงานเสร็จ ทำให้หักค่าปรับเพียงหกพันกว่าบาท ทั้งที่ผู้รับจ้างทำงานช้าถึง 142 วัน คิดค่าปรับเป็นเงิน 80,000 บาทเศษ แม้ว่าผู้รับจ้างจะได้แก้ไขงานถูกต้องตามแบบรูปรายการที่กำหนดในสัญญาและส่งมอบงานให้ อบต. ตรวจรับเรียบร้อยในภายหลัง ก็ไม่อาจทำให้สิ่งที่ผิดเป็นถูกได้นะครับ ไม่ต้องพูดถึงปลัด ม.ที่ลงนามตรวจรับคนเดียวแล้วเอาไปเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายค่าจ้าง ที่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ถูกเปิดเผยเพราะว่า กรรมการตรวจการจ้างที่เขาไม่ลงนามตรวจรับขณะที่งานยังไม่เสร็จสองคนให้การกับ ป.ป.ช.ว่า
ที่คนทั้งสองไม่ได้ลงชื่อตรวจรับ เพราะวันที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานครั้งแรกเมื่อปลายปี 2555 นั้น งานยังไม่เสร็จ และผู้รับจ้างไปทำงานเสร็จในเดือนเมษายน 2556 อย่างนี้ก็เรียบร้อยโรงเรียนปลัดสิครับ คนลงชื่อตรวจรับขณะงานยังไม่เสร็จ ก็คือ ปลัด ม.คนหนึ่งละครับที่มีความผิด คนอื่นที่เขาไม่ลงชื่อตรวจรับก็รอดไป ถ้าขืนลงชื่อด้วยก็ลงเหวด้วยกันละครับ ทีนี้นายก อ. แกเป็นคนลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างทั้งที่รู้ว่าผู้รับจ้างยังสร้างโรงสูบน้ำไม่เสร็จตามกำหนดในสัญญา เมื่อนายก อ.เป็นคนลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างย่อมรู้ดีว่า งานนี้มีคณะกรรมการตรวจรับห้าคน แต่มีปลัด ม.คนเดียวเท่านั้นที่ลงนามในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้าง โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุท้องถิ่นฯ พฤติการณ์เช่นนี้ละครับเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างงานก่อสร้างโรงสูบน้ำถูกปรับในการส่งมอบงานล่าช้าน้อยกว่าความเป็นจริงที่ควรจะต้องเสีย อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างชัดเจน
เขาถือว่าเป็นการทำให้ราชการเสียหาย เพราะถ้ามีการหักค่าปรับตามที่วันส่งมอบล่าช้าจริง อบต.ก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างมากกว่าที่ควรจะเป็นไปตามสัญญาจ้าง แล้วทีนี้ผู้รับจ้างเองก็ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วยนะครับ เพราะเมื่อเข้ามารับงาน ลงนามในฐานะเป็นผู้รับจ้างย่อมรู้อยู่ว่า งานกำหนดให้แล้วเสร็จเมื่อไร ถ้าไม่เสร็จจะถูกปรับวันละเท่าไร แต่เมื่อรับงานไปแล้วขณะยังไม่เสร็จ กลับไปทำใบส่งมอบงานตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2555 ให้คณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งปลัด ม.เป็นประธานไปตรวจรับเพียงคนเดียว โดยกรรมการตรวจรับคนอื่นไม่ลงนามให้แล้ว ยังออกใบเสร็จรับเงินให้ อบต.เป็นหลักฐานการรับเงินค่าจ้างทั้งที่งานยังทำไม่เสร็จ เพื่อนำไปประกอบการอนุมัติเบิกจ่ายให้ตน ผู้รับจ้างรายนี้จึงได้ประโยชน์ไม่ต้องจ่ายค่าปรับให้กับ อบต.ในจำนวนแปดหมื่นกว่าบาท
แล้วหัวหน้าส่วนคลัง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานการส่งมอบงานเพื่อทำเรื่องเสนอนายก อ.อนุมัติ แต่ก่อนนำเสนอตนจะต้องตรวจฎีกาเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณรายจ่าย ต้องลงเลขที่คลังรับ วันที่คลัง จำนวนเงินตามวงเงินที่จ้างโดยระบุจำนวนเงินที่หักจากค่าปรับไปแล้วหกพันกว่าบาท โดยหัวหน้าส่วนคลังไปบันทึกรับรองว่า ได้ตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาครบถ้วนถูกต้องแล้ว และเสนอความเห็นว่า “เห็นควรให้เบิกจ่ายเงินได้” ทั้งที่รู้ว่างานยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามแบบรูปรายการที่กำหนดในสัญญา ที่สำคัญมีปลัด ม.คนเดียวลงนามตรวจรับในใบตรวจรับพัสดุส่วนกรรมการคนอื่นๆ ไม่มีการลงชื่อตรวจรับเลย
หัวหน้าส่วนคลังเธอผิดชัดเจนตรงนี้เลยครับ เพราะความจริงแล้ว ถ้าคณะกรรมการตรวจการจ้างลงชื่อตรวจรับกันทุกคนหัวหน้าส่วนการคลังก็ต้องเบิกให้ตามที่ปรากฎหลักฐาน เช่นนี้อาจไม่ผิดเลยก็ได้ เพราะเธอดูแต่เฉพาะหลักฐานการเบิกจ่ายว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่อย่างไรก็เสนอนายก อ.อนุมัติเท่านั้น แต่เมื่อเห็นว่าหลักฐานการตรวจรับยังมีการลงนามไม่ครบก็ควรที่จะสอบถามข้อเท็จจริงเสียก่อนแต่หาได้กระทำ ดังนั้น ไม่ก็ย่อมมีส่วนในความผิดร่วมกับนายก อ.และปลัด ม. ก็โดนทั้งวินัยและอาญาไปด้วยกันครับ เรื่องเช่นนี้ยังมีซ้ำๆ อยู่อีกหลายแห่ง ผู้บริหารพึงระวังไว้ด้วย เพราะโซเซียลมันแรงนะครับ พบกันตอนต่อไปนะครับ