ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ป.พิพัฒน์ วรสิทธิ์ดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย
31 ม.ค. 2565

ในแวดวงท้องถิ่น มีองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิเช่นสมาคมองค์กรบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย,สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย แต่ถ้าพูดถึงองค์กรที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เป็นปึกแผ่น ช่วยเหลือกันและกัน จนมีบทบาทสูงยิ่งในเรื่องการยกระดับการบริหารงานบุคคล การเพื่อพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านวิชาการ การเรียกร้องสิทธิ เกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการของคนท้องถิ่นอย่างจริงจังแล้ว คงต้องยกนิ้วให้กับ “สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย”

                เพื่อให้เห็นถึงบทบาทการทำงานและก้าวย่างแต่ละก้าว ของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่น “อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก” จึงต้องเขียนถึงนายพิพัฒน์ วรสิทธิ์ดำรง ปลัดเทศบาลตำบลสารภี จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้ก่อตั้งและเป็นนายกสมาคม“สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย” คนปัจจุบัน

                นายพิพัฒน์ ซึ่งคนท้องถิ่นทั่วไปเรียกว่า “ ป.พิพัฒน์”เกิดที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2512 จบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนธรรมราชศึกษา วัดพระสิงห์วรมหาวิหารอ.เมือง จ.เชียงใหม่ จบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ.2539

เหตุจูงใจที่ทำให้ ป.พิพัฒน์ เลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ เนื่องจากว่า ในช่วงที่ ป.พิพัฒน์ยังบวชเป็นสามเณร ต้องไปซื้อหนังสือพิมพ์ให้เจ้าอาวาสอ่านทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า “ปลด พล.อ.อาทิตย์” ทำให้ ป.พิพัฒน์เกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. หลังจากนั้นมา ป.พิพัฒน์ ก็สนใจข่าวสารทางการเมืองมาตลอด และระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ป.พิพัฒน์ ได้ฉายแววผู้นำ โดยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และเป็นประธานสหกรณ์ร้านค้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2 สมัย) และเป็นประธานชมรมผู้แทนศาสนาของคณะรัฐศาสตร์

“เมื่อจบ ป.ตรี ผู้จัดการสหกรณ์ร้านค้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ได้มาชวนให้ไปทำงานด้วย ก็ไปทำงานกับเขาอยู่ 6-7 เดือน เมื่อกระทรวงมหาดไทยเปิดสอบแข่งขันเข้ารับราชการ ก็ไปสอบและสอบได้ในอันดับที่ 11 ของบัญชีสอบทั้งหมด และเป็นอันดับที่ 1 ของคนที่เลือกลงจังหวัดเชียงใหม่ จึงเลือกบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่นที่ อบต.หนองแฝก อ.สารภี จ.เชียงใหม่หลังจากนั้นก็โยกย้ายไปไปทำงานในหลายที่ รวม 9 แห่ง กระทั้งได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ อ.สารภี ในตำแหน่งปลัดเทศบาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561”

ป.พิพัฒน์ เล่าถึงการเข้าไปมีบทบาทเป็นปากเสียงให้กับคนท้องถิ่น ก่อนจะมีการจัดตั้งสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่น ว่า ครั้งแรกได้เข้าไปช่วยงานในสมาคมพนักงานส่วนตำบล ซึ่งมีปลัด อบต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  เป็นนายกสมาคม (ปัจจุบัน อบต.สุเทพ ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลสุเทพไปแล้ว เมื่อปี 2551) โดยขณะนั้นตนเองเป็นรองปลัด อบต. สุเทพ โดยเข้าไปช่วยงานด้านเอกสาร ระเบียบและข้อบังคับ ต่างๆ

กระทั้งถึงปี พ.ศ.2552ขณะที่ ป.พิพัฒน์เป็นปลัด อบต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ก็เกิดกรณีพนักงานส่วนตำบลและพนักงานเทศบาลจำนวนมากถูกปลดโดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือดูแล เมื่อพนักงานคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่รู้จะไปพึ่งใคร จึงได้ไปร้องขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ “กลุ่มเพื่อนพนักงานส่วนตำบล” (Thailocalgov.com)ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น “กลุ่มเพื่อข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ซึ่งเป็นเว็ปส่วนกลางที่คอยติดต่อประสานงานระหว่างพนักงาน อบต.ทั่วประเทศโดยมี ป.พิพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นแอดมิน

เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่เดือดร้อน ในช่วงนั้น ป.พิพัฒน์และเพื่อนๆ ปลัด อบต. รวมทั้ง ดร.สรชาติ วิชย สุพรรณพรหม นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (ขณะนั้น)มีความเห็นร่วมกันว่า สมควรจัดตั้งองค์กรขึ้นมาช่วยดูแลช่วยเหลือและประสานงานให้คนท้องถิ่น โดยใช้ชื่อว่า “สมาพันธ์ข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่นไทย”ซึ่งมี นส.มณฑา เจริญสุขสุวรรณ เป็นประธานสมาพันธ์ และ ป.พิพัฒน์ เป็นเลขาธิการ

อีกทั้ง ในช่วงเวลานั้น สตง. และ ป.ป.ช. เริ่มเข้าไปเข้มงวดกับการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ข้าราชการท้องถิ่นเองก็กลัวว่าตัวเองจะทำผิดกฎระเบียบ และต้องเผชิญหน้ากับผู้บริหารท้องถิ่นที่ใช้อำนาจสั่งการอย่างไม่ถูกต้องทำให้มีมีข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นจำนวนมากมาขอสมัตรเป็นสมาชิกกว่า 1 พันคน ภายใน 1 ปีแรกจากนั้นจึงได้ยกฐานะสมาพันธ์ขึ้นมาเป็น“สมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างท้องถิ่น” ในปี พ.ศ. 2553 โดยมีคณะกรรมการ 30 คน ส่วน ป.พิพัฒน์ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้เปลี่ยนชื่อสมาคมใหม่อีกครั้งเป็น “สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย” จนถึงปัจจุบัน

หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสมาคมฯ เกิดกิจกรรมต่างๆ ตามมามากมาย เริ่มจากการนำสมาชิกเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ....... เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานและมีปัญหามากโดยสมาคมฯได้รวบรวมรายชื่อข้าราชการท้องถิ่น เสนอต่อประธานรัฐสภาในขณะนั้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหากระบวนการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเป็นรูปธรรม

“จากนั้นสมาคมฯก็ได้เรียกร้องเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลของคนท้องถิ่นเพื่อขอให้ภาครัฐตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนท้องถิ่น แบบจ่ายตรง เช่นเดียวกับข้าราชการส่วนอื่นๆ คนท้องถิ่นไม่ต้องออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยขอเบิกเงินคืนในภายหลัง เนื่องจากช่วงนั้นมีปลัด อบต.อย่างน้อย 2 ท่าน และมีข้าราชการที่พ่อแม่เจ็บป่วยเป็นมะเร็ง ไตวาย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาล  เขาเดือดร้อนกันมาก เพราะไม่มีเงินทดรองจ่ายให้สถานพยาบาล”

ป.พิพัฒน์ เล่าต่อว่า ข้อเรียกร้องในเรื่องนี้กว่าจะสำเร็จได้สมาคมและข้าราชส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งต้องรวมตัวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมีศ. ดร.โกวิทย์ พวงงามอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปัจจุบัน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคท้องถิ่นไทย) เป็นคนเปิดห้องประชุมให้ จากนั้นก็ได้เดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐในตรี เป็นคนรับเรื่อง แต่การจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนท้องถิ่นก็ยังไม่สำเร็จ

จนมาถึงยุคที่ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตร สมาคมฯ และเพื่อนข้าราชการส่วนท้องถิ่น ก็ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ ผ่านไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพรรคการเมืองต่างรวมทั้งยื่นหนังสือไปทางนายกฯโดยตรงด้วย ซึ่งนายกยิ่งลักษณ์ ได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ กระทั้งสามารถจัดตั้งกองทุนจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ.2556 โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

ต่อมาในปี 2557 มีพนักงานจ้างของท้องถิ่น ประสบปัญหาจากระเบียบเงื่อนไข เรื่องค่าจ้างของท้องถิ่นตามเกณฑ์งบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับจากรัฐบาล ลูกจ้างจำนวนมากถูกปลดถูกเลิกจ้าง สมาคมฯ ได้พยายามเรียกร้องขอความช่วยเหลือไปยังกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล ให้คำนึงถึงความเดือดร้อนในส่วนนี้ สามารถช่วยพนักงานจ้างไว้ได้จำนวนหนึ่งแต่อีกส่วนหนึ่งต้องถูกเลิกจ้าง จากปัญหาภายในองค์กรของตนเองด้วย

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2561 เกิดกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่สอบบรรจุแล้วจากบัญชีการสอบของ อบต. 8 แห่ง ใน จ.แม่ฮ่องสอน รวมประมาณ 200 คน ถูก ก.กลาง เพิกถอนบัญชีที่สอบได้สมาคมฯ ก็เข้าไปช่วยเหลือกระทั้งกฤษฎีกาได้วินิจฉัย ว่าก.กลาง ม่สามารถยกเลิกบัญชีสอบ เพราะไม่ได้เป็นเหตุทุจริต เนื่องจากการจะยกเลิกบัญชีทั้งบัญชีได้นั้นจะต้องเป็นเหตุทุจริตเท่านั้นทำให้พนักงานไม่ต้องออกจากราชการ และผู้ที่สอบเลื่อนชั้นได้ ก็ไม่ต้องกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม ทำให้ข้าราชการท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ ที่มีกรณีเช่นเดียวกันกับ จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 500 คน ได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย

“ในส่วนของการจัดอบรมและสัมมนาทางวิชาการ สมาคมฯทำมาโดยตลอด ซึ่งนอกจากข้าราชการท้องถิ่น จะได้รับการยกระดับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบทางราชการ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังได้เติมเต็มทางด้านวิสัยทัศน์จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มาจากภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งการจัดอบรมสัมมนาเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้สมาคมฯ มีรายได้มาจัดทำกิจกรรม เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัว”

ล่าสุดสมาคมได้สร้างอาคาร “สโมสรคนท้องถิ่น” เพื่อเป็นที่ทำการใหญ่ของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยณ หมู่ที่ 4 ต.หนองแฝก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ด้วยงบประมาณซึ่งมาจากเงินรายได้ของสมาคมฯ ที่สะสมไว้ 10 ปี รวมกับเงินทอดผ้าป่าสามัคคี 2 ครั้งและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา รวม 20 ล้านบาท โดยฯพณฯนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 24 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนตั้งแต่เป็นสมาพันธ์จนขยับขึ้นเป็นเป็นสมาคมฯบ่อยครั้งที่ข้อเรียกร้อง จะไปกดดัน ฝ่ายบริหารท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทย บางกรณีเกิดปัญหาขัดแย้ง สร้างความไม่พอใจจากผู้มีอำนาจเหล่านั้น ได้สร้างปัญหาและแรงกดดันให้กับป.พิพัฒน์ไม่น้อย

“ตัวผมเองไม่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับใครแต่การทำงานบางครั้งอาจจะก้าวล่วงหรือไปเกระทบกับบารมีและอำนาจของคนบางคนที่ไม่พอใจการทำงานของผม ทำให้ผมถูกร้องเรียน ถูกฟ้องร้อง หลายกรณี ทั้งเรื่องระเบียบวินัย และเรื่องหมิ่นประมาท บางครั้งถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่ก็ไม่พบความผิด บางกรณีก็ร้องไป ร้องมา ยังไม่จบ ตอนนี้มี 4 – 5 คดี เรื่องอยู่ในศาลแต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ผมได้รับเลือกให้เป็นประธานสหกรณ์”

ป.พิพัฒน์ เล่าว่าที่ผ่านมานั้น อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะได้รับเลือกใก้เป็นประธานสหกรณ์มาโดยตลอด แต่ระยะหลังมีปัญหาเรื่องการปล่อยกู้เงินสหกรณ์ ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ค้ำประกัน สมาชิกเดือดร้อนกันมาก พรรคพวก จึงได้ส่ง นายอำพล ยุติโกมินทร์ เข้าไปแข่งขันในตำแหน่งประธานกรรมการจนได้ชัยชนะอย่างเหนือความคาดหมาย ผ่านมา 1 ปี นายอำพลขอลาออก เพราะทนแรงเสียดทานไม่ไหว ทีมงานจึงหนุนให้ ป.พิพัฒน์ ลงสมัครแทน

“จริงๆแล้วผมไม่อยากเป็นเลย เพราะมันเหนื่อย มีเรื่องเงินทองและกฏหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทุกคนบอกว่าต้องให้ผมเข้าไปแก้ปัญหาผมจึงยอมสมัครเข้าไปเมื่อเข้าไปแล้ว ผมได้ยกเลิกมติของคณะกรรมการชุดที่ 4 เรื่องของการโอนหนี้ไปให้ผู้ค้ำรับผิดชอบ และแก้ไขระเบียบต่างๆที่ยังไม่ครอบคลุมข้อบังคับ ตอนที่ผมเข้าไปใหม่ๆ เงินล้นระบบ พันกว่าล้าน ไม่มีใครขอกู้ ไม่มีใครกล้าค้ำ แต่ปีที่แล้วหลังจากแก้ไขหลักเกณฑ์การกู้เงิน สมาชิกแห่มาขอกู้ จนเงินมีไม่พอให้กู้ตอนนี้ก็พยายามจะหาแหล่งกู้อื่นมาจัดสรรให้กับสมาชิก ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็พยายามปรับทัศนคติปรับมุมมองใหม่ เพื่อให้สมาชิกประทับใจในบริการ สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่คงก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรที่จะให้สหกรณ์มั่นคงและแข็งแรงมากกว่านี้” ป.พิพัฒน์ กล่าวในที่สุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...