#CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด
ส่องความรับผิดชอบผ่านทางม้าลาย
ทางม้าลาย กลายเป็นสัญลักษณ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับประชาชนทุกคน และสังคมให้ความสนใจอย่างมากในช่วงนี้ จากเหตุการณ์สะเทือนใจคนไทยเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำถูกกฎหมาย ต้องมาเสียชีวิตจากบุคลากรที่ไม่เคารพกฎหมายขณะข้ามทางม้าลาย เป็นที่น่าเสียดายและน่าเสียใจอย่างยิ่ง
ทางม้าลายคนข้าม ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1934 ในอดีตมีการทดลองใช้สีของทางม้าลายมาหลายสี ไม่ว่าจะเป็น เหลือง-น้ำเงิน ขาว-แดง ขาว-ดำ ทางม้าลายสีเหลือง-น้ำเงิน ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการตามท้องถนนของประเทศอังกฤษราว 1,000 จุด ในปี 1949 เพื่อบ่งบอกว่า บริเวณดังกล่าวเป็นทางที่อนุญาตให้คนสามารถข้ามถนนได้ ต่อมาในปี 1951 มีข้อสรุปออกมาอย่างเป็นทางการว่า ควรใช้สีขาว-ดำเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นสากล ทางม้าลายจะอยู่คู่กับเสาไฟสัญญาณ Belisha beacon ซึ่งเป็นแนวคิดของ Leslie Hore-Belisha รัฐมนตรีคมนาคมหญิงของประเทศอังกฤษ ในขณะนั้น
ภาพ The Beatles ข้ามทางม้าลายที่ปรากฏบนหน้าปกอัลบั้ม Abbey Road ในปี 1969 กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว สะท้อนวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และการสื่อสารรณรงค์ผ่านศิลปินที่มีอิทธิพลต่อคนหมู่มากทั่วโลก ประเทศอังกฤษได้นำวัฒนธรรมอังกฤษไปใช้ในอาณานิคมของตนเอง ทำให้ทางม้าลายถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายกลายเป็นสัญลักษณ์แบบสากลมาจนถึงปัจจุบัน
จากเหตุเศร้าสลดที่เกิดขึ้นกับคุณหมอกระต่าย ทำให้มีการขยับเขยื้อนในกลุ่มผู้รับผิดชอบที่ออกมาแจ้งต่อสังคมถึงแนวทางป้องกัน การใช้กฎหมาย การพัฒนาระบบจราจร กันอย่างคึกคักหลายหน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติร่วมกับหน่วยงานรัฐ ออกสำรวจทางม้าลาย เตรียมปรับปรุงทั่วประเทศ พบในกรุงเทพมหานคร มี 115 จุดอันตราย เตรียมติดตั้งสัญญาณไฟ ทาสีพื้น พร้อมแคมเปญให้ประชาชนมีส่วนร่วมเฝ้าระวังโดยส่งคลิปผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ แสดงความเห็นว่า การใช้ทางม้าลายมีหลักสากลอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา คนไทยมีวัฒนธรรมการใช้ทางม้าลายต่างกับในต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศถือว่า คนเดินเท้าเป็นผู้เปราะบางต้องได้รับสิทธิ์ก่อน และปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุตรงทางม้าลาย นอกจากวินัยในการขับขี่แล้ว ยังรวมถึงมาตรฐานการก่อสร้างด้วย
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ให้ข้อมูลว่า มีผู้ถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามถนนทั้งทางม้าลายและไม่ใช่ทางม้าลาย เฉลี่ยปีละ 300-400 คน และหลักหมื่นคนบาดเจ็บรุนแรงจนพิการ ในพื้นที่ กทม.เกิดเหตุมากที่สุด ในส่วนของภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตและเครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอทางม้าลายที่ปลอดภัย” และเรียกร้องผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ผลักดันเป็นนโยบายที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรม
นอกจากพฤติกรรมของคนที่ประมาท ขาดวินัย และทำผิดกฎหมายแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้เดินถนน โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบถนนและระบบจราจร และนโยบายจัดสรรงบประมาณของรัฐและท้องถิ่น Dangerous by Design 2021 เป็นรายงานฉบับล่าสุดของ Smart Growth America (SGA) และ National Complete Streets Coalition รวบรวมวิเคราะห์สถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสของคนเดินถนนในสหรัฐอเมริกา และแนวทางป้องกัน แม้ว่ารายงานจะอัปเดตทุกปีแต่การค้นพบยังคงเหมือนเดิม นั่นคือจำนวนผู้เสียชีวิตของคนเดินถนนยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (2010-2019) เพิ่มขึ้นถึง 45% โดยในปี 2019 มีผู้เสียชีวิต 6,237 คน เทียบเท่ากับการเสียชีวิตมากกว่า 17 คนต่อวัน สาเหตุหนึ่งคือ หน่วยงานขนส่งของรัฐและท้องถิ่นให้ความสำคัญกับความเร็ว หรือการหลีกเลี่ยงความล่าช้าของการเดินทาง สูงกว่าเรื่องความปลอดภัยของคนเดินถนน หลายท้องที่มุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมาย รณรงค์ให้การศึกษาอย่างไร้ประสิทธิภาพ หรือกล่าวโทษผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุ ขณะที่เพิกเฉยหรือเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมไปจากบทบาทของการออกแบบถนนที่เป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิต นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังสนับสนุนให้ประชาชน เรียกร้องถนนที่ปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งของเขา หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยคือ Vision Zero
Vision Zero เป็นกลยุทธ์เพื่อขจัดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บสาหัสของผู้ใช้รถใช้ถนน เพิ่มความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย สุขภาพที่ดี และความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน เริ่มใช้ครั้งแรกในประเทศสวีเดนในปี 1990 ประสบความสำเร็จสามารถลดปัญหาลงได้ครึ่งหนึ่งขณะที่มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากนั้นมีแรงผลักดัน Vision Zero ไปสู่ชุมชนทั่วโลก Vision Zero ประกาศตัวว่า ไม่ใช่สโลแกนหรือโปรแกรม แต่เป็นวิธีการในการเข้าถึงความปลอดภัยในการจราจรที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
แนวทางดั้งเดิม |
Vision Zero |
การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรหลีกเลี่ยงไม่ได้ |
วางแผนป้องกันได้ |
ผู้คนต้องมีวินัยไม่ควรทำผิดพลาด |
ผู้คนอาจทำผิดพลาดได้ แต่ออกแบบเผื่อความผิดพลาดไว้ในระบบ |
ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ |
ป้องกันการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุ |
เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล |
สร้างระบบให้มีสำนึกรับผิดชอบ |
การสร้างความปลอดภัยในชีวิตมีราคาแพง |
การสร้างความปลอดภัยในชีวิตราคาไม่แพง |
Vision Zero เริ่มต้นด้วยความเชื่อทางจริยธรรมว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเดินทางไปไหนมาไหนอย่างปลอดภัยในชุมชนของตน ผู้ออกแบบระบบและผู้กำหนดนโยบาย มีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน Vision Zero ตระหนักดีว่า บางครั้งผู้คนอาจทำผิดพลาดได้ ดังนั้น ควรกำหนดนโยบายและออกแบบถนนให้รองรับความผิดพลาดนั้น ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต Vision Zero เป็นแนวทางสหสาขาวิชาชีพที่รวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความจำเป็นหลากหลาย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อนที่ยังไม่มีบรรทัดฐานมาก่อน และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในแต่ละพื้นที่ Vision Zero ไม่เชื่อความคิดเดิมที่ว่า อุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่เชื่อว่า สามารถป้องกันได้โดยใช้แนวทางป้องกันเชิงรุกที่ จัดลำดับความสำคัญด้านความปลอดภัยของการจราจรเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข
Safety isn’t expensive, it’s priceless.