ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
จีน-รัสเซีย พิสูจน์มิตรแท้
17 มี.ค. 2565

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

จีน-รัสเซีย พิสูจน์มิตรแท้

 

เนื่องจาก อปท.นิวส์เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ และคอลัมน์ “โลกของจีน” ต้องปิดต้นฉบับล่วงหน้าหลายวัน  ดังนั้น กว่าฉบับนี้จะวางตลาดในช่วง 16-31 มีนาคม 2565 สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน อาจจะยุติการสู้รบแล้ว หรืออาจจะรุกลามบานปลายไปมากกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากจะเชื่อมโยงให้เห็นจุดยืนและบทบาทของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ แต่ในฐานะมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลก ในฐานะมิตรสนิทของรัสเซีย และในฐานะชาติที่อาจจะเข้ามาทำหน้าที่ยุติความขัดแย้งในที่สุด

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ค "Chinese Embassy Bangkok" เกี่ยวกับท่าทีประเทศจีนที่มีต่อสถานการณ์ในยูเครน โดยระบุว่า นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ชี้แจงจุดยืนของจีนต่อประเด็นยูเครนดังต่อไปนี้

ข้อ 1 จีนสนับสนุนการเคารพและปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ และปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติอย่างจริงจัง จุดยืนนี้มีความสม่ำเสมอและชัดเจน และสามารถใช้ได้กับประเด็นยูเครน

ข้อ 2 จีนสนับสนุนแนวคิดด้านความมั่นคงที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกัน ครอบคลุมทุกมิติ ให้ความร่วมมือและยั่งยืน โดยมีความเชื่อว่า ความมั่นคงของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่สามารถไปแลกกับการทำลายความมั่นคงของอีกประเทศ และความมั่นคงระดับภูมิภาคไม่สามารถสร้างบนหลักประกันที่เน้นการเสริมสร้างกำลังทหารหรือขยายกลุ่มทหาร ควรละทิ้งแนวความคิดของสงครามเย็นโดยสิ้นเชิง

ข้อกังวลด้านความปลอดภัยมั่นคงที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐควรได้รับการเคารพ ภายใต้สถานการณ์ที่ NATO ขยายแนวออกไปทางทิศตะวันออกเป็นเวลาห้ารอบติดต่อกัน ข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัสเซียควรได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังและเหมาะสม

ข้อ 3 จีนให้ความสนใจและติดตามการพัฒนาการของปัญหายูเครน สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสิ่งที่จีนไม่อยากเห็น สิ่งที่มีความจำเป็นมากที่สุดในขณะนี้คือ ทุกฝ่ายต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ในยูเครนเลวร้ายลงหรือจนควบคุมไม่ได้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนควรได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการป้องกันวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในวงกว้าง

ข้อ 4 จีนสนับสนุนความพยายามทางการทูตทั้งหมดที่เอื้อต่อการยุติวิกฤติในยูเครนอย่างสันติ จีนยินดีที่เห็นรัสเซียและยูเครนพูดคุยและการเจรจาโดยตรงระหว่างกันเร็วที่สุด การพัฒนาการของปัญหายูเครนมีความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ ยูเครนควรเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ไม่ใช่แนวหน้าของการเผชิญหน้าของมหาอำนาจ 

จีนสนับสนุนให้สหภาพยุโรปและรัสเซียดำเนินการเจรจาอย่างเท่าเทียมในประเด็นความมั่นคงของยุโรป ยึดมั่นในแนวคิดเรื่องความมั่นคงที่แบ่งแยกเป็นชิ้นส่วนไม่ได้ และท้ายที่สุดก็ควรสร้างกลไกความมั่นคงของยุโรปที่สมดุล มีประสิทธิภาพและยั่งยืน 

ข้อ 5 ฝ่ายจีนเห็นว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหายูเครนและควรมุ่งเน้นไปที่สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และความมั่นคงทั่วไปของทุกประเทศ การดำเนินการของคณะมนตรีความมั่นคง ควรบรรเทาความตึงเครียดมากกว่าการเติมเชื้อเพลิง และควรอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาทางการทูตมากกว่าการเพิ่มระดับความตึงเครียดต่อไป ด้วยเหตุนี้ จีนแต่ไหนแต่ไรมาไม่เห็นด้วยกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงที่มักใช้บทที่ 7 ซึ่งอนุญาตให้ใช้กำลังและการคว่ำบาตร

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีการลงมติประณามรัสเซีย กรณีรุกรานยูเครน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียยุติการสู้รบและถอนทหารออกจากยูเครน

ผลการลงมติมีประเทศสมาชิก 141 ชาติ (รวมทั้งไทย) ที่เห็นชอบ มีเพียง 5 ชาติที่คัดค้าน (รัสเซีย เบลารุส เอริเทีย เกาหลีเหนือ และ ซีเรีย) ส่วนอีก 35 ชาติ งดออกเสียง อาทิ จีน อินเดีย คิวบา ปากีสถาน อิหร่าน อิรัก ลาว เวียดนาม แอฟริกาใต้ ฯลฯ

จีนได้แสดงจุดยืนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สหรัฐอเมริกามีส่วนรับผิดชอบ เพราะฝ่าฝืนข้อตกลงในอดีต NATO ขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออก กดดันรัสเซีย ยั่วยุปั่นกระแสสงครามโดยสนับสนุนชักไยยูเครนจะดึงเข้าNATO หวังให้เป็นหอกข้างแคร่รัสเซีย 

เมื่อรัสเซียไปรับรองสองรัฐในยูเครนที่ประกาศตัวเป็นอิสระ แทนที่จะเรียกร้องให้หยุดเจรจา สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกลับสนับสนุนให้เกิดสงคราม ส่งอาวุธไปช่วยยูเครน ปล่อยให้อาสาสมัครพลเรือนเข้าไปช่วยยูเครนสู้รบ

เมื่อสหรัฐฯ ออกหน้านำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติรวมหัวเล่นงานรัสเซีย จีนคือชาติที่ยืนหนึ่งในการคัดค้านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพราะเห็นว่า ไม่ได้ผล สหรัฐฯ ได้หาทางคว่ำบาตรรัสเซียมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน มีแต่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน หนทางแก้ปัญหาคือนั่งโต๊ะเจรจา 

จีนในฐานะเพื่อนบ้านของรัสเซียที่มีพรมแดนติดกันยาวกว่า 4,200 กิโลเมตร และในฐานะมหามิตรที่ต้องจับมือกันสู้กับสหรัฐฯ และแก๊งชาติพันธมิตร นอกจากจะไม่คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียแล้ว ยังเป็นทางออกและทางรอดทั้งเรื่องการส่งออกพลังงาน และการโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบการเงินโลก (SWIFT)

กลุ่มชาติตะวันตกกะน็อคเศรษฐกิจรัสเซียด้วยการระงับโครงการ “นอร์ดสตรีม 2” ท่อส่งก๊าซธรรมชาติความยาว 1,200 กิโลเมตร จากรัสเซียลอดใต้ทะเลบอลติก ไปขึ้นฝั่งที่ประเทศเยอรมนี โดยลงทุนไปแล้ว 3.6 แสนล้านบาท

แต่จีนกับรัสเซียมีความร่วมมือโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแคว้นไซบีเรียของรัสเซียไปยังชายแดนด้านเหนือของจีน มูลค่า 4 แสนล้านบาท ที่จะส่งมอบก๊าซให้กับจีนยาวนาน 30 ปี

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ทอดยาวอยู่ในรัสเซีย 3,000 กิโลเมตร และในจีน 5,111 กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปลายปี 2019 ทำหน้าที่ส่งมอบก๊าซธรรมชาติเข้าสู่จีนผ่านนครเฮยเหอ ซึ่งเป็นเมืองพรมแดนระหว่างสองประเทศ และตัดผ่าน 9 ภูมิภาคระดับมณฑลของจีน ทั้งยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในจีนด้วย

รัสเซียไม่ได้ถูกปิดประตูตายทางฝั่งยุโรป เพราะรู้ว่า มีมิตรแท้อย่างจีนคอยช่วยเหลือ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...