“จังหวัดภูเก็ต” เป็นจังหวัดสำคัญของประเทศไทยที่มีความเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยว เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ จนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับ 2 และเป็นจังหวัดที่ส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และการท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างรุนแรง ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ย่อมต้องการผู้มีความสามารถเข้ามาบริหารจัดการให้เดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการป้องกันการระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถดถอยลง
นั่นเองกระมังที่“ณรงค์ วุ่นซิ้ว”จึงได้รับการแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 โดยโยกมาจากเก้าอี้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอแต่งตั้งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งต้องยอมรับว่า พ่อเมืองภูเก็ตคนใหม่ที่ต้องเข้ามาเผชิญกับปัญหาดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าสามารถแก้ไข บริหารจัดการและขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตให้ผ่านพ้นวิกฤติมาได้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้
ผู้ว่าฯ ณรงค์ ผู้ในวัย 59 ปี เกิดเมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2506เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดพัทลุง เคยเรียนโรงเรียนวัดแถวบ้านจนจบ ประถมศึกษาปีที่ 7 และไปต่อมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จนสำเร็จการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนที่จะได้ไปเรียนต่อที่ช่างสำรวจ ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ ต่อมาก็ได้ไปเรียนปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากนั้นก็ไปเรียนโทที่M.A.Political Science Delhi University (India) พอกับมาประเทศไทยกลับมาเรียนโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะกลับมาเรียนปริญญาตรีอีกครั้งด้านรัฐศาสตรบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
หลังจากเรียนจบมาก็ได้เริ่มไปทำงานที่สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมอยู่ 1 ปี ก่อนที่จะได้สอบใหม่แล้วไปรับราชการครั้งแรกที่กระทรวงมหาดไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาไปทำงานที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นช่วงเวลาหนึ่งในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ นโยบายและแผน และตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.
จากโอกาสที่ได้ลงพื้นที่ไปทำงานทำให้มีประสบการณ์และได้เห็นถึงปัญหาจากผู้รู้ว่าปัญหาที่ภาคใต้นั้นมีอยู่ 3 ชั้น ได้แก่ ปัญหาชั้นผิวหน้า เช่น ปัญหาก่อความไม่สงบในพื้นที่ ปัญหาชั้นโครงสร้าง คือปัญหาระบบปัญหาจัดการ การแก้ปัญหาของราชการและปัญหาชั้นวัฒนธรรม ซึ่งชั้นวัฒนธรรมเป็นปัญหาที่ลึกที่สุด
หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดกระบี่ 2 ปี ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ 1 ปี ก่อนย้ายมาเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอีก 2 ปี และได้กลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิอยู่เกือบ 3 ปี จนปี 2563 จึงได้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน
“ช่วงเวลาที่ได้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ภูเก็ต ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง ทำให้จังหวัดภูเก็ตที่เป็นเมืองท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากกว่าจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากคนในพื้นที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลักแต่ผลจากการแพร่ระบาดทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทำให้มีมาตรการระงับการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้การท่องเที่ยวอยู่ในขั้นพิการ พร้อมกับรายได้ของประชาชนที่หายไปเพียงข้ามวัน”พ่อเมืองภูเก็ต กล่าว
ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ต้องเร่งดำเนินมาตรการสำคัญ 2 เรื่องไปพร้อมๆ กันอย่างแรกคือ ปากท้องของพี่น้องประชาชนเนื่องจากภูเก็ตเป็นจังหวัดได้รับความลำบากมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง รายได้ของคนในจังหวัด ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งปีๆ หนึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน แต่จากการระบาดของโควิด ทำให้นักท่องเที่ยวหดหาย รายได้ของผู้ประกอบการในจังหวัดก็หายไปหมด โรงแรมหลายที่ต้องปิดกิจการ คนบางส่วนย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีวางเป้าหมายที่จะทำอย่างไรให้คนภูเก็ตกลับมาสดใสและแข็งแรงอย่างยั่งยืน
ซึ่งก็จะโยงไปสู่เรื่องที่ 2 คือการควบคุมโรคโดยเริ่มตั้งแต่การควบคุมโรคภายในจังหวัดให้อยู่หมัด ลดการกระจายของโรค รวมไปถึงควบคุมโรคที่มาจากนอกจังหวัด ทั้งมาตรการฉีดวัคซีนหรือตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าจังหวัด ต่อมาคือการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานโควิด-19 เพื่อให้บ้านปลอดภัยพร้อมรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งทำให้รายได้ของประชาชนกลับมา
“ปัญหาที่เกิดขึ้น เปรียบได้กับบ้านที่มีเสาเดียว กล่าวคือ มีการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้เกิดภาวะทรุด พัง บ้านก็พังเลย ดังนั้นจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนอยู่ในบ้านได้อย่างอยู่ดีมีสุข”ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวอย่างหนักแน่น
โดยแนวทางที่จะพาให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้นั้น เนื่องจากประชาชนบางคนยังมีภาระหนี้สินที่ต้องชำระทุกเดือน ดังนั้นต้องหาช่องทางให้ประชาชนสามารถไปค้าขายต่อได้ เช่น ชาวประมงที่ยังมีสินค้าแต่ไม่มีที่ขาย ก็ต้องหาจุดขายให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปรวมไปถึงการสร้างงานเร่งด่วนหรือถุงยังชีพ เพื่อให้ประชาชนยังพยุงชีพได้ในช่วงการแพร่ระบาด นั่นคือมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว มีความจำเป็นต้องสร้างเสาหลักในทางเศรษฐกิจเพิ่ม เพื่อค้ำยันบ้านให้แข็งแรงมากขึ้น โดยเน้นให้ประชาชนสามาถดูแลตัวเองได้และไม่ได้รับผลกระทบจากสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมากเกินไป อาทิ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักกินเอง หรือ ช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ ก็จะเน้นนำเข้าผลิตภัณฑ์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งหากผลิตเองได้ให้สามารถขายพื้นที่ของตนเองได้ เป็นต้น
พ่อเมืองภูเก็ต กล่าวว่า รัฐบาลและเอกชนในจังหวัดภูเก็ตได้หาหนทางเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยต่างประเทศ เกิดเป็น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่มีเป้าประสงค์ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ พร้อมกับการควบคุมโรคระบาดให้ได้ เพื่อช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการให้สามารถกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตต่อไป
โดยสาเหตุที่เลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง เพราะมีพื้นที่เป็นเกาะสามารถควบคุมการเข้าออกได้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียง ที่เหล่านักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง มีความพร้อมด้านโรงแรม ที่พักบริการทางสาธารณสุขที่มีอย่างเพียงพอโดยได้มีการเตรียมความพร้อมด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (อย่างมาก) ความเข้มแข็งทางแนวคิดและจิตใจของผู้นำถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการบริหารจังหวัดในภาวะวิกฤติเช่นนี้โดยผู้ว่าฯ ณรงค์ เผยว่า ตลอดการรับราชการมา 32 ปีทำงานหนักมาโดยตลอด อีกทั้งเมื่อทำงานอยู่ชายแดนภาคใต้ก็เคยเจองานหนักๆ มาแล้ว ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้บังคับบัญชาหรือจากสังคมว่า เวลาพบสถานการณ์ความสับสนวุ่นวาย ต้องนิ่งต้องมีสมาธิ รวมถึงเป็นคนกราบพระ ไปหาพระอาจารย์ เป็นเด็กวัดทำสมาธิเช้า จึงทำให้มีสมาธิและสมองปลอดโปร่ง ซึ่งจะทำให้เห็นทางออกและวิธีแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดทำให้ตนเองรู้จักการเป็นผู้ให้และผู้เสียสละทำให้ตนเองทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นซึ่งผู้ว่าฯ ณรงค์ได้พูดถึงแนวคิดในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการภูเก็ตทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
“การทำงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้คนอาจจะมองว่ามีอำนาจมาก แต่หัวใจสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อถือและศรัทธา ซึ่งตรงนี้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เพราะหากยังแก้ปัญหาตัวเองไม่จบ เราจะไม่มีเวลาไปดูแลประชาชนของส่วนรวมได้”
จากผลงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการรับมือกับความความวุ่นวายในภาวะวิกฤตินั้นจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาผู้นำที่มีความสุขุมและมีวิสัยทัศน์ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วเหมือนกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ณรงค์ วุ่นซิ้ว