ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ร.ต.อ.นิยม เพ็ชรโกมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดสุรินทร์
17 พ.ค. 2565

การเลือกตั้งถือเป็นหัวใจหรือจุดเริ่มต้นของกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำหรือผูบริหารไม่วาจะในระดับประเทศหรือในระดับท้องถิ่น โดยในอดีตการดูแลควบคุมการเลือกตั้งจะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริต ยุติธรรม เรียกว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือเรียกย่อๆ ว่า "กกต.” (ECT) ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540

กกต.มีสถานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่หลักในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ รวมทั้งต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย

ฉบับนี้ อปท. นิวส์เชิญเป็นแขกจึงอยากจะขอนำท่านพาผู้อ่านมารู้จักกับผู้กำกับการดูแลการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ร.ต.อ.นิยม เพ็ชรโกมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์ที่มีประสบการณ์เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งมาหลายจังหวัดถึง 17 ปี ทำให้เกิดการบ่มเพาะแนวคิดและวิธีการทำงานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ร.ต.อ.นิยม เพ็ชรโกมล หรือ ผอ.สนง.กกต.จ.สุรินทร์ ได้เล่าถึงพื้นเพที่มาของตัวเองว่าเป็นคนจังหวัดสระแก้ว เริ่มต้นการศึกษาในช่วงประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดหนองติม อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้วต่อมาได้ไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนตาพระยา จังหวัดสระแก้ว หลังจากนั้นก็ไปสอบเป็นนักเรียนพลตำรวจรุ่น 42 จอหอ จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะเริ่มทำงานในตำแหน่ง พลตำรวจ สิบตำรวจตรี และสิบตำรวจโท ซึ่งระหว่างนั้นได้ไฝ่หาความรู้เพิ่มเติมจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้ใวุฒิปริญญาตรีไปสอบแข่งขันเพื่อเลื่อนเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ขณะที่มียศสิบตำรวจโท โดยเข้ารับอบรมเป็นนักเรียนนายร้อยอบรม (นอร.0142) ที่โรงเรียนนายร้อยสามพราน จังหวัดนครปฐม และได้รับยศร้อยตำรวจตรี และก็รับราชการมาจนถึงร้อยตำรวจเอก สังกัดที่ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์

ร.ต.อ.นิยม บอกต่อว่าหลังจากนั้นได้เปลี่ยนสายงานโดยขอรับโอนไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2548 ในตำแหน่ง พนักงานสืบสวนสอบสวน ของ สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดสกลนคร จากนั้นได้ย้ายไปเป็นตำแหน่งเดียวกันที่ สำนักงาน กกต. จังหวัดสุรินทร์ ก่อนที่จะได้เป็นหัวหน้างานสืบสวนสอบสวน ต่อมาก็ได้ย้ายเป็นหัวหน้างานพรรคการเมือง ที่สำนักงาน กกต. จังหวัดร้อยเอ็ด ภายหลังได้มีการสอบเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารระดับกลาง อยู่ที่สำนักงาน กกต.ตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการกรรมการการเลือกตั้ง (สมัยนายประพันธ์ นัยโกวิท และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น )โดยก็ได้ดำรงตำแหน่งตามลำดับเรื่อยมา

กระทั่งปี 2560 จึงได้ย้ายมาเป็นรองผู้อำนวยการ สำนักงานกกต.จ.สุรินทร์ ก่อนที่จะได้เลื่อนเป็นผู้อำนวยการฯ สุรินทร์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 โดยได้ดำเนินการในภารกิจการสร้างเครือข่ายกับส่วนงานในพื้นที่ของจังหวัดกระทั้งช่วงต้นปี 2561 ได้รับรางวัลศส.ปชต.ดีเด่นระดับประเทศอีกต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเป็นพลเมือง ที่ สำนักงานกกต. โดยมีเนื้องานที่เน้นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะมีการขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายในระบบการศึกษา ตั้งแต่ประถมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ตลอดจน นักเรียนในสังกัด กศน. ส่วนนอกระบบสถานศึกษา ได้แก่ประชาชนคนทั่วไป และวิทยากรเครือข่ายต่างๆ ที่ได้มีการอบรมในหลักสูตรต่างๆ และจัดทำข้อมูลไว้ เช่น ลูกเสืออาสา กกต. รด.จิตอาสา ดีเจประชาธิปไตย เป็นต้น โดยยึดหลักการเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีคุณภาพอย่างแท้จริง

ร.ต.อ.นิยม บอกอีกว่า เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปกครองของไทย กกต. ได้มีการพัฒนาแอปพลิชัน “CIVIC EDUCATION” เพื่อนำองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองของไทยไปให้กับวิทยากรสำนักงาน กกต. หรือวิทยากรภายนอก ตลอดจนให้กรรมการส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ทั่วประเทศ ในการกระจายความรู้ผ่านนวัตกรรม สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในวิถีประชาธิปไตยฯ โดยสาระสำคัญของโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินกิจกรรม วางแผนการพัฒนาหลักสูตร สร้างแนวทางหรือวิธีการถ่ายทอดเทคนิคกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมือง สำหรับ 4 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับการศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย  

Civic Educationมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ พัฒนาเครื่องมือ และเพิ่มช่องทางการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ผ่านการสื่อสารสารสนเทศ เพื่อให้วิทยากรได้รับข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว และอย่างต่อเนื่อง จากสื่อความรู้ที่อยู่ในแอปดังกล่าว โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ในการให้ความรู้ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

2. เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการดําเนินชีวิต ตามวิถีประชาธิปไตย มีวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีจิตสํานึกสาธารณะ รับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ

3. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในกระบวนการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

4. เพื่อสนับสนุนวิทยากรเครือข่ายในการฝึกอบรมทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา”ร.ต.อ.นิยม กล่าว

โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ ANDROIDซึ่งเชื่อว่าหากมีการร่วมมือกันจากสำนักงาน กกต. หรือทุกหน่วยหน่วยงงานในเครือข่ายของสำนักงาน กกต. ถึงสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้กับประชาชนได้

อย่างไรก็ก็ตาม ในด้านครอบครัว ร.ต.อ.นิยม เปิดเผยว่า มีบุตรอยู่ 2 คน ซีงจะเน้นมีการสร้างความเข้าใจกับลูก ด้วยการเล่าถึงบรรพบุรุษว่าเหตุใดประเทศถึงมีเอกราชในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ที่สำคัญยังเน้นสอนในด้านความรับผิดชอบและความมีวินัยเป็นหลัก รวมถึงให้เด็กได้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับจิตสาธารณะ หรือการดูแลความเป็นพลเมือง ส่งผลให้เด็กๆ สามารถแยกแยะได้ และทำให้มีความยืดหยุ่นในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น

หลังจากได้มาทำงานที่ กกต.ส่วนกลางได้ประมาณ 1 ปี ก็ได้รับคำสั่งให้กลับมาเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์เป็นครั้งที่ 2 โดยช่วงนั้นมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มี อบต.ให้เลือกตั้งถึง 144 อบต.และมีผู้สมัคร 5,062 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดย ร.ต.อ.นิยม ได้ให้มุมมองกระบวนกาการการจัดการการเลือกตั้งในเวลานั้นว่า

“กระบวนการจัดการเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมานานกว่า 7-8 ปี ประกอบกับกฎหมายก็ได้เปลี่ยนแปลงใหม่ ตลอดจนบุคลากรเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งที่ได้ว่างเว้นมานาน ซึ่งก็เหมือนนักกีฬาที่ขาดการฝึกซ้อม ก็จะขาดความคุ้นเคยและทักษะ เช่นเดียวกันการการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้จึงตระหนักและมองเห็นถึงสภาพปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จึงได้ดำเนินการจัดอบรมให้กับเจ้าพนักงานที่ได้รับผิดชอบการเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น กกต.อบต. หรือ ปลัด อบต.ในฐานะ ผอ.กต.อบต. และที่สำคัญวิทยากรอำเภอ ที่จะไปถ่ายทอดความรู้ให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือ กปน. ซึ่งถือว่าเป็นต้นทางในการเลือกตั้งทุกระดับ”

“เราได้มีการอบรมที่เข้มข้นมาก แม้ว่าจะสถานกาณ์โควิด-19 เป็นอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้งก็ตาม แต่ทางเราก็มีมาตรการออกมารองรับหน่วยเลือกตั้งที่มีการปิดหมู่บ้าน เพราะปัญหาของโควิด-19 โดยขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งในช่วงนั้นในจังหวัดได้จัดการเลือกตั้งเฉพาะนายก 144 เขต และสมาชิก อบต. 1,911 เขต ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ แต่เราก็สามารถจัดการเลือกตั้งในภาพรวมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ทั้งนั้นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้เพราะทุกหน่วยและทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ”

ด้านประสบการณ์และมุมมองที่เป็นผู้หรึ่นที่ทำงาน กกต. มาอย่างยาวนานร.ต.อ.นิยมได้ให้มุมมองเอาไว้ว่า สายงาน กกต. มีกระบวนการไม่ซับซ้อน กล่าวคือ สายงานไม่ยาวเกินไป เช่น ในระดับจังหวัดทางหน่วยงานก็มี กกต. ประจำจังหวัด เมื่อมีงานอะไรก็ตามสายบังคับบัญชาจะตั้งอยู่ที่ส่วนกลาง รวมถึงมีความอิสระ ไม่ถูกแทรกแทรงจากระดับผู้นำ ส่งผลให้ลักษณะการทำงานที่ กกต. มีความคล่องตัวและมีความอิสระ จึงเป็นงานที่ตนมองว่าเหมาะสมกับตนจึงอยากทำงานที่สำนักงาน กกต. ต่อไป จนกว่าเกษียณอายุราชการ โดยร.ต.อ.นิยม ก็ได้ทิ้งท้ายแนวคิดจากการทำงานที่สำนัก กกต. เอาไว้ว่า

“โดยหลักในการทำงานนั้น ผมยึดหลักความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง โดยยึดหลักผ่านแนวความคิดครองตน ครองคน และครองงานกล่าวคือ การครองตนนั้น ต้องมีความประพฤติและปฏิบัติตน โดยยึดหลักคุณธรรม ความมีวิริยะ อุตสาหะ ทุ่มเท มีวินัยและความรับผิดชอบ ด้านครองคนนั้น เนื่องจากผมต้องบริหารคนในองค์กรและคนในหน่วยงานภาคีเครือข่าย การประสานงานต้องมีความสัมพันธ์เป็นที่ตั้ง ยึดอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อสร้างการยอมรับและให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างเต็มใจ และในส่วนของการครองงานนั้น สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ การมีภาวะความเป็นผู้นำ การกล้าตัดสินใจที่ถูกต้อง การทำงานประสิทธิภาพ ภายใต้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในองค์กร”

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...