ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
รศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. กับโครงการติดตามและประเมินผลแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
31 พ.ค. 2565

ด้วยภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยจากภัยทางธรรมชาติ นับเป็นส่วนสำคัญที่สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรต้องเข้ากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อดำรงการประกอบอาชีพต่อไป เกิดเป็นภาระหนี้สินผูกพันที่เกษตรกรไม่สามารถหาทางออกได้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดตั้ง กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พ.ศ.2542 เพื่อเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูและสนับสนุนให้เกษตรกร พร้อมแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน และเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงกฟก.จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร.ดำเนินโครงการติดตามและประเมินผลแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่ามีศักยภาพเพียงใด

รศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. กับโครงการติดตามและประเมินผลแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเปิดเผยว่า จากการที่เกษตรกรได้รับเงินสนับสนุนผ่านการกู้ยืมและการรับเงินอุดหนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง พบว่าหนี้สินของเกษตรกรยังมีอยู่จำนวนมากนั้นจึงเป็นที่มาของโครงการติดตามและประเมินผลแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล และความคุ้มค่าแบบมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานและองค์กรเกษตรกรทั่วประเทศ

โดย กฟก.ได้มอบหมายให้คณะวิจัยจาก มจร. และเครือข่ายสถาบันการศึกษาเข้ามารับดำเนิน“โครงการติดตามและประเมินผลแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” เพื่อติดตามและประเมินผล ซึ่งมจร. จะมีการเก็บข้อมูลใน 2 รูปแบบด้วยกัน 1. เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ : ลงไปสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้บริหาร กฟก. ส่วนกลางสำนักฟื้นฟู ผู้บริหารใน กฟก.ในระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด และตัวกลุ่มเกษตรกร 2. เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ : เป็นการสอบถามความพึงพอใจของเกษตรกร เป็นการสุ่มเก็บทั่วประเทศ 77 จังหวัด เมื่อได้ข้อมูลจาก 2 ส่วนนี้มากำหนดเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ได้แก่

1. ด้านความเข้มแข็งหรือความพร้อม ขององค์กรเกษตรกร2. ด้านการดำเนินการตามแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร3. ด้านระเบียบ กฎหมาย ที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในโครงการฟื้นฟูและพัฒนา เกษตรกร4.ด้านบุคลากรและโครงสร้างทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ (จำนวน ความรู้ ความสามารถ) และ 5.ด้านประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของ โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต่อเกษตรกรทางมิติการลดต้นทุนการเพิ่มรายได้และความสามารถใน การจัดการหนี้ของเกษตรกร

ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประมาณ 56,284 องค์กร และมีเกษตรกรเป็นรายบุคคลอีกประมาณ 5,670,659 ราย ซึ่งทั้งหมดที่มีการขึ้นทะเบียนแล้ว ผลของการฟื้นฟูจากการติดตามและประเมินผลในครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากองค์กรเกษตรกรที่มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันกองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรเกษตรกรคิดเป็นจำนวน 11,361 โครงการ งบประมาณ 1,194,992,422 บาท โดยมีโครงการประเภทเงินกู้ยืม จำนวน 1,803 โครงการ จำนวน 787,135,058 บาท เงินอุดหนุน 9,558 โครงการ จำนวน 407, 857,364 บาท

โดยจากข้อมูลทั้งหมด ทำให้ทราบว่ากลุ่มเกษตรกรมีความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ทั้งนี้ทางกองทุนฯ ในฐานะผู้ว่าจ้างได้มีการแบ่งเกณฑ์ในการประเมินไว้เป็น 5 ด้านด้วยกันซึ่งพบว่าคะแนนโดยเฉลี่ยของกลุ่มเกษตรกรที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ในระดับ 4 ขึ้นไป(คะแนนเต็ม 5) กล่าวคืออยู่ในเกณฑ์ระดับมากขณะที่ในแต่ละด้านจะมีส่วนที่เกษตรกรพึงพอใจมากกว่าด้านอื่น และบางส่วนที่มีค่าเฉลี่ยน้อย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจมากในด้านความเข้มแข็งหรือความพร้อมขององค์กรเกษตรกรในระดับมากกว่าด้านอื่นๆ  ซึ่ง รศ.ดร.โกนิฏฐ์ได้ขยายความว่า

“เกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือจำเป็นต้องมีการตั้งกลุ่มและขึ้นทะเบียน ซึ่งเกษตรกรให้ความพึงพอใจในการตั้งคณะกรรมการองค์กรหรือกลุ่มเกษตรกรเอง อยู่ในระดับสูงหรือประมาณ 4.12 ที่รองลงมาคือการดำเนินการของกลุ่มมีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องในลักษณะของธรรมาภิบาลของกลุ่ม กล่าวคือ รายได้ทั้งหมดของกลุ่มมีการจัดประชุมมีการมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดทำให้ได้คะแนน 4.11”

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร.กล่าวอีกว่า ในด้านคะแนนที่ได้น้อยที่สุดคือ การเรียนรู้ของสมาชิกเพราะกลุ่มเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูฯ จะอยู่ในช่วงอายุที่ประมาณ 50-60 ปี ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้จึงสร้างผลกระทบต่อการเรียนรู้ เนื่องจากเมื่อเกษตรกรมีอายุสูง กระบวนการเรียนรู้มีความสนใจเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะใช้ระบบแบบภูมิปัญญาในการทำเกษตร ส่งผลให้สมาชิกมีการเรียนรู้ที่น้อยประมาณ 3.9  อย่างไรก็ตามในภาพรวมแล้วทุกด้านได้คะแนนเกิน 4 มีเพียงแค่ด้านนี้เท่านั้นที่ระดับ 3.9

และผลจากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพที่จะมีการการศึกษาในรูปแบบสัมภาษณ์ ทำให้สามารถแบ่งเกษตรกรออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จจะถูกเรียกว่า “เข้มแข็ง”พิจารณาจากกลุ่มเกษตรกรสามารถนำเงินที่กู้ยืม กฟก. มาชำระคืนได้กลุ่มที่ 2คือกลุ่มที่ดำเนินการอยู่หรือกลุ่มที่กำลังพัฒนาแต่อาจจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้กลุ่มเกษตรกรไม่เข้มแข็งเช่น กลุ่มเลี้ยงปลากระชังอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังจะจับปลาขาย แต่เกิดพายุเข้า ทำให้เกิดน้ำท่วม ส่งผลทำให้ปลาที่เลี้ยงในกระชังเกิดอาการน็อคน้ำ ตายหมด กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ไม่ใช่ไม่สามารถดำเนินการได้แต่มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นที่สร้างผลกระทบ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้นำหรือแกนนำ เกิดเสียชีวิต ส่งผลกระทบกลุ่มไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ ยังพบอีกว่า การรวมกลุ่มเกษตรกรตามที่ พ.ร.บ.ฯ ได้บังคับเอาว่าจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน ถือเป็นกฎระเบียบที่เกษตรกรมองว่าเป็นข้อจำกัด เพราะผลจากการศึกษาจะพบว่า กลุ่มที่สามารถรวมกลุ่มได้ 50 คน มักจะเป็นเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มอยู่แล้ว จึงอาจเป็นกลุ่มที่มีเข้มแข็งอยู่แล้วในระดับหนึ่ง และต้องการต่อยอดให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นจึงขอเข้าร่วมโครงการและขอกู้เงิน โดยทำเป็นข้อเสนอโครงการเสนอเข้าไปที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ จังหวัด เมื่อกองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีการพิจารณาในระดับจังหวัด ก็จะส่งโครงการนี้สู่ส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางจะมีคณะกรรมการ 1 ชุดเป็นบอร์ดบริหารพิจารณา ในกรณีเงินที่ขอเกิน 500,000 บาทขึ้นไป แต่หากต่ำกว่า 500,000 บาท จะเป็นเลขาธิการเป็นคนอนุมัติโครงการฯ

“ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอแนะของเกษตรกรจึงไม่อยากให้ยึดหลักสมาชิก 50 คน เพราะหากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมตัวกันมาก่อนแล้ว อาจรวมกลุ่มไม่ยาก ทว่ากลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่จะมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 50 ปี จะพบว่าคนกลุ่มนี้จะรวมตัวค่อนข้างยาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ ขอเสนอแนะของเกษตรกรจึงอยากให้รวมตัวสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 30 คน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนการแก้ไขปัญหาเกษตรกรมีข้อจำกัด มันจะส่งให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะรวมตัวและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนอันนี้เป็นประเด็นที่เกษตรกรเสนอ”ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. กล่าวถึงเสียงสะท้อนจากแกษตรกร

สำหรับอีกประเด็นที่ทางเกษตรกรเสนอมาอีกเรื่อง รศ.ดร.โกนิฏฐ์ บอกว่าเกษตรกรพิจารณาว่าตัวเอกสารข้อกฎหมายที่กำหนดโดย พ.ร.บ.ฯ ค่อนข้างมีความยุ่งยาก เนื่องจาก กฟก.มีการยึดโยงระเบียบข้อจำกัดในการดำเนินการผ่านรูปแบบราชการ ด้วยเหตุนี้ในการจะนำเงินให้การช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการกู้เงินหรือช่วยเหลือที่มีระเบียบราขการเข้ามาควบคุมส่งผลให้เกิดความล่าช้า ถึงแม้ตัวกฎหมายจะกำหนดการยื่นเสนอขอจาก กฟก. จะต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่ในความเป็นจริงมียังมีขั้นตอนที่ค่อนข้างระเอียด ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้มีอายุค่อนข้างเยอะ ส่งผลให้การทำเอกสาร การเขียนเอกสาร การทำความเข้าใจขั้นตอนในการดำเนินการเป็นอุปสรรคของเกษตรกร ทางเกษตรกรจึงอยากให้มีการปรับลดรูปแบบการขอการสนับสนุน กฟก. ให้กระชับมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเกษตรกรต้องการอีกอย่างหนึ่ง เพื่อพัฒนาองค์กรเกษตรกรอย่างเข้มแข็งก็คือทำแผนชีวิตหรือทำบัญชีครัวเรือน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ทำตามอาชีพที่มีการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ การทำแผนชีวิตจะเป็นการสร้างเป้าหมายให้กับเกษตรกร รวมถึง มีการขับเคลื่อนกระบวนการกลุ่มเกษตรให้มีรายได้ของครัวเรือนมีมากขึ้น ดังนั้นอาจจะต้องมีการทำงานเชิงกลุ่มเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ต่อมาคือการสร้างทายาทกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อทดแทนกลุ่มเกษตรกรรุ่นเก่าและจะหมดกำลังในการพัฒนาองค์กรเกษตรกร การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพได้

สุดท้ายคือการสร้างระบบการประชาสัมพันธุ์ เนื่องจาก กฟก.มีสาขาทุกจังหวัดอาจจะต้องมีการตั้งศูนย์เรียนรู้แต่ละจังหวัดเพื่อเป็นฮับให้กับเกษตรกรได้ไปเรียนรู้และเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว อันนี้เป็นส่วนของความเข้มแข็งขององค์กรในส่วนของการติดตามประเมินผลนั้น ให้เกษตรกรทำหน้าที่ในการติดตามประเมินผลการทำงานของตัวเอง ซึ่งอาจต้องมีการอบรมเสริมศักยภาพเพิ่มเติม

นอกจากนี้ แม้กองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นหน่วยงานอิสระที่ให้ความช่วยเหลือกเกษตรกรทั่วประเทศ แต่ กฟก.ก็มีบุคลากรอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะดูแลเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมาก เพราะการทำงานช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรไม่ใช่เพียงการเดินเอกสารเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการลงพื้นที่ การประมวลผล การให้คำปรึกษา สิ่งเหล่านี้ต้องใช้บุคลากร รวมทั้งยังมีเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือที่เป็นข้อจำกัด ที่อาจเป็นคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าอยู่ ส่งผลให้การทำงานกับองค์กรเกษตรกรเกิดความล้าช้าและมีปัญหา เพราะสำนักงานสาขาจังหวัดที่อยากช่วยเหลือมีอุปกรณ์ไม่พร้อม ขณะที่ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็กลายเป็นข้อจำกัดของเกษตรกรในระดับจังหวัดด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันกฟก. มียังข้อจำกัดด้านงบประมาณ ถึงแม้จะต้องมีภารกิจในการช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศก็ตาม แต่ค่อนข้างได้รับงบประมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้มีบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรมีภาระหนี้สินกับทางกลุ่มทุน เช่น สถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ ธนาคารของรัฐ และหากเกษตรกรไม่สามารถหาเงินชำระหนี้ได้ กลุ่มทุนเหล่านี้ก็ยึดทรัพย์ไป การแก้ปัญหาของเกษตรกรจึงขอขึ้นทะเบียนกับ กฟก. แล้วให้ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

“ซึ่งผลศึกษาความช่วยเหลือเกษตรกรของ กฟก. พบว่า เกษตรกรมีความเชื่อมั่นใน กฟก. มากกว่าธนาคาร สถาบันการเงินอื่นๆ เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีการเก็บดอกเบี้ย ขณะที่ กฟก.ไม่มีการเก็บดอกเบี้ย หรือเก็บดอกเบี้ยในจำนวนที่น้อยที่ร้อยละบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก ต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ หรือแม้แต่สหกรณ์ที่มีดอกเบี้ยต่ำแต่ก็ยังเป็นภาระของเกษตรกรอยู่ดี นอกจากนี้ กฟก.ยังเปิดโอกาสให้องค์กรเกษตรกรหรือตัวเกษตรกรในระดับบุคคลที่เริ่มมีความเข้มแข็งจากการสนับสนุนของ กฟก. ในการผ่อนชำระหนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องชำระเป็นเงินก้อน ส่งผลให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในการทำงานของ กฟก. ถึงแม้จะมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการฯ หรือการสนับสนุนด้านอื่นๆ ก็ตาม”

“แต่โดยปกติองค์กรเกษตรกรหรือตัวเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังคงมีความพยายามในการคืนหนี้ อีกทั้งที่ดินที่เข้าสู่กระบวนการซื้อหนี้ของ กฟก. ก็ยังคงเป็นความหวังของเกษตรกรได้ เพราะหากเกษตรกรชำระหนี้ครบก็จะได้ที่ดินผืนนั้นกลับคืนไป แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมีความเชื่อมั่นใน กฟก. มากกว่าธนาคารเอกชน หรือ สหกรณ์”รศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...