ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์
15 มิ.ย. 2565

กรมราชทัณฑ์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมและแก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขังและบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามหน้าที่และอํานาจของกรมฯ โดยมุ่งพัฒนาเป็นองค์กร พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อแก้ไขหรือฟื้นฟูผู้ต้องขังและบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามหน้าที่และอํานาจของกรมฯ ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี มีสุขภาพกายและจิตที่ดี ไม่หวนกลับมากระทําผิดซ้ำ ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพที่สุจริต และสามารถดํารงชีวิตในสังคมภายนอกได้อย่างปกติโดยสังคมให้การยอมรับ

ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังในสังกัดทั่วประเทศ143 แห่ง และในปี 2565 มีรายงานระบุว่ามีจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น268,163 คน ซึ่งแน่นอนว่า ภาระกิจที่กล่าวมาข้างต้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อย่างใด โดยเฉพาะกับผู้บริหารที่ต้องเข้ามาควบคุมดูแล ดังนั้น อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงจะขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ ธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ฝ่ายบริหารหนึ่งในผู้คุมเรือนจำที่มีประสบการณ์มาอย่างโชกโชน พร้อมหลักคิดในการทำงานที่ยึดหลักอุดมการณ์และดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม

                รองฯ ธวัชชัย ในวัย 60 ปีบอกเล่ากับอปท.นิวส์ว่า เป็นคนแม่กลองโดยกำเนิด เริ่มต้นการศึกษาที่จังหวัดสมุทรสงครามจนมาจบการศึกษาด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นนับเป็นห้วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ จึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทพัฒนบริหารศาสตร มหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ NIDA และนิติศาสตร์บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครอง 3 (ปลัดอำเภอ) ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นตำแหน่งแรก ซึ่งในครั้งแรกตั้งใจจะทำงานในราชการประมาณ 5 ปี เพื่อดูว่าลักษณะงานราชการเหมาะกับตนเองหรือไม่ ถ้าไม่ถูกจริตก็อาจจะลาออก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีโอกาสได้ทำงานกับผู้บริหารของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมการปกครองและกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยประกอบกับผู้ใหญ่ได้ให้โอกาส จึงอยู่รับราชการเรื่อยมาจนปี 2536 ผู้บังคับบัญชาให้โอนไปช่วยราชการที่กรมราชทัณฑ์ โดยขณะนั้น กรมราชทัณฑ์ สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ก่อนเปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงยุติธรรมในปัจจุบัน

รองธวัชชัย เล่าต่อว่า ต่อมาในปี 2540 ได้ย้ายมารับราชการที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งถือเป็นเรือนจำขนาดใหญ่ 1 ใน 5 ของประเทศ จนมาถึงปี 2542 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ถือเป็นเรือนจำเล็กสุดและไกลจากกรุงเทพมหานครมากที่สุดในประเทศไทย โดยเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง นักโทษ 175 คน และได้โยกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำอีก 9 แห่ง 

“ตอนมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษพัทยา ผมได้เสนอโครงการราชทัณฑ์ตำบลซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ต้องขังทั้งในด้านสังคมสงเคราะห์ ปรับพฤติกรรมและฝึกวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขังและครอบครัว ตลอดจนการดูแลให้กำลังใจให้อุปกรณ์การประกอบอาชีพและให้โอกาสผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษแล้วอีกเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ผู้ต้องขังไม่กระทำผิดซ้ำและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในปี 2559 เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม และในปี 2560 ได้ย้ายมารับราชการในตำแหน่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์จนถึงปัจจุบัน”

รองธวัชชัย บอกด้วยว่า เมื่อทำงานราชการมาซักพัก เกิดคำถามกับตัวเองว่า เมื่อมีอำนาจตามบทบาทหน้าที่ราชการราชทัณฑ์แล้ว อำนาจที่สั่งได้นี้นั้นมีมากน้อยแค่ไหน มีขีดจำกัดหรือไม่อย่างไร จึงเป็นแรงบันดาลที่ทำให้อยากเรียนรู้เพิ่มเติม จึงเข้าศึกษาด้านนิติศาสตร์บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์อีกครั้ง พร้อมกับได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนเนื่องจากเห็นความสำคัญของกฎหมาย ที่จะช่วยให้การทำงานมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นโดยรองธวัชชัย กล่าวด้วยว่า

“กฎหมายจะมี 2 แบบได้แก่ กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน โดยกฎหมายเอกชนเช่น แพ่งและพาณิชย์จะเป็นลักษณะที่ทั้ง2 ฝ่ายเท่าเทียมกัน เช่น ออกเช็ค จ่ายหนี้ ทำประกันภัย ส่วนกฎหมายมหาชนจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและรัฐกับประชาชน เช่น การใช้อำนาจรัฐทำไมต้องให้ประชาชนไปทำบัตรประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้การใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องมีขีดจำกัด ไม่ใช่สั่งอะไรก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายมหาชนจะเป็นคนบอกเรา นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเองไปเรียนกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้รู้ว่าตนเองมีอำนาจในการสั่งมากน้อยแค่ไหน มีขีดจำกัดอย่างไร”

รองธวัชชัย บอกอีกว่า หลังจากได้ทำงานราชการมาตลอด 35 ปี ทำให้ตกผลึกทางความคิดและพบว่าการทำงานต่างๆ นั้นจะต้องพบเจออุปสรรคและปัญหาอยู่ตลอดเวลาโดยอาจต้องยอมรับก่อนว่าสิ่งนั้นคือปัญหาเสียก่อนและต้องเข้าใจเสมอว่าทุกงานย่อมมีปัญหา “ถ้าคุณทำงานแล้วยังไม่เจอปัญหาแปลว่าคุณยังไม่ได้ทำ แต่ทุกปัญหามีทางออกเสมอ อยู่ที่ว่าเราจะสามารถหาทางออกให้เหมาะสมกับตนเองได้อย่างไร โดยจุดเริ่มแรกที่สำคัญคือต้องยอมรับปัญหาเสียก่อน แล้วค่อยหาทางออกของปัญหา”

ส่วนด้านการถอดรหัสในการรับมือกับปัญหาอย่างไรนั้น อาจจะเริ่มต้นจากมองให้เห็นถึงปัญหาเสียก่อน โดยอาจเริ่มจากบุคคลเช่น ตนเองเป็นปัญหาหรือไม่ ถ้าตัวเราไม่เป็นปัญหา บุคลากรของเราเป็นปัญหาหรือไม่ ก่อนจะเริ่มหาทางแก้ไข หากปัญหามาจากตนเอง ก็ต้องแก้ที่ตัวเองรองธวัชชัย กล่าวงแนะนำ พร้อมบอกต่ออีกว่า

นอกจากแก้เรื่องคนแล้วสิ่งที่จะรับมือกับการแก้ปัญหาได้คือหาวิธีทำงานใหม่ๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะลดปัญหาหรือแก้ปัญหาได้เช่น บางงานที่อาจให้เวลาในการทำงานกระชั้นมาก จะทำอย่างไรให้ทัน สามารถหาเทคโนโลยีหรือเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยได้หรือไม่

                “ผมมองว่าเทคโนโลยีอาจจะเป็นทางออกของปัญหาได้ส่วนหนึ่ง เพราะช่วยลดจำนวนคนและสร้างความรวดเร็วในการแก้ปัญหา อันนี้คือความจำเป็นของเทคโนโลยี และที่สำคัญคือต้องอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง เราคงไม่มีเงินมากมายที่จะทำหลายๆ เรื่องได้ เทคโนโลยีที่ล้ำยุคอาจไม่เหมาะกับเรา เพราะงบประมาณเราไม่พอ สถานที่เราก็ยังไม่พร้อม ดังนั้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงบประมาณที่เหมาะสมก็อาจเพียงพอแก้ปัญหาได้”

                สำหรับการรับมือด้านความเครียดจากการทำงาน รองธวัชชัย บอกว่าจะเน้นในการใช้ธรรมะเข้ามาช่วย โดยจะไม่หวังอะไรเกินตัวมากนัก และต้องมองอนาคตของตนเองให้ออก อาทิ ความเครียดที่เกิดจากไม่มีเงินใช้ ก็ต้องมองให้เห็นอนาคตว่า เงินอาจไม่พอใช้ แล้วจะทำอย่างไรให้มีรายได้ทางอื่นเพิ่มขึ้นมา เช่นไปทำสวน ไปทำอาชีพอื่นๆ ที่ทำได้ อย่างเช่น นอกจากทำงานราชการแล้ว ปัจจุบันยังได้ทำสวนเล็กๆ ขึ้นมา บนพื้นที่ 20 ไร่ เน้นปลูกผลไม้อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ขนุน มะขาม โดยสาเหตุที่เลือกปลูกแค่ 3 อย่างนี้ เนื่องจากไม่ต้องใช้เวลาไปดูแลมากนัก ปีหนึ่งก็มีผลออกมาให้ สร้างรายได้ระดับหนึ่ง เพราะเมื่อดูแลไปนานๆ จนโตได้ระดับหนึ่ง ต้นไม้เหล่านี้ก็สามารถดูแลตนเองได้แล้ว ซึ่งทำให้ไม่ต้องดูแลอะไรมากนัก ก็จะให้ผลผลิตทุกปี

“บางครั้งเพียงแค่ไปสวน ได้เดินชมต้นไม้ ได้เห็นผลผลิตที่ปลูกก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมีความสบายใจ คลายความเคลียด เพราะได้ทำสิ่งที่ชอบ อีกทั้งยังทำให้มีรายได้พร้อมกับผ่อนคลายไปพร้อมกันแต่การทำสวนอาจต้องใช้ระยะเวลา และที่สำคัญเราต้องมองอนาคตให้ออก สมมุติอนาคต อาจประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เราก็ต้องคิดแล้วว่า ลำพังเงินเดือนเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องพยายามเพิ่มช่องทางรายได้ อย่างสวนที่ตนเองทำมานั้น ก็ทำมานานแล้วกว่า 20 ปี จากงานอดิเรกก็กลายเป็นอาชีพเสริม เพราะเราไม่ต้องไปทำสวนทุกวัน อาจจะเหนื่อยหน่อยในช่วงต้นยังเล็กๆ อยู่ ที่ต้องจ้างคนมาช่วยดูแลสวน แต่เมื่อเขาโต เขาอยู่ของเขาเองได้ ไม่ได้ต้องไปรดน้ำทุกวันเหมือนผักสวนครัว อย่างมากก็แค่ไปฉีดปุ๋ย ก็เพียงพอแล้วรองธวัชชัย กล่าวด้วยความภูมิใจ

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...