ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ไม้หวงห้าม (ต้นยางนา) หักทับบ้านพัง ... ใครกันรับผิด ?
18 มิ.ย. 2565

ก้าวสู่สังคมธรรมาภิบาลกับศาลปกครอง : โดย ธัญธร ปังประเสริฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ไม้หวงห้าม (ต้นยางนา)

หักทับบ้านพัง ... ใครกันรับผิด ?

ท่านที่เคยไปเที่ยวดูต้นจามจุรียักษ์ ... แลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ก็คงพอจะนึกภาพความใหญ่โตของลำต้นและกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ใหญ่ (ยางนา) ที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ  ๒๐๐ ปี วัดรอบโคนต้น ๑๔  เมตร ซึ่งเป็นที่มาของคดีที่จะคุยกันวันนี้ได้

โดยวันดีคืนดีประมาณตีสี่ ... กิ่งของต้นยางนาเจ้ากรรมที่ห่างจากบ้านประมาณ ๑๐ เมตร ได้เกิดหักลงมาทับบ้านเช่าชั้นเดียวของผู้ฟ้องคดีที่เพิ่งปลูกได้ไม่นานพังเสียหายทั้งหลัง แถมยังต้องขาดรายได้จากการให้เช่าบ้านดังกล่าวอีกด้วย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเทศบาลตำบลละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลรักษา หรือตัดแต่งกิ่งของต้นยางนาซึ่งมีขนาดใหญ่และมีสภาพเก่าแก่ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เทศบาลฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าเสียหาย

เรื่องนี้เทศบาลฯ โต้แย้งว่า ต้นยางนามิใช่ทรัพย์สินของเทศบาลฯ และได้เคยมีหนังสือสอบถามไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แล้ว ได้รับแจ้งว่าเป็นไม้หวงห้ามที่ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้ใดดูแลได้ การที่เทศบาลฯ ได้เข้าไปดูแลจัดการทำรั้วรอบต้นยางนา ก็เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้าไปตัดหรือทำลาย และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการสงวนรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังและนักท่องเที่ยวได้ชมเท่านั้น  ซึ่งเทศบาลฯ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท แล้ว

  • คดีมีประเด็นชวนคิดว่า กิ่งของต้นยางนาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นไม้หวงห้าม ที่ขึ้นอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาลฯ ได้หักโค่นลงมาทับบ้านของผู้ฟ้องคดีเสียหาย เทศบาลฯ ต้องรับผิดหรือไม่ ?
  • คำวินิจฉัยควรรู้
  • ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์และต้นยางนาดังกล่าวเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ รวมถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในท้องที่ ตลอดจนการคุ้มครอง ดูแล บำรุงป่าไม้ ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ (มาตรา ๖๗ (๔) (๗) และมาตรา ๖๘ (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗  มาตรา ๑๖ (๒๔) (๒๗) และ (๓๐) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งข้อ ๔ (๒) และข้อ ๕ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกอบกับมาตรา ๑๓๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

 เมื่อเทศบาลฯ ซึ่งได้เคยจัดสรรงบประมาณจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างรั้วบริเวณรอบโคนต้นยางนา เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมการท่องเที่ยว และได้ยอมรับเองว่าได้เข้าไปจัดการป้องกันไม่ให้คนเข้าไปตัดหรือทำลายต้นยางนา เพื่อสงวนรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังและให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลฯ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าต้นยางนาพิพาทไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของเทศบาลฯ

ส่วนกรณีที่ต้นยางนาเป็นไม้หวงห้าม ซึ่งการทำไม้ดังกล่าวทุกกรณีจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ นั้น เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ส่วนที่ ๒ การทำไม้หวงห้าม ก็เพื่อจะเป็นการควบคุมไม้บางชนิดที่มีค่าราคาสูง หรือหายาก ไม่ให้มีการทำเพื่อการค้าหรือประกอบอุตสาหกรรมเป็นปริมาณมากจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงหลักวิชาการหรือความเสียหายของพันธุ์ไม้  ด้วยเหตุนี้ การกระทำใด ๆ กับไม้หวงห้ามเพื่อประโยชน์แห่งการบำรุง ดูแล รักษา จึงสามารถกระทำได้ ไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยการทำไม้หวงห้าม และไม่อยู่ในความหมายของการทำไม้หวงห้ามตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  นอกจากนี้ แม้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาต้นไม้ดังกล่าวจะทับซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่น แต่เมื่อมีกฎหมายบัญญัติ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลฯ ในการดูแลรับผิดชอบแล้ว จึงไม่อาจปฏิเสธอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้

อีกทั้งกิ่งของต้นยางนาเคยหักโค่นลงมาทับร้านค้าของผู้ฟ้องคดีครั้งหนึ่งแล้ว และผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้เทศบาลฯ ทราบ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการใด ๆ กับต้นยางนา และในวันเกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่ามีพายุหรือฝนตกในพื้นที่ที่จะอ้างว่าเป็นเหตุจากภัยธรรมชาติ อันจะถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดการณ์หรือป้องกันได้ จึงถือว่าเทศบาลฯ ประมาทเลินเล่อละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาต้นยางนา อันเป็นการกระทำละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๔๐/๒๕๖๔)

 
   
  • บทสรุปชวนอ่าน
  • ไม้หวงห้ามที่ขึ้นอยู่ในที่สาธารณะในเขตพื้นที่ของเทศบาลหรือหน่วยงานใด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองดูแลที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานดังกล่าวย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาต้นไม้นั้น โดยสามารถบำรุงรักษาและตัดแต่งกิ่งเพื่อความปลอดภัยได้ แม้ว่าอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาต้นไม้ดังกล่าวจะทับซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่น แต่เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้หน่วยงานนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบแล้ว ย่อมไม่อาจปฏิเสธอำนาจหน้าที่และความรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวได้ ... นั่นเองค่ะ !
  • (ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕)
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...