ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
สุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
15 ก.ค. 2565

ภาคเกษตรบ้านเรานับจากอดีตจนมาถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่า ยังคงพึ่งฟ้าฝนตามฤดูกาลธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเมื่อเกิดภัยแล้งก็สร้างความลำบากต่อเกษตรกรในการเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง โครงการฝนหลวง ที่เกิดขึ้นจากการพระราชทานแนวความคิดของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ทุเลาเบาบางลง จนพัฒนามาสู่การจัดตั้งขึ้นเป็นสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง มาสู่สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร และยกฐานะขึ้นเป็นกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2556มาจนถึงปัจจุบัน

พันธกิจของกรมฝนหลวงฯ ถูกกำหนดไว้ ประกอบด้วย

1. กำหนดยุทธศาสตร์และแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ ประสานนโยบายและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของประเทศ

2. ปฏิบัติการทำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตร ป่าไม้ และเขื่อนเก็บกักน้ำ แก้ไขภาวะภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้ใช้น้ำทั่วไป รวมทั้งพื้นที่ที่ต้องการฝนในการแก้ปัญหาภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง และการดัดแปลงสภาพอากาศ และ

4. ปฏิบัติการด้านการบินและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง และปฏิบัติงานด้านการเกษตร

งานดังกล่าวทั้งหมดจึงไม่เบาที่สำคัญจะต้องมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามานั่งดูแล ในวันนี้ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับบุคคลผู้หนึ่งที่มากความสามารถและได้ก้าวขึ้นมาสู่ฝ่ายบริหารของกรมฝนหลวงฯ อย่างน่าภูมิใจยิ่ง บุคคลผู้นั้นก็คือ สุพิศ พิทักษ์ธรรมรองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ไต่เต้าขึ้นมาจากผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

กล่าวกันว่า สุพิศ พิทักษ์ธรรม คือลูกหม้อของกรมชลประทาน ที่มีจิตใจมุ่งมั่นและพร้อมทำงานเพื่อประชาชน ด้วยการพัฒนาตนเองมาอย่างต่อเนื่องนับแต่เริ่มบรรจุเป็นข้าราชการ ซี1 มีพื้นเพที่เป็นคนจังหวัดสงขลาเคยศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา และรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยก่อนหน้าที่จะรับราชการ รองฯ สุพิศเคยทำงานรับเหมาก่อสร้างกับคุณพ่อมาก่อนและยังเคยทำงานที่โรงงานผลิตประตูระบายน้ำมาด้วยหลังจากนั้นก็ได้เข้าสู่แวดวงราชการโดยสาเหตุในการเลือกเข้าสู่สายราชการ รองฯ สุพิศบอกว่าเนื่องจากงานราชการเป็นงานที่มีรายได้มั่นคง สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และยังมีสวัสดิการดูแลพ่อแม่ได้ในยามพ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วย

รองฯ สุพิศ เรียนรู้งานและพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องไต่ระดับมาตั้งแต่ ซี1 จนมาถึงซี 3ขึ้นมาเป็น ผู้อำนวยการ ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 7 สำนักเครื่องจักรกลก่อนที่ 3 ปีต่อมาจะขยับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ในการทำหน้าที่ดูแลปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง การสร้างแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

“สำหรับสำนักเครื่องจักรกล จะดูแลเกี่ยวกับเครื่องกลทั้งหมดของกรมชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรที่ใช้ทำงานขุดดิน ขุดอ่าง ทำอ่าง ทำทำนบดิน ทำเขื่อน และเครื่องจักรทำแก้มลิง ซึ่งตอนนี้เป็นงานที่ทุกคนให้ความสนใจ ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาแก้ภัยแล้งน้ำท่วมของประเทศเลย เพียงแต่ว่าแก้มลิง ณ วันนี้ยังไม่เพียงพอ และยังไม่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย” รองฯ สุพิศ ในวัย 57 ปี กล่าว

รองฯ สุพิศ บอกถึงการเข้ามาทำงานในกรมฝนหลวงฯ ว่า ได้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของกรมฝนหลวงฯ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงในทุกภาคของประเทศเป็นประจําทุกปีเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้การทำฝนหลวงเข้ามาช่วยป้องกันหรือแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือและหล่อเลี้ยงดิน ทำให้พืชหลังนาหรือพืชที่ใช้น้ำน้อยมีความชุ่มชื่น ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรไม่เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานตอนบนที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งอยู่มากรวมไปถึงการเติมน้ำในเขื่อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ระบบชลประทานที่จะช่วยเหลือการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง รวมทั้งการประมง การคมนาคมทางน้ำ และการปล่อยน้ำ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียอีกด้วย

“กรมฝนหลวงฯ นอกจากจะทำหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ แล้ว ยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นดิน ลดการเกิดไฟป่า ช่วยสลายหมอกควัน ลดมลพิษทางน้ำและในอากาศ แล้วยังสามารถ ช่วยยับยั้งการเกิดลูกเห็บได้อีกด้วย”

ดยโตลอดปี 2564-2565 กรมฝนหลวงฯ ได้ทำลายลูกเห็บที่เกิดช่วงที่มีพายุฤดูร้อน ซึ่งเมฆจะมีขนาดใหญ่ ก่อยอดสูงและเย็นจัดจนเม็ดน้ำใน ยอดเมฆกลายเป็นเม็ดน้ำแข็งแล้วตกลงมาเป็นลูกเห็บ การทําฝนหลวงจะทําให้เกิดเป็นฝนตกก่อนที่เมฆจะใหญ่มากจนเกิดลูกเห็บ ซึ่งหากมีลูกเห็บที่ไหนประชาชนหรือเกษตรกรก็สามารถแจ้งเข้ามาได้เสมอ ก็สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ รวมถึงการดับไฟป่าและแก้ปัญหา PM.2.5  เป็นเรื่องที่ทางกรมฯ ทำมาโดยตลอด

“หากพี่น้องเกษตรกรต้องการให้เราเข้าไปช่วยแก้ปัญหา กรมฝนหลวงฯ เรามีหน่วยม้าเร็วเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ รวมไปถึงอธิบายกับพี่น้องเกษตรกรว่าตรงไหนทำได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้เรายังมีอาสาฝนหลวง เพื่อไปช่วยอธิบายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย”

                สำหรับการคัดเลือกเป็นอาสาสมัครฝนหลวงนั้น จะได้รับการอบรมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำฝนหลวง และด้านอุตุนิยมวิทยา เช่น ความรู้ด้านลักษณะของเมฆที่ทำให้เกิดฝน การติดตามสภาพอากาศ การวัดปริมาณน้ำฝน เป็นต้น รวมถึงความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสาร การข่าวประชาชน และหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าว จะทำให้อาสาสมัครฝนหลวงมีความรู้ ความเข้าใจในการทำฝนหลวง การให้บริการฝนหลวงในพื้นที่รับผิดชอบ และสามารถให้ความรู้แก่ชุมชนได้อย่างถูกต้อง เป็นการส่งเสริมกระบวนการ มีส่วนร่วมของประชาชนกับการให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ ที่จะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น

                จึงนับเป็นอีกกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อการทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะอาสาสมัครฝนหลวง จะมีหน้าที่ในการช่วยติดตาม สังเกตการณ์เมฆฝนในแต่ละพื้นที่ และส่งภาพเมฆกลับมายังศูนย์ เพราะกว่าเรดาห์จะจับภาพว่าเป็นเมฆฝน บางครั้งจะพ้นโอกาสในช่วงเมฆก่อตัว ทำให้ขาดโอกาสที่จะขึ้นไปเลี้ยงให้อ้วนเพื่อเพิ่มขนาดของเมฆ เพิ่มปริมาณน้ำฝนในเมฆได้ อาสาสมัครฝนหลวงจึงมีบทบาทตั้งแต่เริ่มต้นในการปฏิบัติการ และเมื่อปฏิบัติการทำฝนแล้วเสร็จ ก็จะช่วยตรวจว่าปริมาณฝนที่ได้มีปริมาณเท่าไหร่ อีกทั้งยังช่วยตรวจและติดตามการเพาะปลูกในพื้นที่ ช่วงเวลาของชนิดพืช และช่วงเวลาที่ต้องการฝน ส่งเป็นข้อมูลมายังกรมฝนหลวงฯ ทำให้การปฏิบัติงานตรงกับความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด จึงถือว่าอาสาสมัครฝนหลวงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำงานไปพร้อมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

                ในด้านการพัฒนาการให้บริการกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองฯ สุพิศบอกว่า กรมฝนหลวงฯ มีการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือโดยเฉพาะเครื่องบินในการทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพและสิ้นเปลืองงบประมาณน้อย รวมไปถึงนักบินต้องมีความปลอดภัยความเสี่ยงให้น้อยที่สุด

                เมื่อถามถึงการทำงานราชการและคุณสมบัติที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมี รองฯ สุพิศ ได้บอกอุดมคติและแนวความคิดเอาไว้ว่า “จุดเริ่มต้นจะต้องมีหลักของการดำเนินชีวิตจะต้องอยู่ในพื้นฐานของความเป็นจริง และไม่ควรคิดอะไรที่เกินเหตุและผลทางหลักวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ต้องมองชีวิตของตนอยู่บนพื้นฐานความจริง ซึ่งทำให้ดำเนินการต่างๆ ในชีวิตได้ถูกต้อง ขั้นตอนต่อมาคือการทำงานที่ต้องเข้าถึง เข้าใจหลักของกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง รวมถึงในการศึกษาระเบียบและดูข้อกฎหมายต่างๆ มติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เดินไปตามระเบียบวิถีปฏิบัติ จะส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาในการทำงานราชการ”

สำหรับแนวคิดสุดท้าย คือการทำงานในองค์กรอย่างไรให้มีความสุข เกิดการพัฒนา เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าเมื่อเราทำงาน ยกตัวอย่างเช่นการทำงานของกรมฝนหลวงฯ เมื่อการทำงานเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง ประชาชนก็ให้การยอมรับมากขึ้น

                “ในเรื่องของการทำงานราชการนั้น ต้องมีความอดทนที่จะประกอบอาชีพราชการ เนื่องจากอาชีพราชการหากเพิ่งเข้าใหม่หรืออายุยังน้อย ยังไม่มีใครไว้วางใจให้ทำภารกิจใหญ่ๆ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ เพื่อรอโอกาสที่จะทำงานใหญ่ ดังนั้นความอดทนจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากความอดทนแล้วก็ยังต้องมีการเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกฎระเบียบปฏิบัติของแต่]tหน่วยงาน ที่ต้องเข้าใจให้ท่องแท้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นนักบริหารที่ดีมีคุณภาพ ที่มีความเข้าใจบริบทนโยบายของผู้บริหารประเทศมอบหมายลงมาได้เป็นอย่างดี และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”รองฯ สุพิศ กล่าว

                สำหรับด้สนครอบครัว รองฯ สุพิศ มีบุตรอยู่ 2 คน ซึ่งทำงานรับราชการและเอกชนซึ่งรองสุฯ สุพิศ บอกว่า ได้ส่งต่อแนวคิดในการใช้ชีวิตที่ต้องอยู่ในความเป็นจริง และต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น สิ่งสำคัญต้องรักในบ้านเมืองของตนเอง และศรัทธาจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

“ผมสอนลูกเสมอว่า ถ้าชีวิตพ่อและชีวิตรวมถึงปู่ย่าตายาย ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว เราก็จะไม่มีวันนี้ ไม่มีบ้านอยู่หรือแผ่นดินที่จะอยู่ ผมจึงสอนลูกเสมอว่า สถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนา เป็นสถาบันที่เรายึดเหนี่ยว ทะนุถนอม และจงรักภัคดีด้วยจิตวิญาณของเราจริงๆ”รองฯ สุพิศ กล่าวในที่สุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...