ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ส.ก.กับเรื่องของงบประมาณ
31 ก.ค. 2565

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

ส.ก.กับเรื่องของงบประมาณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน คราวที่แล้วเราพูดถึงบทบาท ส.ก.ที่เพิ่งเข้าไปทำงานได้สักสองเดือนชุดนี้เป็น ส.ก.ชุดที่ 13 ของสภากรุงเทพมหานคร สังเกตจะเป็นคนรุ่นใหม่พอสมควร จะมีคนเก่าๆ แซมบ้างประปราย ก็คงเป็นยุคของนักการเมืองรุ่นใหม่แล้วครับ ก็หวังว่าท่าน ส.ก.รุ่นใหม่คงจะได้ถอดบทเรียนการทำหน้าที่การเมืองที่ผ่านมาได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ เดิมที่ผ่านมา สมาชิกจะทำหน้าที่ทั้งที่ กทม.1 เสาชิงช้าและที่ กทม. 2 ที่ดินแดง เรียกอาคารชื่อเพราะพริ้งเลยครับ “ไอราวัตพัฒนา”

ต่อไปเจ้าหน้าที่คงจะย้ายไปอยู่ที่ดินแดงกันเกือบหมด ก็ยกความดีความชอบให้กับฝ่ายการเมืองทั้งนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารชุดที่แล้ว ที่ได้เร่งรัดการก่อสร้างจนเกือบสมบูรณ์ ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับว่า ทั้งตึกธานีนพรัตน์ที่ฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่อยู่ และตึกไอราวัติพัฒนาของฝ่ายสภากว่าจะเสร็จปาเข้าไปกว่ายี่สิบปีครับ วันนี้ก็ยังที่ก่อสร้างเพิ่มเติมอีกพอสมควร ส.ก.ชุดที่แล้วยังมีโอกาสเข้าไปทำงานร่วมสองปีครับ

คราวนี้ขอพูดถึงหน้าที่ของ ส.ก.เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ตามข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานครปี 2562 แก้ไขเพิ่มเติม 2563 โดยเฉพาะช่วงนี้ บรรดา ส.ก.ทั้งห้าสิบคน ก็ต้องไปพิจารณางบประมาณ กทม.ปี 2566 ซึ่งฝ่ายบริหารเสนอเข้าสภาปี 2566 ใกล้เคียงกับปี 2565 ส.ก.ท่านก็เลือกลงคณะกรรมการชุดต่างๆ ร่วมสิบสองชุด ทราบว่าชุดแรกแต่งตั้งกันไปแล้ว คือคณะกรรมการตรวจรายงานการประชุม หลังจากนั้นเป็นการเลือกอยู่ในคณะต่างๆ เช่น คณะกรรมการการศึกษา คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง และ ส.ก.แต่ละท่านก็จะลงไปดูงานโครงการ กิจกรรมต่างๆ ของสำนัก เขตที่รับผิดชอบ ในแต่ละปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานคล้ายกับ ส.ส.เหมือนกัน และเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ก็เป็นช่วงที่ ส. ก.ต้องลงไปดูงบประมาณโครงการต่างๆ โดยมีการพิจารณาสามวาระเช่นทั่วไป

เมื่ออภิปรายในวาระแรก ถ้าสมาชิกเสนอญัตติขอให้ปิดอภิปรายก็ดี ขอให้ลงมติว่า จะรับหลักการหรือไม่ก็ดี หรือส่งให้คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาก่อนรับหลักการก็ดี ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าสี่คน เมื่อรับหลักการในวาระแรกแล้วจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ซึ่งเป็นเรื่องของ ส.ก.และฝ่ายบริหารเป็นองค์คณะ ขึ้นพิจารณาโครงการต่างๆ ว่า เป็นไปตามข้อบัญญัติวิธีการงบประมาณอย่างไร อะไรควรให้ ควรตัด ควรปรับลดบ้าง ซึ่งก็จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมมการแต่ละชุด โดยมีบุคคลภายนอกไปช่วยกันดูร่วมกับ สงก.ในแต่ละคณะอนุกรรมการด้วย

และถ้าผู้ว่าฯ หรือ ส.ก.คนใดที่มิได้เป็นกรรมการวิสามัญประสงค์ จะขอแปรญัตติร่างข้อบัญญัติงบประมาณ ให้เสนอคำแปรเป็นหนังสือต่อประธานกรรมการวิสามัญภายในเวลาที่กำหนด ถ้าสมาชิกเสนอต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าสี่คนเช่นกัน และ ส.ก.จะไปแปรญัตติเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนในรายการเดิมขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่อาจแปรญัตติในการลดรายจ่ายได้ เว้นแต่ผู้ว่าฯ อาจเสนอแปรญัตติตั้งรายจ่ายขึ้นใหม่ หรือเพิ่มจำนวนในรายการเดิมได้ภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่ท่าน ส.ก.ก็ต้องระวังบ้างนะครับว่า ในการพิจารณาร่างจะทำประการใดที่มีผลทำให้สมาชิกหรือกรรมการวิสามัญมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้จ่ายงบประมาณไม่ได้ เช่น ไปของบเข้าพื้นที่ตัวเอง แล้วไปมีผลประโยชน์กับงานโครงการนั้นๆ ในภายหลัง มันมีโทษทั้งถอดถอนทั้งอาญาได้นะครับ

นอกจากนี้ การแปรญัตติในรายการและจำนวนเงิน ซึ่งมีข้อผูกพันในเรื่องเงินส่งใช้ต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งทำไม่ได้ด้วยนะครับ ในวาระแรก วาระสอง มีการอภิปราย แต่วาระสาม ยกมือให้ไม่ให้อย่างเดียว จะไม่มีการอภิปรายกันอีก ทีนี้ก็ถึงขั้นออกเสียงลงคะแนน ซึ่งก็ใช้วิธียกมือ และสภา กทม.ก้าวหน้า โดยวิธีเสียบบัตรด้วย สภา กทม.ทันสมัยนะครับ แต่อย่าเสียบบัตรแทนกันเท่านั้น เคยมีปัญหากันมาแล้วถึงขั้น ป.ป.ช.ชี้มูลนะครับ ซึ่งการลงคะแนนเป็นตอนสำคัญที่สมาชิกต้องครบองค์ประชุม ดังนั้ นก่อนลงคะแนนประธานสภาก็จะตรวจสอบองค์ประชุมว่า สมาชิกครบหรือไม่

ความจริงในข้อบังคับเรื่องการลงคะแนนมีรายละเอียดอีกมาก ท่านที่เป็น ส.ก.ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนด้วยนะครับ ญัตติใดไม่มีปัญหาอาจไม่มีอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญอาจเป็นประเด็นกันได้นะครับ เขาถึงต้องพยายามเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุมทุกครั้ง การออกเสียงจะมีการออกเสียงเปิดเผยและลงคะแนนลับ การลงคะแนนเปิดเผยก็มีหลายวิธี เช่น ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน ยกมือขึ้นพ้นศรีษะ เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรหรือวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร ส่วนใหญ่ก็ใช้ยกมือกันถ้าต้องการรวดเร็ว แต่ ส.ก.ชุดที่แล้วใช้เสียบบัตรมากขึ้นครับ

สำหรับการลงคะแนนลับก็ใช้หลายวิธี เช่น ใช้เครื่องออกเสียง เขียนเครื่องหมายบนกระดาษใส่ซอง ตามที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเลือกประธานสภา ถ้ามีการแข่งขันกันสูง และการลงคะแนนลับต้องมี ส.ก.ไม่น้อยกว่าคนเสนอญัตติขอให้ออกเสียงลงคะแนนลับในการออกเสียง ถ้าคะแนนเท่ากันคราวนี้เป็นเรื่องของประธานสภาแล้วครับที่เป็นคนออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงชี้ขาด และการออกเสียงประธานสภาชี้ขาดนั้น ต้องลงโดยเปิดเผยครับ แต่จะให้เหตุผลหรือไม่ก็ได้ การลงคะแนนโดยเปิดเผย ถ้าใครอยู่นอกห้องประชุม แต่ถ้าประธานยังไม่สั่งปิดการออกเสียงก็รีบเข้าไปก่อนนะครับ

ส่วนการลงคะแนนลับ ให้ลงได้ก่อนการสั่งให้นับคะแนน เมื่อนับเสร็จประธานก็จะประกาศมติต่อที่ประชุมทันที ถ้ามีการนับคะแนนผิด ถ้าสมาชิกเชื่อว่านับผิด ก็สามารถขอให้นับใหม่ได้โดยมีสมาชิกไม่น้อยกว่าสี่คนรับรอง เว้นแต่สภาจะไม่ให้นับใหม่ ครับเห็นว่าใกล้พิจารณางบประมาณ กทม.เลยเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...