ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ผศ.(พิเศษ)ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
04 ส.ค. 2565

                ปัจจุบันมีองค์กรรวมศูนย์ที่เป็นตัวแทนและปากเสียงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 สมาคม คือ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย แต่ละสมาคมล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างความสามัคคี เพิ่มบทบาทการทำงานให้กับของท้องถิ่น เพื่อตอบสนองต่อทิศทางการกระจายอำนาจ ทำให้ “ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประชาชนเป็นสุข”

                อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับ“ผศ. (พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา”นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ผู้ที่ก้าวเข้ามาเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อน สมาคม อบต.ให้เติบโตเป็นปึกแผ่น โดยสร้างพลังความสามัคคีในมวลหมู่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศที่มีจำนวนกว่า 7 พันแห่ง ภายใต้สถานการณ์ที่คนท้องถิ่นและพรรคการเมือง ต่างเรียกร้องและมีนโยบายที่จะส่งเสริมการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง

                ผศ. (พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดาปัจจุบันคำรงค์ตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม อ.คลองหลวง จ.ประทุมธานีเกิดเมื่อ10 พฤษภาคม 2508 ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม พ่อเป็นสารวัตรกำนัน จบประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนเซกา อ.เซกา จ.หนองคาย  และจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร อ.เมือง จ.หนองคาย จากนั้นได้เข้าไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง ในปี 2534  จบระดับปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ปี 2546  และจบระดับปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยอีสเทริ์นเอเชีย ปี 2554 

                ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง “ดร.วิระศักดิ์”สนใจงานการเมืองมาโดยตลอด เพราะมองว่าการเมืองคืออนาคตของตนเองและประเทศชาติ เมื่อจบออกมาได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในพื้นที่ตำบลคลองสาม ได้ทำงานภาคประชาชนร่วมกับชาวบ้านมานาน จากนั้นจึงได้ลงสมัครเป็นนายก อบต.คลองสาม เพราะความสนใจงานการเมืองที่เป็นทุนเดิมแล้วอีกทั้งมีความุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนที่ตัวเองเข้ามาอยู่อาศัย ให้มีความเจริญ และต้องการที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่หันมาร่วมแรงร่วมใจกัน พัฒนาท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

“การลงเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งแรก ผมบอกกับพี่น้องประชาชนว่า ผมจะพัฒนาคลองสามให้ดีขึ้นกว่าเก่า ทั้งด้านสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิตของชาวคลองสาม พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะของประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ การลงเลือกตั้งนี้เท่ากับว่าผมได้เรียนรู้และฝึกพัฒนาจิตใจไปด้วย โดยยึดถืออุดมคติว่า “จิตใจที่ดีและการมีจิตอาสาต้องมาก่อน”นอกจากนี้ผมถือว่า “ความรู้ต้องคู่คุณธรรม” และนำความดีสากลมาเป็นบทฝึกฝนในการเริ่มเข้าสู่สนามการเมืองครั้งนั้นจนได้รับชัยชนะได้รับเลือกเป็นนายก อบต.คลองสาม ครั้งแรกเมื่อ วันที่ 30 มีนาคม 2547”

                หลังจากได้ชัยชนะในครั้งแรก “ดร.วิระศักดิ์” หันมาทำงานบริหารงานท้องถิ่นอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณะนูปโภค สาธารณูปการในแต่ละครั้ง จะยึดโยงกับความต้องการของประชาคมท้องถิ่น รวมถึงความความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ จากผลงานที่ปรากฏ เป็นเหตุให้“ดร.วิระศักดิ์” ได้รับชัยในการเลือกตั้ง นายก อบต.คลองสาม สมัยที่ 2 ( 8 พฤศจิกายน 2550 - 29 กันยายน 2554) และสมัยที่ 3 ( 22 มกราคม 2555 - 30 กันยายน 2564) รวมถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็ได้รับเลือกเป็น นายก อบต.คลองสาม เป็นสมัยที่ 4 ( 28 พฤศจิกายน 2564 - ปัจจุบัน)

ดร.วิระศักดิ์บอกถึงผลงานการพัฒนา อบต.คลองสามที่ผ่านมาว่า มีผลงานต่างๆ มากมาย ไฟฟ้า ถนนหนทาง แหล่งน้ำได้รับการดูแลอย่างดี ผลงานที่โดดเด่น  คือ การจัดฝึกอบรม อปพร. ตำบลคลองสาม จำนวน 15 รุ่น จำนวน 1,500 คน นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการทบทวน อปพร. ตำบลคลองสาม อย่างต่อเนื่องปีละ 1 ครั้ง  การจัดอบรมให้ความรู้ซ้อมแผนดับเพลิงและการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัยให้แก่บุคลากรและประชาชนในเขตตำบลคลองสาม และมอบถังดับเพลิงให้ชุมชนการทำ MOU ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1169 ในการจัดตั้งศูนย์กู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ตำบลคลองสาม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ตำบลคลองสาม  การจัดกิจกรรมรณรงค์ และจัดอบรมการเฝ้าระวังโรคระบาดต่างๆ ในตำบลคลองสาม อีกทั้งยังได้มอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้กับ อบต.คลองสาม เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยในพื้นที่ตำบลคลองสามและพื้นที่ใกล้เคียง

“เมื่อโควิด-19 ระบาด สถานพยาบาลของรัฐแออัดมาก ผมจึงได้จัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 และตั้งโรงพยาบาลสนาม อบต.คลองสาม เพื่อรองรับชาวคลองสามที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรม/โครงการ สปสช. ตำบลคลองสามโดยให้ประชาชนในพื้นที่เสนอโครงการเพื่อดำเนินงานในตำบลคลองสาม จำนวน 95 โครงการในปี พ.ศ. 2564 - 2565 นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” ในพื้นที่ตำบลคลองสาม  จัดฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติตำบลคลองสาม และจากผลงานต่างๆ นี้ ทำให้ อบต.คลองสามได้รับรางวัล อบต. ดีเด่น “ด้านการบริหารจัดการดีเด่น” 3 ปีซ้อน ติดต่อกัน โดยได้รับโล่จากนายกรัฐมนตรี”

อย่างไรก็ตามในการทำงานบริหารคนและงบประมาณกับความต้องการของประชาชน ย่อมเจอกับอุปสรรคและปัญหาอยู่บ้างแต่เมื่อเกิดความเครียด“ดร.วิระศักดิ์”ก็จะใช้เวลาว่างเพื่อการผ่อนคลาย เช่น เล่นฟิตเนส ฟุตบอล กับพี่น้องประชาชน ที่สนามกีฬาคลองสาม บางวันก็จะออกไปเยี่ยมเยือนพบปะผู้นำชุมชนและนิติบุคคลหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลคลองสาม เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุย รับฟังปัญหาความเดือนร้อน รวมทั้งการถ่ายทอดสด ผ่าน Facebook Live ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์  ในรายการ“นายกแดงพบประชาชน” ซึ่งนอกจากจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้องชาวคลองสามแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ร้องเพลงสนุกสนานไปด้วย

ดร.วิระศักดิ์ เล่าย้อนไปถึงการเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทยว่า ในการประชุมวิชาการ อบต.ทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 2 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ6 พฤษภาคม 2565 บรรดานายก อบต.จาก 76 จังหวัด ที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น ได้มีมติเลือกตนเองให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ เพื่อให้เข้าไปเสริมสร้างสมาคม อบต.แห่งประเทศ ให้เป็นปากเสียงของคน อบต.อย่างแท้จริง สำหรับตนเองแล้วที่เข้ามารับตำแหน่งก็เพราะต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง จัดระบบการทำงานของสมาคมฯ เสียใหม่ให้สามารถขับเคลื่อนและเข้าถึงคน อบต.ทั่วประเทศ โดยชูการทำงานที่ไม่อิงแอบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะประสานความร่วมมือกับพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องประสานความร่มมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมท้องถิ่นอื่นๆ ด้วย

เนื่องจาก ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนอยู่มาก กฎหมาย และกฎระเบียบท้องถิ่นหลายฉบับจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือว่า กฎหมายบางฉบับที่นักการเมืองจะเข้าไปแก้ไข หากสมาคมฯ เห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม เราก็ต้องออกมาทักท้วง อย่างเช่น การนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องที่ว่าด้วยการเข้าชื่อเพื่อตรวจสอบและถอดถอนนายกท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น สมาคม อบต.เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะกฏหมายว่าด้วยการถอดถอนสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่น มี พ.ร.บ.ปกครองท้องถิ่นครอลบคลุมดีอยู่แล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ.ที่ออกมาใหม่ กระบวนการถอดถอนนั้น ให้อำนาจข้าราชการประจำมากเกินไป แทนที่จะเป็นอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

“สมาคมฯจึงได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังกรรมาธิการท้องถิ่นสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการท้องถิ่นวุฒิสภา อีกทั้งยังได้ทำหนังสือคัดค้านไปยัง สส.และหัวหน้าพรรคการเมือง เรามีการแถลงข่าวคัดค้านที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้สิ่งที่ผู้บริหารท้องถิ่นกังวลใจ นอกจากนี้สมาคม อบต.ยังได้ผนึกกำลัง 3 สมาคมของคนท้องถิ่น เพื่อคัดค้านอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้ทราบว่า หัวหน้าพรรคการเมือง และ สส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเห็นด้วยกับสมาคมฯ และมีการอภิปรายในสภา โดย สส. ของพรรคเศรษฐกิจไทย ในเร็วๆ นี้”

ดร.วิระศักดิ์ มองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีกฎหมายบริหารงานบุคคลฉบับเดียวกันทั้งหมด ขณะเดียวกันองค์กรภาครัฐที่จะมาควบคุม ดูแล สนับสนุนการบริหารงานท้องถิ่น ควรจะเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ที่ขึ้นตรงต่อ “นายกรัฐมนตรี” หรือผู้นำสูงสุดของรัฐบาล มิใช่ขึ้นตรงต่อ “ข้าราชการประจำ” ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง นอกจากนี้จะต้องแก้กฎหมายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่แท้จริง มิใช่ลูกผีลูกคนอย่างทุกวันนี้

ส่วนบทบาทในหน้าที่นายกสมาคม อบต. นอกจากการจัดโครงสร้างสมาคมให้เข้มแข็งโดยให้มีตัวแทนสมาคมของแต่ละภาคแล้ว “ดร.วิระศักดิ์” ก็ได้ออกเดินสายไปเยี่ยมนายก อบต.ในแต่ละพื้นที่ ทุกภูมิภาค เพื่อสร้างความรัก ความเข้าใจอันดีต่อกัน เพราะในยุคนี้ ท้องถิ่นต้องการความเปลี่ยนแปลงจากภารกิจที่ท้าทายอีกมากมาย รวมถึงการตรวจสอบ จับผิด ของ สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท. ที่เพ่งมองไปยังท้องถิ่นเป็นพิเศษเนื่องจากมีระเบียบ ขั้นตอน และกฏหมายมาเกี่ยวข้องกับการทำงานของท้องถิ่นหลายฉบับ คนท้องถิ่นต้องเข้าใจในตัวบทกฎหมาย อำนาจหน้าที่  ต้องกล้าคิด กล้าทำ และสามัคคีกันให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ ยกระดับความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งร่วมผลักดันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นในเรื่องของทิศทาง นโยบาย แนวคิด ในการกระจายอำนาจ อันจะทำให้การบริหารท้องถิ่นเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่มีอะไรผิดพลาด และเพื่อสร้างประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น อย่างแท้จริง

“เรามีการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ บ่อยครั้ง อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้คณะกรรมการได้ช่วยกันเเสดงความคิดเห็น เพราะในการแก้ไขปัญหานั้น ลำพังเราเพียงคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กรรมการบริหารสมาคมและคนท้องถิ่นจะต้องร่วมมือกัน ความสำเร็จก็จะปรากฎในวันข้างหน้า”ดร.วิระศักดิ์ กล่าวในที่สุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...