โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
มังกรจะครองอวกาศ
โลกนั้นเล็กเกินไปที่จะคิดครอบครอง !?!
สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช จอมกษัตริย์กรีกโบราณแห่งราชอาณาจักรมาเกโดเนีย เคยสร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ไพศาลตั้งแต่กรีซไปจนถึงทางตะวันตกของอินเดีย ถ้าไม่เจ็บป่วยจนเสียชีวิตไปก่อนก็คงจะนำกองทัพบุกตะลุยต่อเพื่อตามหา “จุดสิ้นสุดของโลก” ตามที่เรียนรู้จาก “อริสโตเติ้ล” นักปราชญ์ที่เป็นอาจารย์
สมัยเจงกิสข่าน หรือ “เตมูจิน” จักรพรรดินักรบผู้ตั้งจักรวรรดิมองโกลที่แผ่อำนาจปกครองดินแดนไปกว่าค่อนโลก ตั้งแต่ทะเลเหลืองริมฝั่งจีน ไปจรดแม่น้ำดานูบในยุโรป
สมัยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หัวหน้าพรรคนาซีที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยรมนีที่ต้องการสร้างอาณาจักรไรซ์ที่สาม ต้องการจัด “ระเบียบโลกใหม่” ในยุคนั้น เพื่อหวังครอบครองทวีปยุโรปโดยสมบูรณ์ จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
มาถึง คศ.2022 ที่ประชากรโลกกำลังจะแตะ 8,000 ล้านคน มีการแบ่งแยกเขตแดนกันมากถึง 193 ประเทศแล้ว แต่ก็ยังมีผู้นำมหาอำนาจหลงยุคบางคนบางจำพวกที่คิดว่า ตนเองยังสามารถปกครองโลก ยังสามารถกดรีโมทควบคุมดินแดนต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อตักตวงผลประโยชน์อย่างสมัยอดีตหรือยุคโบราณได้
แต่สำหรับ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานผ่านราชวงศ์ต่างๆ นับพันปี ที่เพิ่งสถาปนาจีนใหม่ไม่ถึง 100 ปี ที่ประชากร 1,400 ล้านคน เพิ่งก้าวข้ามเส้นยากจนแค่ไม่กี่ปี ได้เรียนรู้ว่า โลกใบนี้ไม่ได้มีไว้ให้ใครครอบครองนอกจากการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
แต่ภายนอกโลกเหนือฟ้าขึ้นไปในอวกาศ และลึกเข้าไปในห้วงอวกาศ คือพื้นที่ที่ยังไม่มีใครจับจอง ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ คือแหล่งทรัพยากรไร้ขีดจำกัด
จีนเคยวางยุทธศาสตร์อวกาศไว้ 3 ขั้น
ขั้นแรก สร้างเครือข่ายดาวเทียม “เป่ยโต่ว” (BDS) หรือระบบระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่สำเร็จสมบูรณ์เมื่อกลางปี 2020 สู้กับระบบ GPS ของอเมริกา ให้บริการแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ การจราจรทางบก เรือ อากาศ การพยากรณ์อากาศ จนถึงด้านการทหารที่ใช้สอดแนมศัตรูหรือใช้นำวิถีขีปนาวุธพิสัยไกลได้ ในเชิงยุทธศาสตร์จีนจะใช้ประโยชน์สัญญาณดาวเทียมกับชาติพันธมิตรบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่
ขั้นสอง ตั้งสถานีอวกาศที่อยู่ในวงโคจรโลกอย่างถาวร “เทียนกง” ภายในปี 2022 ซึ่งสหรัฐอเมริกาบอกว่า เป็นภัยคุกคาม องค์การ NASA หวาดระแวงการสูญเสียความเป็นผู้นำ เพราะจีนจะเปิดความร่วมมือกับ 23 องค์กร จาก 17 ประเทศ เพื่อทำการทดลองวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ในสถานีอวกาศ
ขั้นสาม การสำรวจลึกในอวกาศ เช่น การส่งยานลงสำรวจดาวอังคารที่อยู่ห่างไกลถึง 55 ล้านกิโลเมตร ก็บรรลุเป้าหมายแล้วตั้งแต่ต้นปี 2021 ภายในปี 2030 จีนจะส่งมนุษย์อวกาศไปลงดวงจันทร์ รวมทั้งการส่งยานสำรวจไปเก็บตัวอย่างหินจากดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีด้วย
จีนมีองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ที่ตั้งงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาด้านอวกาศ แต่ก็เปิดเสรีด้านอุตสาหกรรมอวกาศให้แก่บริษัทเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีลงทุนในกิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ถึงปีละกว่าหมื่นล้านหยวน โดยจีนมีเป้าหมายในการดูแลผลประโยชน์ของชาติจากฟากฟ้า
จีนสนใจพัฒนากิจการอวกาศในแทบทุกด้าน โดยมีแรงจูงใจทางการเมืองผลักดัน มีทรัพยากรมากพอที่จะสนับสนุนโครงการต่อเนื่องระยะยาว โดยหวังโอกาสในการค้นหาแร่ธาตุหายากอย่างเช่นลิเทียม หรือแร่ธาตุใหม่ที่ไม่เคยปรากฏบนพื้นโลก
ต่างชาติทั้งขาแซะและขาอิจฉามองว่า จีนไม่ได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนโครงการอวกาศเพื่อค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างที่เอยอ้าง แต่เพียงหวังใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อชาวโลก
พูดและคิดยังกับหนังเรื่อง Capricorn 1 แผนลวงโลก ที่รัฐบาลอเมริกาหลวงคนทั้งโลกว่า ส่งมนุษย์อวกาศไปลงดาวอังคารสำเร็จ ทั้งๆ ที่แอบถ่ายหนังอยู่นอกเมือง
นักวิชาการฝั่งตะวันตกโจมตีจีนว่า พัฒนาด้านอวกาศเพื่อการสร้างภาพโชว์โก้ว่ายุคนี้อาตี๋อาหมวยใส่ชุดอวกาศขี่จรวดออกไปท่องนอกโลกได้แล้วแค่นั้น แต่ DNA ของจีนคือเรื่องการค้า มีการลงทุนต้องมีกำไรกลับคืน อาจจะไม่ทันทีในวันนี้ก็สามารถรอยาวในวันข้างหน้า
แม้จีนจะเป็น “น้องใหม่สายอวกาศ” แต่พัฒนาการของจีนมาแบบ C&D คือ ก๊อปปี้และพัฒนา จึงรวดเร็วและก้าวกระโดดจนสามารถแซงหน้าโลกตะวันตกผู้ที่เคยนั่งวิจัยมาก่อนนับสิบปี บัดนี้จีนได้เปิดยุคสมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์อวกาศไปแล้ว
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2021 จีนทำ MOU กับรัสเซียจะผนึกกำลังสร้าง “สถานีอวกาศบนดวงจันทร์” โดยเปิดโอกาสให้ทุกประเทศเข้าร่วมทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์
บนพื้นโลกจีนได้สร้าง “ดวงจันทร์ประดิษฐ์” ประสบความสำเร็จในการสร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” เพื่อผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต
บนอวกาศจีนคิดการใหญ่ถึงขั้นจะสร้าง “สถานีไฟฟ้าบนอวกาศ” เพื่อขายไฟฟ้าแก่ชาวโลก ด้วยทฤษฎีเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศโดยดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ ( SPS ) แล้วแปลงเป็นคลื่นไมโครเวฟ ส่งผ่านชั้นบรรยากาศไปยังเครื่องรับบนพื้นผิวโลก
“เราหวังยกระดับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้พลังงานที่สะอาดอย่างไร้ขีดจำกัด” นักวิชาการชาวจีน กล่าว
แน่นอนว่า สไตล์จีนอันไหนที่คุยโม้ได้ก็ต้องโม้ให้เห็นการพัฒนา ความเจริญก้าวหน้าของตน เมื่อลงทุนลงแรงไปตั้งเยอะแล้ว
และผู้นำจีนรู้ดีว่า โครงการอวกาศจะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนให้จีนได้รับการยอมรับในฐานะ “มหาอำนาจโลก” โดยไม่ต้องยกกองทัพไปข่มขู่รุกรานใคร
พญาอินทรี (แก่ๆ) ที่หลงตัวเองว่า บินสูงแล้วคิดหวังแต่จะครองโลกใบเก่า ยังระแวงชาติที่กำลังพัฒนาเติบโต ยังคิดได้แค่สร้างสงครามเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์
แต่สำหรับพญามังกรที่ดั้นเมฆมานานรู้ดีว่า เหนือฟ้ายังมีอวกาศให้ครองแบบไร้ขอบเขตโดยไม่ต้องแย่งชิงกับใคร