โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
อินเดียจะแซงจีน
องค์การสหประชาชาติ (UN) เคยคาดหมายว่า อินเดียจะมีประชากรมากกว่าประเทศจีนภายในปี 2027 แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกว่า ภายในปีหน้า ค.ศ. 2023 อินเดียจะปาดหน้าจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก หลังจากที่จีนยึดครองตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 200 ปี
พรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศให้จีนเป็น สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ 1949 เริ่มนับ 1 ในการพัฒนาจีนใหม่ ปีนั้นn จีนมีประชากรเพียง 540 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากแล้ว
อินเดีย ประกาศเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 หลังจากมหาตมะ คานธี นำชาวอินเดียต่อสู้เรียกร้องเอกราชมาอย่างยาวนาน ในปีนั้นอินเดียมีประชากรเพียง 350 ล้านคน ตอนนั้นประเทศแทบไม่เหลืออะไร เพราะถูกเจ้าอาณานิคมดูดทรัพยากรและกอบโกยความมั่งคั่งกลับไปเกาะอังกฤษ ภาคเอกชนอินเดียแทบไม่มีพลังในการผลิต
อินเดียต้องปิดประเทศเพราะไม่มีเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าสินค้า มาเปิดประเทศอีกทีในปี 1991 จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 891ล้านคน ขณะที่จีนเพิ่มเป็น 1,151 ล้านคน
มาถึงปี 2021 ประชากรอินเดียเพิ่มเป็น 1,412 ล้านคน หายใจรดต้นคอจีนที่ขยับเป็น 1,426 ล้านคน เพราะประชากรจีนมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จึงมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2050 อินเดียจะมีประชากรจำนวน 1,668 ล้านคน ขณะที่ประชากรจีนอาจจะเหลือเพียง 1,317 ล้านคน
สาเหตุเพราะที่ผ่านมา ชาวอินเดียไม่ยอมรับมาตรการคุมกำเนิด ว่ากันว่ามีลูกครอบครัวละ 5 คน โดยเฉลี่ยจึงมีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่จีนเคยเผชิญวิกฤติด้านความยากจน เคยขาดแคลนอาหารถึงขนาดอดตายนับสิบล้านคน รัฐบาลจีนในอดีตจึงต้องออกนโยบายให้ครอบครัวมีลูก 1 คน เพื่อควบคุมจำนวนประชากร
มาตรการ “ลูกคนเดียว” ของจีนได้ผลในการลดอัตราเด็กเกิดใหม่ในสช่วงหลายสิบปี จนโครงสร้างประชากรเปลี่ยนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เมื่อจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขจัดความยากจน กินดีอยู่ดีขึ้น อายุยืนยาวขึ้น คนจีนสมัยใหม่แต่งงานช้าลง แต่งแล้วบางครอบครัวไม่อยากมีบุตรหรือขอมีแค่คนเดียว ต่างกับในอดีตที่รีบแต่งงานรีบผลิตลูกเยอะๆ เพื่อเอามาช่วยกันทำมาหากินและเพื่อสืบสกุล
รัฐบาลจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถดูแลประชากร 1,400 ล้านคน ให้มีอยู่มีกิน และกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้เพราะเชื่อกันว่า อาศัยระบบสังคมนิยมและความเด็ดขาดในช่วง 73 ปีของจีนใหม่
แต่อินเดียที่ใช้ระบบประชาธิปไตย เพิ่งหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาแค่ 75 ปี รัฐบาลอินเดียบริหารจัดการอย่างไร
ที่ผ่านมา อินเดียมีปัญหาประชากร 15% ยังยากจนและอดอยาก สังคมอินเดียยังคงอยู่กับการแบ่งชนชั้นและวรรณะ ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนจำนวนมากยังขาดแคลนที่อยู่อาศัย จึงปรากฎภาพสลัมขนาดใหญ่ และสลัมใหม่ๆ ยังเกิดเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนกลุ่มน้อยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน เป็นอภิมหาเศรษฐี อยู่กินยิ่งกว่าราชา
แต่ “ในวิกฤติย่อมมีโอกาส” เพราะการอยู่ภายใต้การปกครองอังกฤษยาวนานทำให้คนอินเดียเก่งเรื่องภาษาอังกฤษ คนอินเดียจำนวนไม่น้อยไปทำมาหากินที่อังกฤษและนานาประเทศ
ขณะเดียวกัน อินเดียกลายเป็นฐานให้บริการ Outsourcing Call Centers สำหรับลูกค้าของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
ในประชากรอินเดีย 1,412 ล้านคนนั้น พบว่า เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่มีอายุเฉลี่ย 28 ปี จำนวนมากเกือบ 300 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นพลังทางเศรษฐกิจเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า และหากพิจารณาคนในวัยทำงานอายุ 15-64 ปี พบว่า มีมากถึง 900 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 67% ของประชากรรวม
เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับนโยบายของอินเดีย ชาติประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” คบหาได้ทุกประเทศ ยินดีจับมือกับสหรัฐอเมริกา แน่นแฟ้นกับอังกฤษที่เคยเป็นเจ้านายเก่า ทั้งอเมริกาและอังกฤษจึงให้การสนับสนุนอินเดียเพื่อหวังให้คานอำนาจจีน เน้นกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและเชิงกลยุทธ์
ขณะเดียวกันอินเดียก็ค้าขายกับรัสเซีย อาจจะมีเขม่นกับจีนบ้าง ทหารสองฝ่ายชกปากกันบ้างในปัญหาเรื่องพรมแดนแต่ก็ไม่ถึงประกาศเป็นศัตรู อินเดียกับจีนยังคงค้าขาย ยังร่วมกลุ่ม BRICS ที่คานอำนาจชาติตะวันตก
แม้ว่านี้จีนจะเป็นมหาอำนาจหมายเลข 2 นำหน้าอินเดีย เพราะ เติ้ง เสี่ยวผิง เปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติเมื่อ 40 ปีก่อน และบูมเอามากๆ ช่วง 20 ปีหลัง เทียบกับอินเดียที่เพิ่งเปิดประเทศเมื่อ 30 ปีก่อน แต่อินเดียก็ไม่ด้อยในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ มีการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์มานาน มีอุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์ อุตสาหกรรมรถยนต์ก็มีแบรนด์ของตนเองอย่าง TATA และ Mahindra
นโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (Belt and Road Initiative) ทำให้จีนแผ่ขยายอิทธิพลไปหลายทวีป แต่อินเดียก็ยินดีที่จะร่วมแข่งขันกับจีนในตลาดแอฟริกาและตลาดเมียนมาร์ ยังต้องชิงความเป็นใหญ่ด้านกองทัพเรือในมหาสมุทรอินเดีย
วันนี้จีนยังปิดประเทศเพราะต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนยังใช้นโยบาย Zero Covid ควบคุมการเข้าออกประเทศ แต่อินเดียกล้าเปิดประตูให้เข้า-ออก นักท่องเที่ยวอินเดียจึงเริ่มออกท่องโลก กลายเป็นชาติผู้นำการท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่มาไทยและอีกหลายๆ ประเทศ
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยประกาศจะสร้าง “อินเดียใหม่” (New India) ภายในปี 2022 แต่เจอโควิดทำให้เป้าหมายคลาดเคลื่อน แต่ความฝันยังไม่จบในการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จะพัฒนาเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เป้าหมายระยะยาวของอินเดียคือวาระครบ 100 ปี ฉลองเอกราชของอินเดียในปี 2047 ที่เรียกว่า “อมฤตกาล” (Amrit Kaal) ที่มุ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท สามารถพึ่งพาตนเองแทนการนำเข้าสินค้า และเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมป้อนตลาดโลก (Make in India)