ในปัจจุบันอย่างที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีนั้นก้าวล้ำหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ วัน พร้อมกันนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจการค้าขายออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TDA เคยเปิดเผยผลการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2563 เท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 2564คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็น 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 6.11 จากปี 2563 โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมปี 2560 ถึง 2564 อยู่ที่ร้อยละ 9.79
ดังนั้น การค้าขายออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องถึงในอนาคต วันนี้ อปท.เชิญเป็นแขกจึงยากจะขอแนะนำบุคคลผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย โดยแขกในวันนี้ก็คือ คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ หรือ คุณมิ้นหนึ่งในผู้หญิงแกร่งและเป็นสตรีคนแรกที่ขึ้นมานั่งแท่นนายกสมาคมสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยหรืออีคอมเมิร์ซแห่งประเทศไทย ด้วยประสบการณ์การค้าออนไลน์คร่ำหวอดมากกว่า 10 ปี จนกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนE-commerce ประเทศไทยในปัจจุบัน
คุณมิ้น หรือนางสาวกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้เล่าพื้นเพให้ฟังว่า เธอเกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีก่อนที่จะมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่ออายุได้8 ขวบ การศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้วระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ที่เรียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์ต่างประเทศ หลังจากนั้นก็ได้ทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ไปเรียนที่ National University of Singapore (NUS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในเอเซียทั้งการเมืองการปกครอง (Political Science)และก็ด้านธุรกิจ (Business) รวมไปถึงด้านจิตวิทยา(Psychology) ก่อนที่จะกลับมาทำงานที่ไทย
อย่างไรก็ตาม หลังจากเรียนจบได้มีโอกาสไปทำงานกับองค์กรต่างประเทศ โดยการชักชวนของผู้บริหารชาวเยอรมันให้ไปทำงานที่ ลาซาด้า ประเทศไทย ในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์และพันธ์มิตรโดยได้เข้ามาทำที่ ลาซาด้า ตั้งแต่ยุคบุคเบิกที่เพิ่งมีอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยซึ่งคุณมิ้นได้เล่าถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานกับลาซาด้าให้ฟังว่า
“สาเหตุที่มาทำงานด้านนี้เนื่องจาก เป็นคนที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับด้านต่างประเทศ เรื่องเกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศพอได้เรียนเกี่ยวกับต่างประเทศ ทำให้มีความรู้สึกชอบเรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศ พอได้มาทำงานกับองค์กรระดับโลกอย่างลาซาด้า ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบที่จะทำงานกับต่างประเทศ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำงานกับลาซาด้า”
ตุณมิ้นยังได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในองค์กรต่างประเทศอีกว่า วัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต่างประเทศจะมีความแตกต่างกับในประเทศไทย โดยรูปแบบการทำงานของบริษัทต่างประเทศจะมุ่งเน้นการทำงานแบบตรงไปตรงมา ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำงานที่ชอบมาก แต่ในส่วนที่ต้องมีการปรับตัวจากประสบการณ์ส่วนตัวคือเวลาในการทำงาน เนื่องจากบริษัทต่างประเทศทำงานเกือบ 20 ชั่วโมงต่อวัน ต่างจากในประเทศไทยที่ทำงานถึง 1 ทุ่ม – 2 ทุ่ม ก็เลิกทำงานแล้ว ต่างจากองค์กรในต่างประเทศที่มีต้องมีความพร้อมทำงานอยู่เสมอ ทำให้ตัวเองต้องมีความพร้อมที่จะรับมือตลอดเวลา บางครั้งงานหนักจนไม่สบายถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ทำงานที่ยอดเยี่ยม
หลังจากทำงาน ลาซาด้า แล้วก็ได้มาทำงานเป็นที่ปรึกษาผู้บริหารระดับสูงให้กับ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ รวมถึงยังได้ก่อตั้งบริษัทอีกมากมาย อาทิ บริษัทด้านไอที, บริษัทด้านธุรกิจเครื่องสำอางออนไลน์, บริษัทสปาที่มาเก๊า เขตปกครองพิเศษของประเทศจีนเป็นต้น จนเมื่อประมาณปี 2017-2018 ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและCEOของ Thailand e-Business Center (TeC) ซึ่งเป็นศูนย์ e-business แห่งแรกของไทย โดยทำหน้าที่เป็นโซลูชั่นช่วยขยายตลาดให้ธุรกิจเติบโตทั่วโลก พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการทั่วโลกเข้าสู่โลกออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ หรือธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
“เพราะในอดีตการค้าออนไลน์หรือ E-commerce ยังไม่ได้การยอมรับในวงกว้างเหมือนในปัจจุบันและเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการยอมรับ จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ บอกข้อดีข้อเสียเช่นดีกว่าไปซื้อสินค้าในร้านค้าปกติอย่างไร”
ดังนั้นบริษัทTeCจึงเหมือนเป็นสะพานเชื่อมธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างตลาดต่างประเทศ จีนและไทย ที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญของ TeCจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่มีอยู่ให้เป็นแรงงานดิจิทัล ในขณะที่เปลี่ยน SMEs และ Enterprises จากธุรกิจของตนให้เป็น e-Business ด้วยแนวคิดดิจิทัลและการบูรณาการความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงได้เป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำมากมาย รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือสมาคมอีคอมเมิร์ซและธุรกิจทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันก็มีลูกค้ากว่า 1,000บริษัทชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพร้อมทั้งการจัดอบรม เช่น Alibaba Master CEOExecutive Program หรือ หลักสูตรเพื่อผู้บริหารยุคใหม่ยอดนิยมจาก Alibaba Business School ศึกษาวัฒนธรรมองค์กรจาก Alibaba ในระยะเวลา 4-5 วันเต็ม ณ หางโจว ประเทศจีน โดยวิทยากรจาก Taobao University/ Alibaba Business School และกูรูที่ได้รับการถ่ายทอด e-DNA มาจาก Jack Ma หรือหลักสูตร The Digital Work Leader Program (ปัจจุบันรุ่นที่ 3) ที่มีเป้าหมาย ในการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ พร้อมชูแนวคิดการทำธุรกิจรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น
รวมถึงการพาผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจไปยังต่างแดนโดยเฉพาะในประเทศจีนส่วนหนึ่งที่ให้สำคัญกับตลาดประเทศจีนนั้น เนื่องจากเทรนด์อะไรที่เกิดขึ้นในจีนก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะการค้าขายรูปแบบ E-commerce
นอกจากนี้ การค้าออนไลน์จะถูกยกระดับอีกขั้นสู่สิ่งที่เรียกว่า Meta-Commerceหรือการค้าขายบนโลกเสมือนจริง เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม E-commerce ในอนาคต แต่ปัจจุบันเรายังคงอยู่ในขั้นของการขายของผ่านการ Live ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 และจะก้าวขึ้นไปถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 และเมื่อมีการค้าขายบนโลกเสมือน(Meta-Commerce) ก็จะสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์
“เทรนด์ธุรกิจเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ หรือธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย มีการเติบโตเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากปี 2022 ที่ตลาดมีมูลค่าถึง 817,000 ล้านบาท จากปี 2019 ที่มีมูลค่าเพียงเกือบ 200,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจของตลาดดังกล่าว”คุณมิ้นกล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
ด้านอุดมการณ์คุณมิ้นบอกต่อว่านอกจากการทำงานในหน้าที่ให้ตลาดผู้ประกอบการโตขึ้นยอดขายสูงขึ้นแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ “สังคมและชุมชน”ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีโอกาสทำกิจกรรม CSRทั้งการให้ความรู้กับนักศึกษา รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ดีขึ้นแม้แต่ช่วงที่โควิดระบาดรุนแรง สมาคมฯ ได้ช่วยไลฟ์แชร์ประสบการณ์แก่ประชาชนเพื่อสร้างทักษะด้านการค้าขายออนไลน์ เช่น ด้านการตลาดดิจิทัล ซอฟต์แวร์ และอีคอมเมิร์ซ เพื่อฝ่าฟันวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปให้ได้ นอกจากนี้ยังได้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายของภาครัฐ ในการขับเคลื่อนของอีคอมเมิร์ชประเทศไทยให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ประกอบการได้อีกด้วย
ด้านแนวคิดที่ทำให้เติบโตอย่างเข้มแข็งคุณมิ้นคติประจำใจในการสร้างพลังขับเคลื่อนชีวิตเสมอมา คือ“ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไปหัวใจสำคัญคือต้องรู้จักเรียนรู้ในความล้มเหลวและกล้าที่จะลุกขึ้นมาสู้ต่อ ประกอบกับเป็นคนมีบุคลิกไม่จมกับความล้มเหลว ดังนั้นเมื่อเกิดความล้มเหลวก็จะลุกขึ้นมาสู่ต่อเสมอ”
สำหรับวิถีที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน คุณมิ้นบอกว่า ได้แยกความสำคัญเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1.คือการให้ความสำคัญกับลูกค้าและพันธมิตรมาก โดยมีเป้าหมายให้งานออกมาดีมีประสิทธิภาพ 2. ให้ความสำคัญกับทีมงาน เพราะทีมงานมีความสำคัญมากๆ กับบริษัท และอย่างที่ 3 คือการให้ความสำคัญกับสังคมเพราะเมื่อได้มาอยู่ในจุดที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงมีความต้องการตอบแทนกลับไปที่สังคม
“การให้สังคม ยิ่งเราทำ เรายิ่งได้ คือ การได้อิ่มใจกับการเป็นผู้ให้เหมือนกับที่ส่วนหนึ่งกับสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีใครมาให้อะไรเราคืน แต่เราได้ให้ความรู้แก่เขา ก็คือสิ่งดีๆ ที่เรารู้สึกภาคภูมิใจจึงมอง 3 แนวทางนี้ เป็นแนวคิดที่ผลักดันตนเองมาให้ถึงจุดนี้ได้”คุณมิ้นพูดด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ
คุณมิ้นกล่าวเสริมอีกว่า ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จแต่อย่างใด แต่สิ่งที่พาตัวเองให้มาถึงจุดนี้ได้ คือทัศนคติที่พร้อมลุกขึ้นทุกครั้งเมื่อล้มเหลว ไม่ได้ล้มแล้วล้มเลย พร้อมมีความตั้งใจในการเดินไปข้างหน้า ยิ่งเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจ ทำให้มีอยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลา ยกตัวอย่าง การลงทุนหลายล้าน เพื่อปั้นธุรกิจซักอย่างออกมา แต่ไม่ตอบโจทย์ตลาด ระบบภายในไม่แข็งแรง ทำให้การทำงานหลังบ้านไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาที่รุมเร้าก็จะมองว่าชีวิตต้องไปต่อ ท้อได้แต่ไม่ถอย ซึ่งคุณมิ้นได้กล่าวปิดท้ายว่า
“เวลาเกิดปัญหาจะทำให้เกิดความสั่นไหวในจิตใจ ดังนั้นเมื่อเกิดอุปสรรคอย่าไปจมอยู่กับสิ่งร้ายๆ ซึ่งเราใช้แนวคิดในการปัญหาอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ EQ คือการพยายามสร้างสติตื่นรู้ของตัวเองให้กลับมาเพื่อจัดการอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในภาวะที่ตระหนักได้ว่า นี่เป็นเพียงปัญหา เราต้องหาทางแก้ปัญหา ซึ่งก่อนจะแก้ปัญหาก็ต้องตั้งสติให้ได้ก่อน ต่อมาคือ IQหรือการนำความรู้มาแก้ปัญหามองหาทางออกในรูปแบบต่างๆ รวมถึงประเมินถึงปัญหาว่าจะแก้อย่างไร ใช้เวลาในการแก้นานแค่ไหน ถ้าปัญหาดังกล่าวแก้ได้ในอีก 7 วันข้างหน้า ดังนั้นจึงควรเอาความรู้สึกไปทุ่มเทในวันที่ 7 อย่าให้ภาวะอารมณ์จมอยู่กับ 6 วันที่เหลือ เพราะสุดท้ายก็จะทำให้ตนเองไม่มีพลังใจไปทำอย่างอื่นเลย”