จากสถานการณ์โรคระบาดที่เริ่มผ่อนคลาย ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง และเพื่อรับกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังคึกคักอปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงจะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับบุคคลผู้หนึ่งที่รักและสนใจด้านธุรกิจการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเขามีโอกาสได้ขึ้นมายืนหนึ่งในการที่จะช่วยผลักดันการท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในจังหวัดภาคใต้ที่เรารู้จักันนี้
ใช่ครับ บุคคลที่เรากำลังจะกล่าวถึงก็คือศุภฤกษ์ ทองสุข ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ปัจจุบันอยู่ในวัยเพียง 37 ปีแต่เป็นหนุ่มไฟแรงและมีประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวมาอย่างโชกโชน เนื่องจากพื้นเพที่บ้านประกอบกิจการโรงแรมและยังได้มีโอกาสต่อเติมทักษะจากต่างประเทศมาอีกด้วย
คุณศุภฤกษ์ ทองสุขหรือคุณแฟร์ได้เล่าพื้นเพให้ฟังว่าเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะสมุยตั้งแต่เกิด มีน้องสาวด้วยกัน 2 คนโดยตัวเองเป็นลูกชายคนโต คุณพ่อเป็นเกษตรกรปลูกสวนผลไม้หรือสวนทุเรียน ขณะที่คุณแม่ประกอบธุรกิจรีสอร์ท ด้านการศึกษาเริ่มเรียนที่เกาะสมุยก่อนที่ประถมศึกษาปีที่ 5 จะย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วก็ไปเรียนในระดับ High School, One Tree Hill College, ที่ประเทศนิวซีแลนด์จากนนั้นไปต่อปริญญาตรีด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่University Center Cesar Ritzประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และมาเรียนปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
ซึ่งคุณแฟร์ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ตัดสินใจเข้าเรียนด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมว่า“จุดเริ่มต้นมาจากผมเติบโตมาในโรงแรม ทำให้มีโอกาสได้เห็นการบริหารจัดการในด้านของโรงแรม ส่งผลให้เกิดความสนใจการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ ประกอบกับตอนเด็กๆ มีความสนใจด้านภาษาและชอบพบปะผู้คน ทำให้ตอนนี้มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน”
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าต่อว่า หลังจากเรียนจบก็ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่โรงแรมในต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสได้ฝึกทักษะต่างๆ ในทุกมิติเริ่มตั้งแต่การปูเตียง ทำเตียง ขัดห้องน้ำ ต้อนรับแขก การแนะนำลูกค้า รวมไปถึงได้มีโอกาสไปฝึกในครัว ทั้งการล้างครัว การทำอาหาร ก่อนที่จะกลับมาช่วยงานการบริหารจัดการกิจการรีสอร์ทที่บ้าน
คุณแฟร์ บอกว่า จากประสบการณ์ที่ได้เรียนมาทำให้เห็นถึงสิ่งที่ควรยกระดับด้านการท่องเที่ยวในประเทศ นั่นคือ การปรับตัวโรงแรมให้มีความสากลมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะโครงสร้างของพนักงาน เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันด้านบุคลากรสูงมากจึงถือได้ว่าการพัฒนาคือหัวใจสำคัญของการยกระดับเรื่องของการบริการและการบริหาร นอกจากนี้ถ้าหากได้ใส่ความเป็นสากลเข้าไป ก็จะทำให้การรองรับนักท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากการได้นำทักษะมาพัฒนาธุรกิจรีสอร์ทในครัวเรือน ทำให้ปัจจุบันสามารถยกระดับโรงแรมในครอบครัวให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ดียิ่งขึ้น
“ด้านสาเหตุที่ทำให้ผมได้มีโอกาสมาทำงานสาธารณะในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีที่มาอยู่ 2 เรื่องคือ คุณแม่ผมเป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเกาะสมุย จึงได้ท่านเป็นต้นแบบและท่านชอบทำงานสาธารณะและทำสาธารณประโยชน์ และผมก็เห็นว่าท่านมีความตั้งใจในการที่จะช่วยสมุยพื้นที่พัฒนามากขึ้นทั้งด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากทำงานสาธารณประโยชน์อย่างที่คุณแม่ทำ อีกทั้งท่องเที่ยวเป็นงานที่ชอบและเป็นทักษะเบื้องต้นทางการศึกษาที่เรียนมาจากต่างประเทศ จึงอยากยกระดับการท่องเที่ยวของเกาะสมุย จึงทำให้มีโอกาสได้มาทำงานในตำแหน่งนี้”คุณแฟร์ กล่าวถึงต้นเหตุที่ได้มาทำงาน ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยความภาคภูมิ
คุณแฟร์ กล่าวอีกว่า จากการที่ได้มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ ประกอบกับได้มาทำงานสาธารณะ ทำให้มีวิสัยทัศน์มากขึ้น โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีทรัยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งภูเขาและทะเล รวมถึงเขื่อน ซึ่งมีอยู่ไม่กี่จังหวัดที่มีทุกอย่างครบครัน
โดยสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของภาคโต้ เพราะมีธรรมชาติอันสวยงามทั้งบนบกและใต้น้ำ มีหมู่เกาะต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกาะพะงัน เกาะเต่า เกาะนางยวน หมู่เกาะอ่างทอง และสมุย จนได้ชื่อว่า เป็น “เมืองร้อยเกาะ” ทั้งยังมีพื้นที่ป่าดิบชื้นที่อุดมด้วยพืชพรรณอันหลากหลาย สายน้ำมากมาย และสัตว์ป่านานาชนิด นอกจากนั้นสุราษฎร์ธานียังเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน การคมนาคมก็สะดวกสบาย สามารถไปได้ทั้งทางรถ รถไฟ เรือ รวมถึงเครื่องบิน จึงทำให้เมืองนี้กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญทางชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติไปเยี่ยมเยือนกันมากมาย
ด้วยเหตุนี้จึงมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสากลมากขึ้น เป็นจังหวัดที่ชาวต่างชาติและคนไทยสามารถเข้าถึงได้ มีรสชาติในการท่องเที่ยวที่ครบทุกรสชาติ นอกจากนี้ยังเป็นจังหวัดที่มีอาหารที่น่าสนใจในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่เกาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีอาหารทะเลสองน้ำ กุ้งแม่น้ำ ดังนั้นจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงมีเป้าหมายในการสร้างการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อให้คนรู้จักจังหวัดสุราษฎร์ธานีผ่านอาหาร รวมถึงการยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย โดยคุณแฟร์ ได้เล่าให้ฟังว่า
“จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่น่าสนใจกว่า 19 ชุมชน ทำให้ตอนนี้ได้มีการยกชุมชนตัวอย่างมากกว่า 9 ชุมชน และมีการทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการเข้าไปให้ความรู้เรื่องของการยกระดับสินค้าคุณภาพในชุมชนเอง แม้กระทั้งการประชาสัมพันธ์เส้นทางออนไลน์ซึ่งมีความสำคัญมากในปัจจุบัน รวมถึงการยกระดับ 3 เกาะ คือเกาะสมุย เกาะพะงัน และเก่าเต่า ให้เป็นเกาะระดับโลก ในการชูในเรื่องของความปลอดภัยและความหลากหลาย ในตัวสินค้าการท่องเที่ยวนี้คือสิ่งที่เราขับเคลื่อนอยู่ในตอนนี้”
คุณแฟร์ เสริมอีกว่า อาหารในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความหลากหลายรูปแบบ เช่น ตัวหอยนางรมของอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็น GI ของสุราษฎร์ธานีและไข่เค็มของเมืองไชยาและเงาะโรงเรียนจากอําเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 3 สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีบางสิ่งที่เราพยายามพลักดันให้เป็น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เช่น ปลามัน ที่มีลักษณะคล้ายปลาดุกที่หาได้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในด้านจุดอ่อนก็มี คือเรื่องของการประชาสัมพันธ์ เพราะทุกคนรู้จัก เกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย แต่คนไม่รู้ว่าทั้ง 3 เกาะนี้อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บางคนรู้จักเขื่อนเชี่ยวหลาน แต่ไม่รู้ว่าเขื่อนเชี่ยวหลานและเขื่อนรัชชประภาเป็นเขื่อนเดียวกัน แค่ชื่อที่แตกต่างกัน จึงมองว่าในภาคประชาสัมพันธ์ทำได้ดีกว่านี้ ซึ่งทางจังหวัดเองก็ได้มีการดำเนินโครงการเซลล์แมนจังหวัด เป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ นำโดยพาณิชย์จังหวัดในการตั้งคณะกรรมการทำงานขึ้นมาในการประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้มากขึ้น
นอกจากนี้ในการยกระดับการเดินทางเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนนี้สนามบินสุราษฎร์ธานีกำลังปรับปรุงเพิ่มอาคารในการรองรับผู้โดยสารที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นที่เหมาลำจากต่างประเทศถึงแม้กระทั่งเส้นทางในประเทศ รวมถึงการเชื่อมต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับหัวเมืองต่างๆ เช่น ในภาคอีสานหรือภาคเหนือ อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปอุดรธานีหรือขอนแก่นเป็นต้น
ด้านแนวคิดนั้น คุณแฟร์เปิดเผยว่า จะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร โดยเชื่อว่าจริงๆ แล้ว เราต้องพัฒนาตัวเองและพัฒนาคนรอบข้างไปด้วย เป็นการผลักดันตัวเราให้ดียิ่งขึ้น โดยเราเป็นผู้บริหารที่ใช้การลงทุนและแนวคิดการพัฒนาคนหรือผู้ทำงานร่วมให้มีความกระตือรือร้นและพัฒนาตนเองตรงนี้มองว่าเป็นจุดที่ทำและช่วยกันอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นสิ่งที่ทำให้มีวันนี้ได้
“เราไม่สามารถย่ำอยู่กับที่ได้อีกแล้ว ดังนั้นการพัฒนาองค์กรในยุคนี้คือการพัฒนาคนมากกว่า สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าคือเราไม่ได้พัฒนาเขาแล้วเขาอยู่กับเรา แต่สิ่งที่ผมไม่กลัวเลยคือการพัฒนาเขาแล้วเขาสามารถเติบโตไปที่อื่นได้หรือมีงานที่ดีกว่า ซึ่งผมก็ยินดีอย่างมากที่พนักงานของเราจะได้ประสบความสำเร็จในจุดที่ดีกว่า”คุณแฟร์กล่าว
ในด้านการรับมือกับอุปสรรค ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตัวเขาเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก และพยายามปรับความคิดตัวเองให้มองเห็นทางออกเสมอ คือผู้บริหารที่ดีต้องรู้ถึงต้นเหตุของปัญหาและค่อยๆ แก้ พร้อมปรับความคิดความเข้าใจให้คนที่สร้างปัญหานั้นๆ มากกว่าที่มองเป็นเพียงแค่ปัญหาและก็ลองเทคนิคใหม่ ๆ ในการปรับโครงสร้างหรือเข้าไปแก้ปัญหา