ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
พฤทธิ์ โรจน์มหามงคล CIO กลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล
03 ม.ค. 2566

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ดูจะโดดเด่น เพราะนอกจากจะได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมแล้ว ยังสามารถสร้างกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำด้วยครับเรากำลังจะพูดถึงธุรกิจโรงพยาบาล ที่ปัจจุบันมีอยู่หลายเครือข่ายด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จไปเสียทุกแห่ง ที่สำคัญคือต้องมีมือดีๆ ระดับผู้เชี่ยวชาญเข้าไปนั่งบริหารงาน จัดความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจและการบริการรักษาได้อย่างสอดคล้องกัน

และฉบับนี้ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกทำความรู้จักกับผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนท่านหนึ่งในเครือโรงพยาบาลวิชัยเวชที่ต่างก็รู้จักกันดี และผู้บริหารที่เราจะพามารู้จักก็คือคุณพฤทธิ์ โรจน์มหามงคล หรือ คุณพฤทธิ์(พรึด) กรรมการบริหาร บริษัทศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) และยังเป็นผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ (CIO) ของกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนลอีกด้วย

คุณพฤทธิ์ ในวัย 52 ปี เริ่มเล่าอดีตเราให้ฟังว่า เป็นคนกรุงเทพฯตั้งแต่กำเนิด เกิดที่เยาวราชเรียกได้ว่าเป็นเด็กเยาวราช ซึ่งบ้านที่เยาวราชเปิดธุรกิจด้านอาหาร ค้าขายเป็ดย่าง-หมูย่าง ทำมาตั้งแต่รุ่นของคุณปู่ โดยในช่วงวัยเด็กที่ผ่านมาก็ช่วยที่บ้านค้าขายมาตลอดจนกระทั่งเรียนจบออกมาทำงาน ซึ่งปัจจุบันหลังจากแต่งงานมีครอบครัวก็ได้ย้ายออกมาจากเยาวราชแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ในอดีตเป็นลูกพ่อค้าแม่ค้ามาก่อน 

ด้านการศึกษา คุณคุณพฤทธิ์ เรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นได้สอบเข้าเรียนดับอุดทศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต ในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก จากนั้นก็มาทำงานเป็นสถาปนิกที่บริษัท Plan Consultant จำกัด อยู่ประมาณ 9 ปี โดยทำหน้าที่เป็นสถาปนิกโครงการในการควบคุมงานก่อสร้าง ที่ผ่านมาได้ควบคุมงานมาหลายอาคารทั้งจากภาครัฐและเอกชน จากนั้นก็ไปทำงานด้านนักพัฒนา (developer)กับบริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) อยู่ประมาณ 5 ปี และจากการทำงานด้านสถาปนิกและdeveloperนี่เองที่ได้ทำให้เห็นว่างานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารกำลังเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ ในระหว่างนั้นจึงได้ศึกษาเพิ่มเติมในระดับปริญญาโท จนจบปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต คณะวิทยาการสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC)

นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศอเมริกากับภรรยาซึ่งไปอบรมศึกษาต่อด้านแพทย์ ในช่วงนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อด้านงานบริหารองค์กรจนได้ Certificate Strategic Organizational Leadership and Management ที่ Michigan State University จากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังได้มีโอกาสเข้าอบรมในหลักสูตรDirector Certification Program รุ่น 135 และหลักสูตร Financial Statement for Director รุ่น 7 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และหลักสูตร “ผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารเมือง” รุ่นที่ 3 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและ หลักสูตร “ประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง” รุ่นที่ 8 สถาบันพระปกเกล้าและแพทย์สภา

สำหรับโอกาสที่ได้เข้ามาทำงานกับกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวชฯ คุณพฤทธิ์เล่าว่า “หลังจากทำงานสถาปนิกและ developer มาสักพักใหญ่ ครอบครัวของภรรยาได้ชวนมาทำงานด้านบริหารโรงพยาบาล จึงได้เข้ามาทำงานที่กลุ่มโรงพยาบาลศรีวิชัยนับแต่นั้น ส่งผลให้ตอนนั้นได้มีโอกาสมาเรียนรู้งานด้านโรงพยาบาล โดยเฉพาะงานบริหารทางด้านอาคารสถานที่ จัดซื้อจัดจ้าง IT ตลอดจนด้านบัญชีและการเงินของโรงพยาบาล โดยในช่วงแรกที่เข้ามานั้นก็ได้นำความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมของตนมาทำการปรับปรุงโรงพยาบาลเดิมที่เก่าและทรุดโทรมให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับการใช้งานและมีความปลอดภัยมากขึ้น จากนั้นก็มาบริหารงานและปรับปรุงด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในโรงพยาบาลให้มีความเหมาะสมกับการความต้องการใช้งานด้านต่างๆของโรงพยาบาล

ต่อมาทางฝ่ายบริหารได้มีนโยบายที่จะนำธุรกิจโรงพยาบาลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้มีการรีแบรนด์จากกลุ่มโรงพยาบาลศรีวิชัยมาเป็นกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ระหว่างนั้นได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของผู้ถือหุ้นของบริษัท พร้อมทั้งการวางระบบบัญชีการเงิน ระบบสารสนเทศระบบการตรวจสอบ รวมถึงการมีคณะกรรมการต่างๆให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด จนนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2554

                คุณพฤทธิ์ เล่าต่อว่า เนื่องจากตนเองเรียนจบด้านสถาปนิกมา เดิมก็ไม่มีความรู้ในด้านงานบริหารของโรงพยาบาลเอกชนมาเลย แต่ก็ได้ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานด้านสถาปนิกที่ได้ทำงานมา ซึ่งมีโอกาสได้ทำงานพบปะกับลูกค้า รวมถึงผู้รับเหมา การแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย การทำงานเป็นทีม ทำให้ได้ความรู้ตรงนี้มา และเมื่อมาทำโรงพยาบาล ได้พบปะกับคุณหมอ พยาบาล คนไข้ ญาติพี่น้อง ทำให้พบว่า โรงพยาบาลก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ คนไข้ก็เหมือนผู้รับบริการที่เราต้องดูแลให้ดีที่สุด

“แต่เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องของชีวิตและความเป็นความตาย ดังนั้นบุคลากรด้านสาธารณสุขจึงต้องดูแลคนไข้ ญาติหรือผู้เกี่ยวข้อง ด้วยความรู้ ความสามารถ และต้องมีคุณธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ ขณะที่ทีมงานแพทย์ พยาบาลและพนักงานโรงพยาบาล ทางผู้บริหารก็ต้องเข้าใจถึงความรู้สึกของเขาว่ามีความวิติกหรือความเครียดจากภาระงานที่มากเกินไปหรือไม่ ในฐานะผู้บริหารก็ต้องคอยช่วยเหลือดูแลตรงนี้

                จากประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวชฯมาประมาณ 16 ปี ทำให้เห็นจุดแข็งและจุดปรับปรุงของธุรกิจประเภทนี้ โดยโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมีจุดแข็งด้านบุคลากรทีมแพทย์และพยาบาลมีความรู้ความสามารถที่สูง นอกจากนี้แพทย์ พยาบาล จะต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้มีประสบการณ์ค่อนข้างมาก ซึ่งหากเทียบกับต่างประเทศเช่นยุโรป อเมริกา หรือสิงคโปร์ แล้วเราจะได้เปรียบตรงนี้ เนื่องจากแพทย์-พยาบาลของไทยมีประสบการณ์ตรงมากกว่า มีความชำนาญมากกว่า เพราะการดูแลของโรงพยาบาลประเทศไทยมีความใกล้ชิดกว่าและอัธยาศัยดี

ทำให้หลายประเทศยอมรับว่าไทยมีการบริการที่เป็น Service ทางการแพทย์ที่ดีเป็นอันดับต้นๆของโลก รวมไปถึงการดูแลคนไข้ก็อยู่ในปริมาณที่พอดี ไม่เยอะจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้น้อยเท่าต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศมีข้อจำกัด และกฎเกณฑ์บางอย่างทำให้ดูแลคนไข้ได้ต่อวันได้จำนวนไม่มากนัก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ควรศึกษาปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้มีความสามารถในการพัฒนาผลิตยา เวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ ในประเทศให้มีความทันสมัยได้เองและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญคือการร่วมมือกันในการทำงานระหว่างโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน หากมีการร่วมมือกันอย่างจริงจังก็จะเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่จะดูแลประชาชนทั้งประชาชนไทย และชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี จากตัวอย่างในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา

ผลงานในการบริหารงานที่ภาคภูมิใจนั้นCIO กลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวชฯ ได้เล่ารายละเอียดในการฝ่าฟันมรสุมโควิด-19 ให้ฟังว่า “ช่วงยุคแรกที่โควิด-19 เกิดการระบาด ประเทศไทยยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก แต่เมื่อเกิดระบาดระลอก 2 ซึ่งเกิดระบาดใหญ่ที่ตลาดกุ้งที่สมุทรสาคร ประกอบกับโรงพยาบาลวิชัยเวชฯ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลของกลุ่มโรงพยาบาลก็อยู่ใจกลางการแพร่ระบาด ทำให้โรงพยาบาลจึงต้องมีการปรับตัว เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีการสั่งปิดและห้ามดำเนินการในกิจกรรมต่างๆในจังหวัดทำให้มีผู้มารับบริการในโรงพยาบาลน้อยลงเป็นอย่างมาก ซึ่งตนในฐานะผู้บริหารจึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และจัดทีมในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลวิชัยเวช ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแรกๆที่ได้เข้าไปให้การช่วยเหลือในการค้นหา คัดกรอง ดูแล รักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจกับสถานประกอบการ แรงงาน ประชาชน รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อระงับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร

ในช่วงแรกทางทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ก็มีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ในฐานะผู้บริหารก็ต้องเป็นทีมนำเข้าร่วมกับทีมให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงให้การสนับสนุนชุดป้องกันและอุปกรณ์ป้องกันภัยในการติดเชื้อ สวัสดิการ อาหารการกิน และอื่นๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน

 

                หลังจากมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทางกลุ่มโรงพยาบาลก็ได้นำประสบการณ์ดังกล่าวเข้าไปช่วยเหลือใน กทม. ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยได้ร่วมมือกับ กทม. และกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม จัดตั้งศูนย์คัดกรองโควิด-19 ขึ้นที่อาคารกีฬาเวช 2 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง รวมไปถึงการฉีดวัคซีนและรับคนไข้เข้ารักษาใน Hospitels และในกลุ่มโรงพยาบาล โดยได้ทำการดูแลรักษาเป็นอย่างดีตามมาตรฐานสาธารณสุข ตามนโยบายภาครัฐในขณะนั้น 

“จุดแข็งที่สำคัญของกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวชฯ คือการทำงานของทางทีมผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกคน ทำงานเป็นทีม เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่างที่วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจก็ไม่แพ้โรคภัยและเราก็ชนะผ่านวิกฤติมาได้คุณ พฤทธิ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่ปลาบปลื้ม

                สำหรับแนวคิดในการทำงานสำเร็จนั้น CIO กลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวชฯ กล่าวว่า แนวคิดในการทำงานสู่การประสบสำเร็จได้นั้น เราจะต้องมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อที่จะทำให้สำเร็จ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว รวมถึง จะต้องมีวิสัยทัศน์ มองให้ออกว่าอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์

                “แน่นอนเวลาทำงานเยอะๆ เราต้องเจอปัญหาอุปสรรคบ้าง ที่สำคัญอย่าท้อแท้ และตั้งสติให้ดี นำประสบการณ์ที่ผ่านมาศึกษาเรียนรู้ พร้อมกับหาจุดสาเหตุของอุปสรรคนั้นให้ได้ เพื่อเข้าไปแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อแก้ไขแล้วจึงวางนโยบายแนวทางการทำงานต่อไป และลดปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอนาคต อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานเพราะปัญหาต้องเข้ามาแน่ๆ”คุณพฤทธิ์ กล่าว

                คุณพฤทธิ์ กล่าวอีกว่า การใช้ชีวิตแน่นอนว่าแต่ล่ะคนก็มีไลฟ์สไตล์ส่วนตัวรวมถึงครอบครัวการทำงานสิ่งสำคัญเลยคือเราต้องไม่เครียด การทำงานหากอยู่ในช่วงงานที่มีความเครียดหรือกำลังมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องรู้จักพักผ่อนคลาย อย่าให้ความเครียดเกิดสะสม ขณะที่ชีวิตครอบครัวก็ต้องให้ความสำคัญและต้องให้การดูแลอย่างดีด้วยเช่นกันส่วนตัวช่วงว่างๆก็จะหาเวลาพักผ่อน เล่นดนตรี อ่านหนังสือ หรือเดินทางไปสถานที่ต่างๆเพื่อพักผ่อนกับครอบครัว

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...