เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แถลงข่าว สรุปผลงานเด่น ปี 2565 ที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคมกับภารกิจสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยมีผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม พร้อมสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
นายบุญสงค์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญกับ “การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมโดยสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยทุกเพศภาวะและทุกกลุ่ม” ในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และภาคีเครือข่าย "ครอบครัวประกันสังคม" เพื่อแก้ปัญหาภายใต้แนวทาง “แรงงาน...เราสู้ด้วยกัน” ร่วมกันสู้เพื่อก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน โดยดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงพัฒนาสิทธิประโยชน์ พัฒนาบริการทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคม ให้เป็นที่ยอมรับเชื่อมั่น ไว้วางใจจากทุกภาคส่วน ในสังคม ภายใต้แนวความคิดในการขับเคลื่อน“SSO TRUST” โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมมีผลการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้
1. มาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด จากของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19
จัดตั้งศูนย์ตรวจคัดกรองโควิด 19 เพื่อให้บริการผู้ประกันตน นอกสถานพยาบาล จำนวน 13 แห่ง (สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น – ดินแดง ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร ภูเก็ต ระยอง อยุธยา ฉะเชิงเทรา สงขลา และสระบุรี) มีจำนวนผู้ประกันตนที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง จำนวน 526,657 ราย พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 23,705 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 640 ล้านบาท จัดหาโรงพยาบาล Hospitel ในเครือข่ายประกันสังคม รองรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จำนวน 24 จังหวัด จัดหาโรงพยาบาล Hospitel จำนวน 175 แห่ง รองรับผู้ประกันตน จำนวน 61,046 ราย การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด 19 สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย มีผู้ประกันตน ใช้สิทธิประโยชน์ จำนวน 4,550,115 ราย จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และสายด่วน 1506 กด 1 กด 6 และกด 7 เพื่อให้บริการสอบถามข้อมูลประสานและจัดหาสถานพยาบาลในการดูแลรักษา และการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40 มีผู้ใช้บริการ 2,5000,075 ราย ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนฉีดวัคซีน เข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 แก่ผู้ประกันตน รวมทั้งหมด 3,3962,206 ราย แยกเป็นผู้ประกันตนที่เป็นชาวต่างชาติ 593,815 ราย และคนไทย 3,368,391 ราย โครงการ Factory Sandbox (ตรวจรักษา ควบคุม ดูแล) ครอบคลุมในพื้นที่ 12 จังหวัด มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 730 แห่ง ผู้ประกันตนได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด 19 จำนวน 407,770 ราย และได้รับวัคซีนจำนวน 112,746 โดส
2. มาตรการช่วยเหลือเยียวยา
ลดอัตราเงินสมทบ มาตรา 33 และ 39 ระหว่างปี 2563 - 2565 รวม 7 ครั้ง (21 เดือน) ลดภาระผู้ประกันตนกว่า 13.36 ล้านคน นายจ้าง 502,693 ราย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 160,250 ล้านบาท มาตรา 40 ระหว่างปี 2564 - 2565 รวม 2 ครั้ง (12 เดือน) ลดภาระผู้ประกันตนกว่า 10.80 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 3,242 ล้านบาท จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวจากคำสั่งปิดสถานที่ของรัฐ กรณีลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวเฝ้าระวังการระบาดของโรค โดยให้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ จ่ายให้เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์รวม 2.73 ล้านคน เป็นเงิน 55,599.09 ล้านบาท เยียวยาแรงงาน กรณีปิดแคมป์คนงาน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ รวม 81,136 คน เป็นเงิน 412.65 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้กับสถานประกอบการมีธนาคารที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง 5 ธนาคาร คือ ธนาคาร UOB ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย จำนวนเงินสินเชื่อ ให้แก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 1,623 ราย วงเงิน 9,635.33 ล้านบาท สามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างในระบบไว้ได้ จำนวน 112,456 คน โครงการเยียวยาภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เช่น โครงการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบการ ผู้ประกันตนมาตรา 33 รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาจาก พ.รก.เงินกู้คนละ 5,000 บาท, โครงการ ม.33 เรารักกัน ให้ผู้ประกันตนจ่ายซื้อสินค้าและบริการ 8.067 ล้านคน วงเงิน 6,000 บาท เป็นเงิน 48,185,85 ล้านบาท, โครงการเยียวยาผู้ประกันตนกิจการสถานบันเทิง ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวน 148,409 ราย ฯลฯ
3. พัฒนาสิทธิประโยชน์
ประกันเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตรา การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ พ.ศ. 2560 ให้ได้รับเงินบำนาญครบ 60 เดือน ผู้รับบำนาญได้รับการคุ้มครอง ที่เป็นธรรมมากขึ้นและเป็นการรับประกันว่าจะได้รับบำนาญอย่างน้อย 60 เดือนใกล้เคียงกับเงินสะสมบำเหน็จชราภาพ ทำให้ผู้ประกันตนเกิดความมั่นใจในการรับบำนาญชราภาพ แก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้กับผู้ประกันตน และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีการขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 15 - 60 ปี เป็น 15 - 65 ปี ขยายอายุขั้นสูงผู้ประกันตนมาตรา 33 (เดิม 60 ปี เป็น 65 ปี) เพื่อให้ สอดคล้องกับการกำหนดนิยามผู้สูงอายุ (Old age) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) การเพิ่มเงินทดแทน ขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร จาก 90 เป็น 98 วัน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเหมาจ่ายครั้งละ 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 98 วัน เงินสงเคราะห์บุตร ให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน กรณีชราภาพ 3 ขอ (ขอเลือก/ขอคืน/ขอกู้) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญชราภาพได้ หรือเลือกรับบำนาญใน 5 ปีแรกล่วงหน้าเป็นบำเหน็จ และรับเงินบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน สามารถนำเงินชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกันตน สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกัน กับสถาบันการเงินได้
4. พัฒนาบริการทางการแพทย์
ขยายระยะเวลา MOU การให้บริการทางการแพทย์กรณีรักษาด้วยการทำหัตถการด้านโรคหัวใจ และหลอดเลือดกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติ (เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2566) มีผู้ประกันตนเข้าไปใช้บริการจำนวน 329 ราย เป็นเงินจำนวน 62,978,198 บาท ลดขั้นตอนอนุมัติสิทธิฟอกเลือด โดยผู้ประกันตนและผู้ทุพพลภาพที่ประสงค์จะขอรับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไตกรณีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ยื่นคำขอด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยแนบหลักฐานเอกสารประกอบคำขอ และให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาวินิจฉัยอนุมัติสิทธิบำบัดทดแทนไตให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถยื่นสิทธิการรักษาที่สถานพยาบาลได้ทันทีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ปรับปรุงค่าบริการทางการแพทย์กรณีรักษาโรคโควิด 19ดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นไปตามแนวทาง การรักษาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และหลักเกณฑ์และอัตราเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ลงวันที่ 29 เมษายน 2565 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ขยายระยะเวลาให้บริการการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปี 2565 จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 - 31 สิงหาคม 2565 ขยายถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้ประกันตนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำนวน 293,079 โดส
5. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
เพิ่มช่องทางรับชำระเงินสมทบ จำนวน 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งปัจจุบันมี 14 ธนาคาร และ 1 หน่วยบริการ เพื่อให้บริการในการรับชำระเงิน พัฒนาและเพิ่มช่องทางการให้บริการเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเองของผู้ประกันตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Self service) กองทุนประกันสังคม เพื่อยกระดับการให้บริการนายจ้างและผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบหรือทำรายการกับกองทุนประกันสังคมได้ทุกกิจกรรมที่เป็นข้อมูลของผู้ประกันตนและสถานประกอบการ เพิ่มช่องทางการรับสมัคร และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่าน Application ทางรัฐ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพิ่มช่องทางการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่านเคาน์เตอร์ Boonterm Bill Payment (จุดชำระเงินของบิ๊กซีเดิม) ได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565
6. รางวัลแห่งความสำเร็จที่สำนักงานประกันสังคมได้รับในปี 2565 โดยได้รับ
รางวัลคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2565
รางวัลบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ CORONAVIRUS COVID 19” ในงาน SIAMRATH ONLINE AWARD 2022 ผ่านระบบออนไลน์ ทางเพจเฟสบุ๊คสยามรัฐ
รางวัลด้านการประชาสัมพันธ์ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล FINALIST จากงาน THAILAND SOCIAL AWARDS 2022 ที่เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการใช้ SOIAL MEDIA อย่างสร้างสรรค์
รางวัล Best Official Account in Public Sector 2021 ซึ่งถือเป็นองค์กรภาครัฐที่สร้างความสำเร็จในการสร้างสรรค์การสื่อสารกับประชาชนผ่านแพลตฟอร์ม LINE ประเทศไทยได้อย่างยอดเยี่ยมแห่งปี 2564
หน่วยงานในสังกัดสำนักงานประกันสังคม ผ่านการรับตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน การให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สำนักงานประกันสังคมจังหวัดแพร่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธร สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชัยนาท สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตราด
สำนักงานประกันสังคมได้รับประกาศเกียรติคุณ หน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นเลิศ (Certificate of Cyber Safety) โดยการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ภายใต้กิจกรรม Thailand Cyberscurity Excellence Award 2022 สอดคล้องกับแนวทางของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
รางวัล ASSA Recognition Award สาขาเทคโนโลยีในการสื่อสารที่โดดเด่น จากการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมการประกันสังคมอาเซียน ครั้งที่ 39 (39 th ASEAN Social Security Association Board Meeting) ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
7. การให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนเชิงรุก สำนักงานประกันสังคมอยู่เคียงข้างผู้ประกันตนทุกสถานการณ์ เคียงข้างทุกวิกฤต หากเกิดเหตุการณ์หรือเหตุฉุกเฉินในกรณีที่มีผู้ประกันตนประสบเหตุต่างๆ สำนักงานประกันสังคม จะดำเนินการเชิงรุกลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด เพื่อนำข้อมูลมาเข้าสู่ระบบของสำนักงานฯ ให้ได้ นำมาสู่การให้ความช่วยเหลือให้กับผู้ประกันตนและญาติ เปรียบเสมือนบุคคลในครอบครัวโดยเร็วที่สุด