การทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับหนึ่งของประเทศ ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการยกระดับขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาช่วยกันป้องกันและขจัดปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของเรื่องนี้จะขาดไปเสียมิได้ ก็คือองค์กรด้านสื่อสารมวลชน ที่จะเข้ามาช่วยเป็นแรงผลักดัน กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในวงกว้างมากขึ้น
ที่น่าสนใจคือการรวมตัวของสื่อมวลชนหลายสำนัก จัดตั้งเป็นองค์กรที่ชื่อ “สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)” ขึ้นเมื่อ 11 ปี ที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จัก ก็คือ ดร.เอก์ เหลืองสอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) คนปัจจุบัน ที่กำลังผลักดันเป้าหมายของสมาคมแห่งนี้ให้เดินหน้าไปอย่างมีนัยยิ่ง
ดร.เอก์ เหลืองสอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ในวัย59 ปี เปิดเผยกับเราว่า เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, สำเร็จหลักสูตร ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง รุ่นที่ 3 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, สำเร็จหลักสูตร “รัฐธรรมนูญสำหรับสื่อมวลชน” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย,และสำเร็จหลักสูตร เสาหลักเพื่อแผ่นดินเกียรติยศ รุ่นที่ 3 ฯลฯ
ส่วนประสบการณ์การที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น มีอาทิเช่น เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตและพิจารณาศึกษาด้านคมนาคมระบบราง สภาผู้แทนราษฎร เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
แน่นอนว่า ดร.เอก์ อยู่ในแวดวงสื่อมวลชน โดย ดร.เอก์ เล่าให้ฟังว่า ได้เข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 สังกัดหนังสือพิมพ์ข่าวสด ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามในฐานะผู้สื่อข่าวการเมืองประจำกระทรวงมหาดไทย "ถ้าจำไม่ผิด คือยุคที่มี พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองเท่าใดนัก เพราะเรียนมาทางด้านกฎหมาย ไม่มีประสบการณ์ด้านการข่าวเลยแม้แต่นิดเดียว”
“พี่เผด็จ ภูรีปติภาน“พญาไม้”ซึ่งเปรียบเสมือนครูวิชาหนังสือพิมพ์คนแรก ได้ให้มาเป็นนักข่าวประจำกระทรวงมหาดไทย ที่เปรียบเสมือนโรงเรียนประถมของคนหนังสือพิมพ์ เพราะข้อมูลข่าวสารที่ออกจากกระทรวงส่วนใหญ่เป็นข่าวแจก (ชีท) เรียกว่าข่าวสำเร็จรูปประมาณนั้น แค่เราอ่านทำความเข้าใจสรุปส่งกองบรรณาธิการเพื่อนำไปตีพิมพ์”
ดร.เอก์ เล่าต่อไปว่า เมื่อได้เรียนรู้วิธีการเขียนข่าวและจับประเด็นข่าวจากรุ่นพี่จนพอตัว กองบรรณาธิการจึงให้ย้ายไปประจำที่รัฐสภา พร้อมกับยอมรับว่า ที่นี้เองแหละ จึงได้เจอของจริง ทั้งการจดข่าว เขียนข่าว ที่แทบไม่ทันเพื่อน ต้องขอลอกข่าวเพื่อนฉบับอื่นจนเพื่อนละอา เรียกว่า เจอหน้าเพื่อนเดินหันหลังหนี แถมโดนหัวหน้าข่าวประจำกองบรรณาธิการบ่นส่งข่าวไม่รู้ว่าคนให้ข่าวเป็นใคร เรียกว่ามือใหม่หัดขับ
“ก็ต้องปรับตัวยกใหญ่ คิดในใจ เราต้องช่วยตัวเองให้มากขึ้น กระตือรือร้น ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน พบปะพูดคุยกับนักการเมือง ส.ส. รัฐมนตรี สร้างความคุ้นเคย กระทั่งได้นักการเมืองมาเป็นแหล่งข่าว เราก็ไม่ต้องไปพึ่งเพื่อนสื่อฉบับอื่น ตรงกันข้ามเพื่อนสื่อด้วยกันที่เคยหันหลังหนีกลับมาขอลอกข่าวจากเรา”ดร.เอก์ กล่าว พร้อมบอกต่ออีกว่า
จากนั้นไม่นาน ได้ขยับตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวการเมือง ย้ายจากรัฐสภามาประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่นี่ ดร.เอก์ ยอมรับว่า ค่อนข้างเหนื่อย ด้วยเป็นหนังสือพิมพ์หัวเล็ก เดินทางไปทำข่าวนอกสถานที่แต่ละครั้ง เช่นตามไปทำข่าวนายกฯ รัฐมนตรี ค่อนข้างลำบาก ต้องโหนรถเมล์ ขณะที่เพื่อนสื่อหัวใหญ่มีรถประจำคอยรับส่ง จะขออาศัยก็เกรงใจ วิธีเดียวที่จะให้ทันทำข่าว คือต้องออกเดินทางก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถึงจะไปทันเพื่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาทำข่าวประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลก็เริ่มปีกกล้าขาแข็ง ไม่นานก็ถูกเรียกเข้าไปประจำกองบรรณาธิการ เป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 (รีไรท์เตอร์) และขยับเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 กระทั่งหนังสือพิมพ์ข่าวสดถูกเปลี่ยนนายทุนใหม่ไปอยู่ในเครือหนังสือพิมพ์มติชน
“เราไม่ได้ตามไปด้วย ตกงาน ชีวิตหักเห รับจ๊อบเป็นฟรีแลนซ์เขียนข่าวส่งหนังสือพิมพ์ “ข่าวสดยูเอสเอ” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับภาษาไทย วางจำหน่ายในอเมริกา และเขียนคอลัมน์ “จดหมายเหตุประเทศไทย” ลงตีพิมพ์หน้า 3 หนังสือพิมพ์ข่าวสดยูเอสเอด้วย”
ดร.เอก์ เล่าต่อด้วยว่า ทำได้อยู่ประมาณสัก 2 ปี ก็เบนเข็มมาทำหนังสือนิตยสาร “พีเพิล”ตำแหน่งบรรณาธิการ ก็ได้ “พี่แจ๋” พรรณประภา อินทรวิทยนันท์ ภรรยา พิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นครูคนที่สอวิชาภาษาเขียนออกไปสัมภาษณ์นักธุรกิจบ้าง นักการเมืองบ้าง และผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงเอามาลงปกหนังสือบ้าง
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ประทับใจ เมื่อครั้งหนึ่ง “พี่แจ๋”ส่งไปทำข่าวการแข่งขันกอล์ฟระดับโลกที่ จ.ภูเก็ต เป็นรายการที่รวมนักกอล์ฟมือระดับโลกทั้งนั้น และผู้จัดยังได้เชิญนักกอล์ฟลูกครึ่งไทย-อเมริกัน “ไทเกอร์ วู๊ดส์”มาร่วมดวลวงสวิงด้วย “ไทเกอร์ วู๊ดส์”ตอนนั้นกำลังเริ่มฉาวแววนักกอล์ฟดาวรุ่ง ซึ่งสื่อไทยและต่างชาติไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก ต่างโฟกัสไปที่นักกอล์ฟมือระดับโลกเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เราคิดตรงกันข้าม มองว่าเด็กลูกครึ่งไทย-อเมริกันคนนี้แววดีมีอนาคต จึงนัดสัมภาษณ์ผ่านคุณแม่ ไทเกอร์ วู๊ดส์”
“เชื่อไหมครับว่าหลังจากจบทัวร์นาเม้นต์นี้ไม่นาน “ไทเกอร์ วู๊ดส์” ล้มแชมป์ได้เป็นนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก กวาดแชมป์ได้เกือบทุกรายการ ชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก ประเทศไทยก็ได้อนิสงส์ไปด้วยเพราะ “ไทเกอร์ วู๊ดส์” มีเชื้อสายคนไทย และเป็นขณะเดียวกับที่ประวัติชีวิตของเขาถูกเขียนตีพิมพ์ลงนิตยสาร “พีเพิล” พอดี ตอนนั้นฮือฮากันมาก ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังของ “ไทเกอร์ วู๊ดส์” จึงได้รับเชิญจากรัฐบาลไทยเป็นแขกวีไอพี จัดเลี้ยงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ “พี่แจ๋” ในฐานะภรรยา พิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ ได้นำหนังสือเล่มที่มี “ไทเกอร์ วู๊ดส์” ขึ้นปกนิตยสาร “พีเพิล” มอบให้นักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก เล่นเอาครอบครัว “ไทเกอร์ วู๊ดส์” ถึงกับอึ้ง มีรูปและเรื่องราวชีวิตของ “ไทเกอร์ วู๊ดส์” มาลงปกหนังสือได้ยังไง ที่เล่าให้ฟังเพื่ออยากสื่อให้เห็นว่า คนทำข่าวต้องมีมุมมองที่กว้างไกล”
แล้วก็ถึงวันที่ต้องอำลา “พี่แจ๋” หากจำไม่ผิด เช้าของวันที่ 31 พ.ค. 37 ได้เดินเข้าไปพบ “พี่แจ๋” ที่ห้องทำงาน บอกกับ “พี่แจ๋”ว่า “ผมขอลาออก” เล่นเอา “พี่แจ๋” ถึงกับอึ้ง! ถามผมว่า “ทำไม” ตอบว่า “หนังสือนิตยสารไม่ใช่ทางผม ผมถนัดทำหนังสือรายวัน” ซึ่ง “พี่แจ๋” ก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร แถมอวยพรให้อีกต่างหาก จากนั้นรุ่งขึ้นของวันที่ 1 มิ.ย. 37 ก็ได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ”ตามคำชักชวนของเพื่อน ตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 ทำงานสักระยะก็ขยับขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 จนปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชน ดร.เอก์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และตรงไปตรงมา จึงเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากพี่น้องสื่อมวลชน สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) 3 สมัยติดต่อกัน ได้วางรากฐานและแผนการทำงานสมาคมฯ อย่างเป็นระบบ ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ดร.เอก์ ได้นำพาสมาคมฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามนโยบายของรัฐบาล โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้แก่ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ ในการให้ความรู้ ความเข้าใจ ปลุกจิตสำนึก เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา รู้ถึงพิษภัยการทุจริตว่า สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองอย่างมหาศาล พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ทำให้เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา หัวใจพองโตที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเสมือนมะเร็งร้ายทำลายชาติ
ผลการดำเนินงานของสมาคมฯ ที่ออกสู่สาธารณะ เป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรมนี้เอง ส่งผลให้สมาคมฯ ได้รับการยอมรับจากวงการสื่อสารมวลชน และเป็นที่ยอมรับของผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศ อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวชื่นชมสมาคมฯ ในการทำหน้าที่สื่อที่ดี ที่สำคัญยิ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งนับเป็นบุคคลต้นแบบของความ “ซื่อสัตย์ สุจริต”ได้กล่าว “ขอบคุณ ชมเชย” ในโอกาสที่ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานเสวนาหัวข้อ “คอร์รัปชั่น...หายนะประเทศไทย”ที่สมาคมฯ จัดขึ้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 59 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมฝากให้สานต่อเจตนารมณ์การทำความดี “ตอบแทนคุณแผ่นดิน”
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังสร้างเครือข่ายภาคประชาชนผ่านศูนย์ประสานงานต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร และอีก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ โดยเครือข่ายดังกล่าว จะเป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตา สอดส่องความไม่ชอบมาพากลในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่ทุจริตประพฤติมิชอบอีกด้วย
ดร.เอก์ สะท้อนสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นปัจจุบันว่า มีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศอย่างร้ายแรง การทุจริตคอร์รัปชั่นมีรูปแบบที่ซับซ้อนและยากต่อการยับยั้งได้ด้วยระบบกฎหมาย การทำให้บ้านเมืองสุจริตต้องช่วยกันทำให้คนในประเทศเห็นความสำคัญของความสุจริต การที่จะทำให้บ้านเมืองก้าวผ่านปัญหาการทุจริตได้นั้น ทุกคนต้องร่วมมือกัน เริ่มจากตัวเราเอง ต้องประพฤติตนเป็นคนดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง นั่นหมายถึงเด็ก เยาวชน ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
สมาคมฯ จึงให้ความสำคัญต่อพลังแห่งเยาวชนที่จะสร้างบ้านเมืองด้วยความความคิดที่สุจริตได้อย่างยั่งยืน จึงได้มุ่งเน้นยกระดับและพัฒนาศักยภาพของนิสิต นักศึกษา ให้เป็นพลัง เป็นกำลังสำคัญของชาติ มีความสำนึกในความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย จึงให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในปัจจุบันไปสู่อนาคตที่ดีกว่าการที่นิสิต นักศึกษา มีความรู้ความเข้าใจต่อระบบการเมืองการปกครองอย่างรอบด้านจะส่งเสริมให้เกิดการประพฤติปฏิบัติในบทบาท หน้าที่และสิทธิพลเมืองได้เป็นอย่างดี การตระหนักในหน้าที่พลเมืองและการทำหน้าที่พลเมืองเป็นผลลัทธ์ที่สำคัญต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองของไทย
สมาคมฯ จึงเล็งเห็นว่า หลักธรรมาภิบาล เป็นสิ่งสำคัญเป็นตัวช่วยให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา มีความเข้าใจต่อการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี การนำหลักธรรมาภิบาลใช้ขับเคลื่อนการปลูกฝังค่านิยมการไม่โกง ไม่ทุจริต การมีจิตสำนึกรักบ้านเมือง การเป็นคนดี และไม่เพิกเฉยต่อความทุจริตในสังคมนั้น เป็นสิ่งที่สมาคมฯและภาคีเครือข่ายจะขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องของธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีให้ครอบคลุมทุกประเด็นของธรรมาภิบาลทั้ง 6 หลัก ได้แก่ หลักคุณธรรม หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า พร้อมยกระดับความเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลให้ครบถ้วนทุกมิติ
สมาคมฯ จึงได้จัดทำโครงการ “สภาธรรมาภิบาลนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”ขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนบ้านเมืองของไปสู่การเป็นสังคมที่นิยมความสุจริต และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความรุ่งเรือง ตามวัตถุประสงค์ของสภาธรรมาภิบาลนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ได้มีมติร่วมกันในการขับเคลื่อนองค์กรนี้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสภาธรรมาภิบาลนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย คือ เพื่อเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังนักศึกษา สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษา ทั่วประเทศไทย นำหลักธรรมาภิบาลไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่และสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในอนาคตอัน
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมสนับสนุนการให้ความรู้ “STRONG จิตพอเพียงต้านการทุจริต”เพื่อสร้างเครือข่าย STRONG ระดับอุดมศึกษา ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกันทั้งประเทศ สร้างเวทีการมีส่วนร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไปสู่ “ประเทศไทย ใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”(Zero tolerance & Clean Thailand) เพื่อยกระดับและสร้างมาตรฐานเครือข่าย “STRONG จิตพอเพียงต้านการทุจริต” โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนในสถาบันการศึกษาของประเทศ ได้แก่ นิสิต นักศึกษา สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศไทย ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคชุมชน ท้องถิ่นและสังคม ภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม
สมาคมฯ หวังว่า โครงการสภาธรรมาภิบาลนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จะเป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์สร้างบ้านเมืองและสร้างพลเมืองที่สุจริตได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับหัวใจที่สุจริต สร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณของความเป็นคนดี มีความรับผิดชอบ เข้าใจหน้าที่ ทำความดีเพื่อแผ่นดิน และสร้างบ้านเมืองสุจริต