นักวิชาการของ องค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ(อพวช.) เปิดเผยข้อมูลว่า จากการ ทำการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์บริเวณอุทยานธรณีสตูล จังหวัดสตูล ตั้งแต่ วันที่ 21 เมษายน 2565 นักวิชาการพบมดสีเหลือง ๆ สร้างรังอยู่ในกิ่งไม้ขนาดเล็กแห้งคาต้นของไม้พุ่มในป่าละเมาะใกล้กับถ้ำอุไรทอง และป่าละเมาะใกล้คลองห้วยบ้า อำเภอละงู จังหวัดสตูล
หลังจากทำการศึกษาพบว่ามดชนิดนี้อยู่ในสกุลมดบาก (Genus Vombisidris) และเป็นมดชนิดใหม่ของโลก หลังจากนั้น นายทัศนัย จีนทอง ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง (อพวช.) และ รศ.ดร.วัฒนชัย ตาเสน คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันบรรยายลักษณะและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นมดชนิดของโลกในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 23 (ปี พ.ศ. 2566) โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jeenthong, Jaitrong & Tasen, 2023
โดยท้ายที่สุดมดชนิดใหม่นี้ได้มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการว่า “มดบากจีนใจ” ” โดย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นผู้ตั้งชื่อไทยเพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดนิทรรศการสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ New Species of Life เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
.มดบากจีนใจ เป็นมดขนาดเล็ก มีความยาวลำตัว 2.64 มิลลิเมตร ส่วนหัวและลำตัวมีสีเหลือง ส่วนท้องสีน้ำตาลเข้ม ขาทั้งสามคู่สีเหลืองอ่อนกว่าลำตัว ส่วนหัวมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นผิวด้านหน้าของหัวเป็นลายตาข่าย ด้านข้างหัวมีลักษณะเป็นร่องแคบ 1 เส้น ยาวคาดจากส่วนท้ายหัวผ่านมาชิดขอบล่างตารวม (compound eyes) และยาวไปถึงด้านข้างปาก (Subocular groove) และบริเวณส่วนอกซึ่งหลอมรวมกับท้องปล้องแรกมีหนาม (Propodeal spine) 1 คู่ มีลักษณะตรง หนา และสั้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากมดบากชนิดอื่น