หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง เผยผลการศึกษาพบคนไทยสูญเสียปีสุขภาวะรวมกว่า 18.5 ล้านปี ส่วนใหญ่จากการตายก่อนวัยอันควรด้วยเหตุบาดเจ็บทางถนน โรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวาน โดยเฉพาะวัยทำงานทั้งชายและหญิง
หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง เผยผลการศึกษาพบคนไทยสูญเสียปีสุขภาวะรวมกว่า 18.5 ล้านปี ส่วนใหญ่จากการตายก่อนวัยอันควรด้วยเหตุบาดเจ็บทางถนน โรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวาน โดยเฉพาะวัยทำงานทั้งชายและหญิง เสนอให้เป็นวาระเร่งด่วนในการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุและโรคไม่ติดต่อ พร้อมคัดกรองผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) และประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาประเมินภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ในการศึกษาและสำรวจครั้งล่าสุด พบว่า คนไทยทั้งประเทศสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability-Adjusted Life Years) รวมกว่า 18.5 ล้านปี ซึ่งจำนวนปีที่สูญเสียไปอย่างน่าเสียดายนี้เพราะสุขภาพที่ไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย โดยกว่าร้อยละ 72 เป็นการสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควรจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ การบาดเจ็บทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน พบสูงสุดในกลุ่มอายุ 45- 59 ปี ทั้งในเพศชายและหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงาน โดยในเพศชายสูญเสียจากการบาดเจ็บทางถนนสูงสุด รองลงมา คือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ส่วนในเพศหญิง พบการสูญเสียสูงสุดจากโรคเบาหวาน รองลงมา คือ โรคหลอดเลือดสมอง และการบาดเจ็บทางถนน นอกจากนี้ ยังพบการสูญเสียปีสุขภาวะจากการติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค รวมถึงโรคมะเร็งชนิดต่างๆ อีกด้วย
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการเร่งรัดดำเนินการเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น 3 ประเด็น คือ เรื่องการบาดเจ็บทางถนน ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและปรับมาตรการให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยมุ่งเน้นลดปัจจัยเสี่ยง ทั้งการตรวจวัดความเร็ว การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ การบังคับใช้หมวกและเข็มขัดนิรภัยในการขับขี่ ส่วนเรื่องโรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเป็นสังคมสูงอายุ สสส.ควรร่วมมือกับเครือข่ายเร่งสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรค โดยลดปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งเสริมการบริโภคอาหารที่เหมาะสม โดยที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งและเน้นย้ำเรื่องมาตรการในการคัดกรองผู้มีความดันโลหิตสูงและน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อนำผู้ที่พบว่าป่วยเข้ารับการรักษาและรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว
สำหรับภาระโรค (Burden of Disease) เป็นการวัดสถานะสุขภาพของประชากร โดยประเมินจากภาระความสูญเสียทางสุขภาพเป็นหน่วยของการสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability Adjusted Life Years – DALYs) ประกอบด้วย ความสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร (YLL) และความสูญเสียจากความเจ็บป่วยและพิการ (YLD) ถือเป็นเครื่องชี้วัดที่สะท้อนปัญหาสุขภาพของประชากรได้ครอบคลุม ทั้งการตาย ความเจ็บป่วย ความพิการ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจัดลำดับความสำคัญและการวางแผนการลงทุนทางสุขภาพ รวมทั้งประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชากรในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยจะมีการศึกษาและประเมินทุก 5 ปี