ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
27 ธ.ค. 2566

ผืนป่าที่เขียวขจี อุดมไปด้วยต้นไม้ ถือเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศได้มากมายมหาศาล ถึงกระนั้นก็ยังมีคนมีอิทธิพลบางกลุ่ม คงแสวงหาผลประโยชน์จากป่าไม้ หรือบางครั้งอาจจะเป็นประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่ลุกล้ำป่าโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องหาใครซักคนมารับหน้าที่พิทักษ์ผืนป่าเพื่อส่งต่อทรัพยากรของชาติให้คนรุ่นหลังต่อไป

ซึ่งลักษณะของบุคคลที่กล่าวถึง จะต้องเป็นคนใจถึงเข้าถึงผู้คน มีไหวพริบ ตรงไปตรงมากับงานที่ทำ ซื่อตรง รักคุณธรรม ไม่ย่อหย่อนต่อหน้าที่ ไม่ทำอะไรเสื่อมเสีย และทำงานอย่างมุ่งมั่นในงานที่ทำ และ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับคุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หรือ พี่อี่ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หนึ่งในพญาเสือผู้ที่ทำงานด้วยความตั้งใจ และด้วยหัวใจนักเลงเมืองเพชรฯ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ในการพูดคุยกับผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกป่ามาแล้วมากมาย จนทำให้เขาได้เดินหน้าปกป้องทรัพยากรของชาติมาแล้วทั่วไทย

โดยผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เล่าว่า ตัวเขาเป็นคนพื้นเพชาวอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีคุณพ่อเป็นคนจีนและคุณแม่เป็นคนไทย ที่บ้านมีลูกทั้งหมด 19 คนซึ่งด้วยสมาชิกในครอบครัวที่เยอะขนาดนี้ ทำให้คุณพ่อกับคุณแม่จึงรับทำงานรับจ้างทุกอย่างที่ทำได้ ประกอบกับที่บ้านมีลูกเยอะ ทางคุณพ่อเลยพาตัวเขาไปฝากที่โรงเจจนโตถึงกระนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้ได้เรียนหนังสือ

แต่คุณชัยวัฒน์ ยอมรับว่า ตอนเด็กเป็นคนเกเร ไม่ตั้งใจเรียน แต่เป็นชอบทำกิจกรรมเช่น เล่นฟุตบอล ดนตรี มากกว่า ก่อนที่ต่อมาทางคุณพ่อคุณแม่จะส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอาคเนย์ คณะบัญชี อยู่ประมาณ 2 ปี ถึงกระนั้นก็ยังเป็นเด็กเกเรอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนความคิด คือตอนได้เห็นคุณพ่อที่ทำงานลำบากมาทั้งชีวิตและได้พบประสบอุบัติเหตุขาหัก เลยมีความตั้งใจเรียนหนังสือ และออกจากมหาวิทยาลัยอาคเนย์เพราะเรียนไม่จบ และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งระหว่างนั้นมีงานอดิเรกที่ชอบคือจับปลาและชอบต้นไม้ เพื่อนเลยแนะนำให้ไปสมัครสอบเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ก็ได้เรียนอีก 5 ปี จนจบปริญญาตรีและปริญญาโทในคณะวนศาสตร์ได้โดยคุณชัยวัฒน์ ได้บอกอีกว่า

“หลังจากเรียนจบผมก็ได้ไปสอบ ก.พ. และสามารถสอบติด วันที่ 17 กันยายน 2533 ได้ถูกบรรจุให้ทำงานที่จังหวัดราษฎร์ธานี เป็นป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี ก็ทำงานได้อยู่ประมาณปี 2533-35 ก็ย้ายกลับมาที่จังหวัดเพชรบุรี สำนักเขตป่าไม้เพชรบุรี ได้เป็นหัวหน้า วนอุทยานชะอำ ในปี 2535และได้ประกาศจัดตั้ง วนอุทยานเขานางพันธุรัต ปี2541 รวมถึงได้ประกาศจัดตั้งโครงการสวนพฤกษชาติตามพระราชดำริ (เขาอีหรุ่น) ซึ่งติดกับอุทยานราชภักดิ์”

“โดยสาเหตุที่ให้ผมได้ถูกมอบหมายมาทำหน้าที่นี้ เนื่องจากผู้ใหญ่เห็นว่าผมเป็นคนเพชรบุรีขณะที่มีผู้มีอิทธิพลครอบครองที่ดินบริเวณป่าอยู่ผมจึงได้ดำเนินการเรียกพูดคุยกับคนที่เข้ามาในพื้นที่ป่า จนสามารถขอคืนพื้นที่ป่าคืน และประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอนมะทราง วนอุทยานชะอำได้สำเร็จ

คุณชัยวัฒน์ยังได้เล่าถึงการได้ทำภารกิจโครงการพระราชดำริและความประทับใจที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 อีกว่า หลังจากตัวเขาสามารถประสบความสำเร็จทำให้หลายคนเริ่มเชื่อมั่นในความสามารถจึงทำให้มีโอกาสไปทำงานรับผิดชอบโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่เขานางพันธุรัตอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งตอนนั้นได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อประกาศจัดตั้งที่นี้เป็นวนอุทยานเขานางพันธุรัต ซึ่งได้ไปพูดคุยกับโรงปูนซีเมนต์และสามารถประกาศจัดตั้งได้สำเร็จในปี 2541 ด้วยพื้นที่มากกว่า 2,156 ไร่

ต่อมาเมื่อปี 2548 เขานางพันธุรัตได้หมดสัมปทานกับโรงปูนซีเมนต์ ซึ่งตัวเขาไม่เห็นด้วยกับการให้ต่อใบอนุญาต ประกอบกับทางกรมอุทยานแห่งชาติมีแผนจะปรับหินในพื้นที่ที่เคยถูกระเบิดลงมาจากภูเขา ภายใต้งบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งบริเวณนั้นมีโรงปูนซีเมนต์อยู่ก็จะเคลียร์พื้นที่ออกให้หมด จะทำให้มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่แล้วมีแผนจะนำหน่วยงานราชการทั้งหมดให้มาอยู่ที่นี้ เสมือนเป็นศูนย์ราชการอีกแห่งขึ้นมาซึ่งก็นำแผนดังกล่าวไปถวายพระเจ้าอยู่หัว

“เมื่อเรื่องดังกล่าว มีผู้หลักผู้ใหญ่ไปถ่ายทอดให้ไปพระองค์ท่านทราบพระองค์ท่านก็ได้ถามว่าโรงงานแห่งนี้มีคนอยู่ประมาณเท่าไหร่ ทางเราก็บอกว่ามีอยู่ประมาณ 4,000คน แล้วพระองค์ท่านก็ถามอีกว่าจะนำเงิน 500 ล้านบาทเอามาจากไหน เราก็ชี้แจงว่าเป็นเงินจากงบกลางของรัฐบาล พระองค์ท่านจึงตรัสว่าเงิน 500 ล้านบาทเป็นภาษีของประชาชน ถ้าให้ทางบริษัทเป็นผู้เก็บกวาดหิน เพื่อนำไปขายหรือนำไปทิ้งกันคลื่นทะเลได้หรือไม่ โดยไม่ต้องใช้เงิน 500 ล้านบาท”คุณชัยวัฒน์ เล่าถึงความพระปรีชาสามารถของในหลวง รัชการที่ 9 ด้วยความซาบซึ้ง

คุณชัววัฒน์ บอกอีกว่า จากที่พระองค์เสนอมามีประสงค์เพื่อให้ประสบนิกรไม่ตกงาน โรงงานมีโอกาสใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อได้ ปูนซีเมนต์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะที่ไปขุดที่อื่นใหม่ก็เสียวัสดุใหม่ ค้นหาที่ใหม่ และยังต้องเปิดหน้าดินใหม่ เป็นการแก้ปัญหาที่กระทบประชาชนให้น้อยที่สุด และทำให้คนไม่ตกงาน เศรษฐกิจยังคงหมุนเวียน รวมไปถึงจากเหตุการณ์นั้นทำให้ตเว้ขาแถบร้องให้

อีกหนึ่งความประทับใจคือหลังจากรับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็ได้มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินจากวังไกลกังวลไปยังน้ำตกป่าละอู พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่รู้สึกประทับใจเป็นที่สุด เพราะได้ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการส่วนพระองค์

โดยพระองค์ได้ตรัสถามว่า “เหนื่อยไหม” ซึ่งได้ถวายรายงานพระองค์ต่อว่า “ข้าพระพุทธเจ้าและเจ้าหน้าที่ทุกนายไม่ได้เหนื่อย” และพระองค์ท่านก็ได้ถามถึงเหตุการณ์เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งตัวเขาได้เป็นทัพหน้า นำลูกน้องเข้าไปบุกป่าฝ่าดง เพื่อช่วยกู้เฮลิคอปเตอร์และผู้เสียชีวิต จนได้รับมอบประกาศนียบัตรแก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2554 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนได้รับฉายา “วีรบุรุษแก่งกระจาน” ซึ่งพระองค์ถามว่า "ฮ.ตก จุดไหน" พร้อมได้เตือน “ขอให้อดทน”และ “ขอให้หัวหน้าบอกเจ้าหน้าที่ด้วยขอให้อดทน”นอกจากนี้พระองค์ยังได้ตรัสไว้อีกหลายๆ ประโยค เช่น “เดินลาดตระเวนป่าเดินยังไง” “พะเนินทุ่งเป็นอย่างไร” “ฝากดูแลช้างป่าด้วย” เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านให้ความเอาใส่ใจตนเองขนาดไหน

อาจพูดได้ว่า จากการรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้ได้พบเจอเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย ทั้งดีและร้าย บางอย่างร้ายแรงถึงขั้นถูกออกราชการ แต่ด้วยการต่อสู้และยืนหยัดบนข้อเท็จจริง ส่งผลให้ศาลปกครองเพชรบุรี พิพากษาให้กลับเข้ารับราชการเหมือนเดิม และได้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่รู้สึกว่าเสียใจแต่อย่างใด แต่กลับภาคภูมิใจกับการได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะทำให้ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายงาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งยังทำให้ได้รู้ว่า ป่าไม้ถูกรังแกมากน้อยขนาดไหน และอยากจะถามว่า “วันนี้ใครรังแกใคร”โดยไม่เคยจับกระเหรี่ยงซักคนเดียว แต่พยายามอดทน เจรจา แก้ไขปัญหา แม้จะมีกำลังติดอาวุธอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ โดยการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริ มาใช้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้

และจากการทำงานที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและด้วยความเป็นคนใจนักเลง นักสู้ จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นหน่วยพญาเสือ ซึ่งจากการทำงานที่ต้องพบเจอผู้มีอิทธิพลมากมาย ทำให้มีสิ่งหนึ่งที่ยึดมั่นมาเสมอและได้สั่งสอนน้องๆ ให้มีอุดมการณ์เดียวกัน คือ ไม่รับเงินจากใคร ไม่รับเงินสินบน ไม่เจรจา ไม่สนใจผู้บริหารฯ หรือว่าใครทั้งนั้น และยึดแนวทางของการอนุรักษ์ป่าไว้ มุ่งมั่นทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เต็มที่กับสิ่งที่ทำ จริงจัง และจริงใจกับสิ่งที่ทำ โดยยึดหลักใครล่าสัตว์ผิด ใครตัดไม้ผิด ยึดเป็นหลัก

ด้านการทำงานยึดหลักการบริหารคือ “จะสอนใครตนเองต้องลงมือทำ” กล่าวคือ ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐมนตรี อธิบดี รองอธิบดี รวมไปถึงผู้อำนวยการสำนัก การจะเป็นหัวหน้าที่ดีและมีประสิทธิภาพ คุณต้องใส่ใจและต้องรู้จริงทุกงาน และคุณต้องเข้าใจคนอื่น

สิ่งที่ผมยึดถือมาเสมอและผมสอนรุ่นน้องมาเสมอว่าทุกคนมีเส้นทางของตน แต่ชีวิตจะต้องยืนหยัดอยู่บนคุณธรรมรู้จักผิดชอบชั่วดี สิ่งสำคัญคือมีความกตัญญู รู้จักคุณคน เพราะหากที่คุณไม่รู้คุณคน คุณไม่สามารถไปต่อได้ และต้องมั่นคงในสิ่งที่คุณเป็น รับผิดชอบหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดนายชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...