เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สภาวะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปคือมีมลภาวะมากงขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการมีโรงพยาบาลอย่างเดียวคงไม่พอ การเกิดขึ้นขององค์กรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยกำกับดูแลควบคู่กันไปกับกระทรวงสาธารณสุขจึงเกิดขึ้น หนึ่งในองค์กรที่ว่าก็คือ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” (สช.)
เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีองค์ประกอบสำคัญ คือ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการบริหารสำนักงานงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ จัดทำรายงานสถานการณ์ของระบบสุขภาพ และดำเนินการเพื่อให้การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น บรรลุผลตามมติของ คสช. โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (เลขาธิการ คสช.) เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของ สำนักงานฯ
และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุม คสช. ครั้งที่ 5/2566 ได้มีมติเห็นชอบให้ นายแพทย์ (นพ.) สุเทพ เพชรมาก เข้ารับตำแหน่ง เลขาธิการ คสช. คนใหม่ นับเป็นเลขาธิการ คสช.คนที่ 4 นับแต่มีการก่อตั้งขึ้นมา โดย อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ จะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับคุณหมอที่มากไปด้วยประสบการณ์ ผู้ทำหน้าที่บูรณาการประสานสิบทิศด้านสุขภาพของประเทศ จากหน่วยงาน องค์กร เครือข่าย ประชาสังคม ในภาครัฐ วิชาการ เอกชนและสังคม เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลสู่การปฏิบัติในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้านี้ ที่กล่าวกันว่า บุคคลท่านนี้ทำงานด้านสุขภาพอยู่กับชุมชนมายาวนาน โดดเด่นในวงการแพทย์ บุคคลิกสุขุม นุ่มลึก
ก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และผู้บริหารเบอร์1 ขององค์กรสานพลังอย่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชื่อของ นพ.สุเทพ เพชรมาก เป็นที่รู้จักในฐานะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยตำแหน่งสุดท้ายคือ ‘หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.’
การปฏิบัติภารกิจภายใต้ร่มของ สธ. ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของ ‘นพ.สุเทพ’ สำหรับการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. เนื่องจากการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายให้ออกดอกออกผลนั้น จำเป็นต้องอาศัย ‘คอนเนคชั่น’ ในการประสาน 10 ทิศ
คุณหมอสุเทพ เริ่มต้นย้อนอดีตให้เราฟังว่า คุณหมอเป็นคนบ้านนอก เกิดที่บ้านป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ซึ่งเวลานั้น ไม่มีทั้งไฟฟ้า ไม่มีประปา โจรเยอะมาก หรือกล่าวได้ว่า สมัยนั้นถ้าไม่ส่งลูกเรียนก็ต้องไปเป็นโจร โดยการเรียนเริ่มเรียนหนังสือที่พัทลุง และมาเรียนต่อแพทย์ที่ศิริราช หลังจากเรียนจบไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอที่เขาชัยสน อยู่ที่นั่น นานถึง 10 ปี โดยตอนนั้นโรงพยาบาลอำเภอขึ้นอยู่กับสาธารณสุขจังหวัด ทำงานที่นั่นเป็นทั้งผู้อำนวยการและรักษาคนไข้ไปด้วย
หลังจากนั้นก็โอนมาอยู่ที่กรมอนามัย โดยตอนแรกมาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วย้ายไปทางอีสานที่จังหวัดนครราชสีมา อยู่อนามัยเขตที่โคราชนานอีกรอบนานประมาณ 11ปี หลังจากนั้นได้กลับมาทำงานที่ส่วนกลางเป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งนั่งตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2560 พอดี ทาง สช. เลขาธิการคนเดิมครบวาระ
คุณหมอสุเทพ ย้อนอดีตถึงเหตุที่มาเรียนแพทย์ด้วยว่า ก็ไม่มีแรงจูงใจอะไร แต่เลือกไว้อันดับ 1 คณะแพทย์ รองมาคือวิศวะ ซึ่งสอบติดแพทย์ก็เรียนหมอตั้งแต่นั้นมา แต่จะบอกว่าเรียนเก่งมั้ย ตอนเรียนที่พัทลุงก็อยู่ในระดับ1 2 3 ของห้องตลอด เพื่อนร่วมรุ่นที่มีดังๆ คือ “หมอธเรศ” เพิ่งเกษียณไป ตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมโรค แล้วมี “หมอสมหมาย” เป็นแพทย์กัน 3 คนที่พัทลุง แต่หมอธเรศเขามาเรียนที่เตรียมอุดมฯ ม.ปลาย ส่วนหมอสมหมายก็ทำงานที่พัทลุง ส่วนรุ่นหมอศิริราช จริงๆ มีหลายคน มีสัก 170 คน เมื่อก่อนจบปีหนึ่ง 700-800 คน ไม่เหมือนตอนนี้จบกัน 2,000-3,000 คน เมื่อก่อนมีสถาบันไม่มาก จุฬา ศิริราช รามา ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์
คุณหมอสุเทพ ยังบอกด้วยว่า สมัยก่อนผมเองก็สนใจการเมือง เป็นนักศึกษาแพทย์ ลงเรียนนิติศาสตร์ราม เกือบจะจบ ซื้อชีสหน้าราม เพื่อนๆ อยู่รามเยอะ เลยลงทะเบียนเรียน ไม่ต้องเข้าเรียนก็ได้ อ่านตำราจากชีสเอกสารที่ขายหน้ามหาวิทยาลัย แล้วค่าเรียนหน่วยกิจ 18 บาทเอง ปีแรกเรียนสบาย วิชาพื้นฐาน ช่วงนั้นเรียนหมอไปด้วย แต่ก็ไม่จบหยุดกลางคัน แต่ก็จะหาความรู้อีกโดยไปเรียนเศรษฐศาสตร์อีกที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรียนก็จบ แล้วหลังจากนั้นมีเวลาไปเรียนต่ออีกใบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ ก็สนใจได้ความรู้นำมาใช้ประโยชน์กับงานบริหารได้มากทีเดียว
“ปกติผมเป็นเด็กบ้านนอก ตอนมาเรียนปรับตัวได้มั้ย จบไปก็กลับบ้าน ประสบการณ์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนได้ดีมากๆ ตรวจคนไข้เอง บริหารด้วย ผอ.โรงพยาบาล บริหารคน บริหารงาน ส่วนหนึ่งทำโรงพยาบาลให้ดีขึ้น ทำเชิงป้องกันดีขึ้น จริงๆ หลักทางการแพทย์มีอยู่ 2 อย่างเท่านั้นเอง อย่างแรก ถ้าอะไรป้องกันได้ก็ป้องกันอย่าให้เจ็บป่วย อย่างที่ 2 เจ็บป่วยแล้วดูแลให้ดีที่สุด แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นจะต้องทำให้เขาไม่ต้องป่วย”
คุณหมอสุเทพ เล่าถึงที่มาของการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการฯ ที่จะเกษียณอายุราชการอีก 1 ปี ข้ามฟากมานั่งเลขาธิการ คสช. ว่า อยู่กระทรวงสาธารณสุขมา 35 ปี มีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสุขภาพดี ซึ่งงานในกระทรวงฯ ก็เป็นเจ้าภาพหลักที่ดูงานด้านสุขภาพ เมื่อมีโอกาสประจวบกับท่านเลขาฯ คสช. คนเดิม คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ครบวาระในเดือนกันยายน 2566 จึงตัดสินใจมา เพราะคลุกคลีกับกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพมาตลอด กระทั่งมีการพัฒนาเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีโอกาสได้ร่วมทำงาน ทำให้เห็นว่า สุขภาพจำเป็นต้องมองในมุมมองที่กว้างขึ้น การมองสุขภาพไม่ใช่แค่เชื้อโรค แต่ยังมีเรื่องทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเมือง ปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน
“ผมเองเคยทำงานร่วมกับ สช.แล้วมาก่อน จึงตัดสินใจลงสมัคร ซึ่งเป็นแบบสรรหา ผมจึงต้องลาออกจากราชการมาสมัครเป็น เลขาธิการ คสช. วาระ 4ปี สมัยก่อนเป็นหน่วยงานยังเรียกว่า สปรส. เป็นชื่อสมัยก่อน ก็ตั้งใจทำงาน และ สช.เองเป็นหน่วยงานนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ผมเองสนใจและการทำงานอยู่กับเครือข่าย อยู่กับชาวบ้าน ก็ถนัดอยู่แล้ว การขับเคลื่อนงาน เราใช้สมาเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือเราทำงานร่วมกับทางวิชาการเครือภาพประชาสังคม และเครือข่ายภาครัฐ การสานพลังภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาครัฐ ขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน”
“ระบบสุขภาพมีความเป็นพลวัตร ไม่ว่า โลก หรือ โรค ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งสังคมสูงวัย ความเป็นเมือง สิ่งแวดล้อม มลพิษ รวมถึงสถานการณ์โลกร้อน หรือโลกเดือดในปัจจุบัน เมื่อ สช. เป็นหน่วยงานที่ต้องมีส่วนในการพัฒนานโยบาย ก็จำเป็นจะต้องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหล่านี้” คุณหมอสุเทพ เคยระบุไว้หลังเข้ารับตำแหน่ง
สำหรับปรัชาญการทำงาน คุณหมอบอกว่า “ผมคิดว่าในการทำงานทำอย่างไรให้เราเต็มศักยภาพเต็มที่ เจออะไรอย่ายอมแพ้ สู้อดทนไป ไม่ย่อท้อ ตั้งใจ ทำงานไม่ใช่เราทำคนเดียว ทำงานสำเร็จจะมีคนอื่นช่วยเหลือเราเสมอ ตัวเราได้เรียนรู้ และอาศัยคนอื่นๆ ช่วย ผมอยู่ที่ไหน เราภูมิใจ ว่ามีคนช่วย ลูกน้องผู้บังคับบัญชาไม่หนักใจก็สำเร็จในงาน ถือว่าสำเร็จ”
ขณะที่มุมมองของสังคมกับแพทย์ในยุคปัจจุบัน คุณหมอสุเทพบอกว่า คนเป็นหมอในทางการแพทย์เราดูคนไข้ ไม่มีใครทำได้100% ณ ตอนนั้น ตัดสินใจในเวลาที่จำกัด ไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสพลาด ถ้าสมัยก่อนมันดีมากนะ เพราะตัวคนไข้ค่อนข้างเข้าใจ ช่วงหลังเราจะเห็นตามข่าว เสียชีวิตบ้าง คิดว่าหมอผิดอะไรสักอย่างสักอย่างหรือไม่ เรามองระบบสุขภาพด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ เปลี่ยนไปเยอะ เราต้องมีความรู้ ในเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีด้วย
“อนาคตให้ครบวาระก่อน แต่ทำให้เต็มที่ก่อน 4 ปี เราทำงานให้มีความสุข สิ่งที่เป็นภารกิจขององค์กร เป้าหมาย ให้สำเร็จ เป็นโอกาสที่สร้างสิ่งที่ดีๆ ไว้บ้าง ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน เราสร้างสิ่งที่ดีๆ เป็นความสุข ความสำเร็จ และสร้างสิ่งดีๆ เป็นความตั้งใจจริงๆ ของผม” คุณหมอสุเทพ กล่าวในที่สุด