ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ เขต 9 พรรคพลังประชารัฐ
11 ก.ย. 2567

นักการเมืองถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการเป็นปากเสียงให้กับประชาชนในการเสนอความคิดความเห็นให้ของคนตัวเล็กๆ ในสภา อย่างไรก็ตาม การทำงานให้เกิดสำเร็จอย่างแท้จริง ต้องมาพร้อมการลงมือทำจริงและมองเห็นถึงปัญหาของประชาชนอย่างทะลุปรุโปร่งในมิติต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ อปท.เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ จึงขอเสนอหนึ่งนักการเมืองน้ำดีที่ไม่ได้มีแค่คำพูด แต่คือการลงมือทำอย่างทั่วถึงและเข้าถึง ก็คือ คุณนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เชียงใหม่ เขต 9 พรรคพลังประชารัฐ หรือคนในพื้นที่เรียกชื่อเล่นว่า “หนุ่ม นเรศ” ผู้เดินบนเส้นทางการเมืองมามากกว่า 20 ปี ที่เน้นลงมือจริงพร้อมผลงานเป็นรูปธรรม ทั้งการช่วยเหลือที่ดินทำกิน หรือจนประชาชนให้ความไว้ใจ และทำให้คุณหนุ่ม ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดย สส.นเรศ ได้เริ่มเล่าว่า ตนได้เรียนด้านปริญญาตรีรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2531 ก่อนที่จะเรียนจบปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต การเมืองการปกครอง รุ่น 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช พ.ศ.2549 รวมไปถึงยังได้ผ่านหลักสูตรผู้บริหารภาครัฐและกฎหมายมหาชน สถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรนักบริหารยุติธรรมทางปกครอง วิทยาลัยการยุติธรรมทางการปกครอง, หลักสูตรนักบริหารพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง สถาบันพัฒนาการเมือง และการเลือกตั้ง พ.ศ.2558 และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สร้างผลงานทางการมืองมาครึ่งค่อนชีวิต เข้าเส้นทางการเมืองจากการร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นพัฒนาท้องถิ่นมามากมาย

9%

 “ผมเป็นคนลุยทำงานเต็มที่ ผ่านการใช้ความรู้ความสามารถ เครือข่ายหลายด้านอย่างเต็มศักยภาพ ขณะเดียวกันได้เน้นการทำงานเชิงสร้างสรรค์ อดทน มีจิตเป็นกุศล จริงใจ มีมิตรไมตรี เพื่อให้การทำงานช่วงบั้นปลายชีวิตเป็นประโยชน์ ถือเป็นการตอบแทนบ้านเมือง

สส.หนุ่ม บอกต่อว่า ตลอดช่วงเวลาทำงานด้านการเมืองที่ผ่านมา ได้มีโอกาสสะสมประสบการณ์จากการติดตามอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จังหวัดเชียงใหม่ พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย ในการลงพื้นที่โซนพื้นที่สูง สายใต้ของเชียงใหม่มานาน ล่าสุดได้ดำรงผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้บังคับบัญชาของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ได้เห็นสภาพปัญหาและความเดือดร้อนของชาวบ้านและเกษตรกรบางส่วน ที่พบปัญหาเรื่องปากท้องอยู่จำนวนมาก ทั้งการประสบปัญหาภัยแล้ง ปัญหาที่ดินทำกินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รวมไปถึงที่ดินทำกินทับซ้อนกับพื้นที่รัฐ ไปจนถึงปัญหาการจัดการแหล่งน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเกษตร ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านและผู้นำในพื้นที่ เพื่อผลักดันโครงการรัฐที่เป็นประโยชน์แก่โอกาสการทำมาหากินที่ดีขึ้นเรื่อยมาเป็นที่พึ่งของผู้นำท้องถิ่น ที่มักจะขอให้ช่วยประสานการสนับสนุน หรือดำเนินงาน แก้ไขปัญหาระดับหมู่บ้าน ตำบล และยังคลุกคลีกับปัญหานี้สินเกษตรกร ในฐานะ ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอีกด้วย  

ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาที่ของประชาชนและเกษตรกรที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วน คงหนีไม่พ้นเรื่อง “น้ำ” ซึ่ง สส.นเรศ ให้ความสำคัญในประเด็นการจัดการแหล่งน้ำมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอจอมทอง, ดอยหล่อ, แม่วาง ไปจนถึงแม่แจ่ม เป็นพื้นที่เกษตรสำคัญของเชียงใหม่ แต่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อพืชผลเกษตรพืชไร่ โดยเฉพาะลำไย ด้วยเหตุนี้จึงได้ร่วมทำงานกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศึกษาระบบการผลิต ตลาด สินค้าลำไย ทุกมิติ

นอกจากนี้ ยังมีพืชเกษตรอื่นๆ สำคัญ อาทิ มะม่วง กระเทียม จึงต้องวางแผนจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางให้เพียงพอเหมาะสม ลดผลกะทบต่อการสูญเสียของพื้นที่เกษตร

 

“ผมเห็นรอยยิ้มของชาวบ้านและผู้นำที่เราได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อน งานด้านแหล่งน้ำ คือการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการกระจายระบบน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร เช่น เก็บน้ำโป่งจ้อ ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ชาวบ้าน 245 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเกษตรกรได้ใช้น้ำทำเกษตรกว่า 2,000 ไร่ และอ่างเก็บน้ำห้วยมะนาว ตำบล ดอนเปา อำเภอแม่วาง ครอบคลุมพื้นที่ราว 4,500 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทุกปี พี่น้องเกษตรกรยิ้มกันได้ และยังเป็นแหล่งพักผ่อน ท่องเที่ยวของคนรักธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำแม่วาง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ หลังเสร็จสิ้นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นแล้ว จากนี้ไปพี่น้องสายใต้เชียงใหม่จะไม่แล้ง และเผชิญกับน้ำป่าไหลหลากซ้ำซากอีกต่อไป”  สส.นเรศ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น สะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจ

ขณะที่บางพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องถนนหนทาง และคุณภาพชีวิตที่รอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีอุปสรรค เช่น ถนนทางหลวงชนบท สายบ้านเด่น – บ้านหลวง ขุนยะ อำเภอจอมทอง ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรของพี่น้องชาวบ้านบนพื้นที่สูง  ที่มีเหตุการณ์ก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดมาก ทำให้ชาวบ้านขนาดใหญ่ 2 หมู่บ้านและ กลุ่มหมู่บ้านขนาดเล็ก อีก 10 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ จึงได้ช่วยประสานผลักดัน ให้รุดหน้าสำเร็จเสร็จสิ้น ระยะทางรวม 17.611 กิโลเมตร ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นถนนแห่งความสุข พี่น้องเกษตรกรในโครงการหลวง ได้ใช้ถนนสัญจรขนส่งสินค้าเกษตรพืชผักแบบไม่ต้องลำบากอีกแล้ว

ช่วงที่ดำรงผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ มาจนถึงปัจจุบัน ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ และโครงการทำน้ำประปาเพื่อประชาชน การจัดหาแหล่งน้ำบาดาล ในโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้กับเกษตรกรในพื้นที่  พัฒนาปรับปรุงประตูระบายน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมฤดูน้ำหลาก ประสานขับเคลื่อนโครงการ สถานีสูบน้ำพลังไฟฟ้า และสถานีน้ำบาดาล พลังงานไฟฟ้าโซล่าเซล เพื่อ ลดต้นทุนด้านพลังงานการเกษตร 

นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานด้านปัญหาที่ดินทำกินหลายพื้นที่ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ  เช่น เป็นประธานการคณะทำงานขับเคลื่อนและปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินพื้นที่สวนส้มในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอแม่อาย และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมพิจารณาแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและแนวทางการแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการจัดที่ดินฯ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เป็นที่ดินอยู่อาศัย  

อย่างไรก็ตาม หนทางสายการเมืองของเขาดูเหมือนจะเน้นหนักไปทางปากท้อง แต่อีกด้าน เขาเป็นที่รักในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมักเรียกชื่อเขาว่า “พี่หนุ่ม นเรศ” เพราะนโยบายส่วนตัวเน้นการมีส่วนร่วม พัฒนาส่งเสริม กิจกรรมของเยาวชน และกีฬาชุมชนมาหลายปีต่อเนื่อง ช่วยลด ล้างยาเสพติดในชุมชน จึงมักสนับสนุนงบประมาณส่วนตัว สำหรับการกิจกรรมเยาวชนและงานแข่งขันกีฬาทุกตำบลไม่เคยขาดสาย แม้การแข่งขันกีฬาระหว่างพี่น้องชนเผ่าบนดอย “พี่หนุ่ม นเรศ” มักปรากฏตัว ไปให้กำลังใจ มอบรางวัลทุกสนาม ทำให้เขา ยืนอยู่ในความนิยมชมชอบของเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

จากความตั้งใจที่จะทำงานในสายการเมืองอย่างเต็มที่ จึงสมัครรับเลือกเป็น สส. ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 2566 เพราะยังเชื่อว่า ในบริบทของ ส.ส.นั้นมีบทบาทสำคัญในการเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องประชาชน กลั่นกรองกฎหมายและผลักดันการพัฒนาพื้นที่ในระดับนโยบายรัฐ โดยลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรค พลังประชารัฐ แต่การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ง่ายนัก เพราะนอกจากต้องแข่งขันกับ พรรคใหญ่เพื่อไทย แล้วยังต้อง สู้กับพลังเสียงของกระแสพรรคใหม่มาแรง “ก้าวไกล” ในพื้นที่ค่อนข้างหนักหน่วง ชื่อของ “หนุ่ม นเรศ” ยังคงอยู่ในใจของคนสายลุย นักพัฒนานา และคนทำงานระดับผู้นำ ที่ขับเคลื่อนงานร่วมกันมาโดยตลอดเป็นฐานสำคัญให้ การหาเสียงเลือกตั้งนั้น “ใช้ผลงาน”นำทาง ในการบอกกล่าวอาสา เข้าไปเป็นผู้แทน เป็นกระบอกเสียงแทนชาวบ้านในการพัฒนาบ้านเมืองในระดับนโยบาย และด้วยผลงานที่เด่นชัดมากมาย ให้ “หนุ่มนนเรศ” ได้รับคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน เลือกให้เป็น ส.ส.เขต 9 จังหวัดเชียงใหม่ นับว่าเป็นที่นั่ง ส.ส.เชียงใหม่ หนึ่งเดียวในพรรคพลังประชารัฐ

                หลังจากได้เดินบนเส้นทางการเมืองในตำแหน่ง สส. ก็ยิ่งทำงานหนักขึ้นเพื่อสานต่องานที่เคยทำไว้ต่อเนื่อง โดยนำเรื่องปัญหาของพื้นที่ นำเสนอปรึกษาหารือในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในหลายแห่ง ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มุ่งการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ ให้มีแหล่งกักเก็บน้ำให้ประชาชนได้มีน้ำกิน น้ำใช้ เพื่ออุปโภค บริโภค รวมถึงน้ำใช้ในภาคการเกษตร ตลอดปี

นอกจากนี้ นำเสนอในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณแก่กรมทางหลวงชนบท   ดำเนินโครงการถนนเลี่ยงเมือง อำเภอจอมทอง เพื่อลดความแออัดของถนนในตัวเมืองที่เชื่อมออกไปทางอำเภอฮอด ระยะทาง 7 กม.  เชื่อมทางหลวง 108  เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นจุดเศรษฐกิจชายแดนสำคัญ ที่ติดต่อข้ามไปยังเมียนมาร์และจีน ตามแผนการขยายเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบนของรัฐบาล ซึ่งถนนสายนี้ กรมทางหลวงได้มอบแบบก่อสร้างของแนวเส้นทางตามผังเมืองรวมชุมชนจอมทอง สาย ค.1 ให้แก่ กรมทางหลวงชนบท ไปเมื่อ 25 เม.ย.2566 จึงต้องขอให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการ เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมาถึงอำเภอจอมทองในอนาคตโดยเร็ว

แม้บทบาทของ สส.จะมีหน้าที่หลักในการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร แต่หลังจากเสร็จงานที่สภาฯ “หนุ่ม เนรศ” มีตารางงานลงพื้นที่พบปะชาวบ้านและผู้นำ ช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทุกสัปดาห์ โดยในช่วงฤดูน้ำหลากเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี2566 ชาวบ้านเขต 9 ประสบอุทุกภัยน้ำป่าไหลหลากกระจายทุกพื้นที่ ซึ่ง สส.นเรศ มีส่วนช่วยประสานงานไปยัง หน่วยงานกรมชลประทาน และ หน่วยงานอื่นๆ เร่งเข้าช่วยเหลือบรรเทาปัญหาตลิ่ง ลำเหมือง แม่น้ำ ต่างๆ ที่ถูกน้ำซัดพัง อย่างเช่นกรณีสะพานข้ามแม่น้ำปิง บ้านท่าศาลา-วังสะแกง ถูกน้ำหลากพัดถล่มเสียหาย ไม่สามารถสัญจรได้ ก็ลงพื้นที่ไปร่วมกับหน่วยงานท้องที่เพื่อปรึกษาหารือแนวทางแก้ไขเร่งด้วนเป็นต้น

ส่วนหลักการทำงานการเมืองนั้น สส.นเรศ บอกว่า ยึดหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวคือ การทำงานต้องดูกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายที่มีอยู่ ประกอบกับความต้องการของประชาชน หาก ใช้หลักนิติรัฐอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะใช้แต่หลักรัฐศาสตร์ก็ผิดกฎหมาย ดังนั้น สองส่วนนี้จึงต้องเดินด้วยกัน

                “ผมเน้นการทำงานที่เห็นผลงานเป็นรูปธรรม และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ลงพื้นที่เข้าถึงชาวบ้านสม่ำเสมอ ทำให้ผมสามารถฝ่าฟัน สนามการแข่งขันเลือกตั้งใน พื้นที่จ.เชียงใหม่ ที่มีความรุนแรงและเข้มข้นของสองพรรคใหญ่ จนได้รับชัยชนะ และต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่เชื่อมั่นในการทำงานของผม จากนี้ไปยังคงมุ่งมั่น พร้อมทำงานอย่างหนัก เพราะบางพื้นที่ยังต้องได้รับการแก้ไข และเยียวยา เพื่อเข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น” สส.นเรศ กล่าวปิดท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 กันยายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...