ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
11 ก.ย. 2567

เศรษฐกิจและตัวเลข ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อทุกผู้ทุกคน และทุกคนก็รู้สึกว่าเข้าถึงและรู้สึกได้ แต่ในแง่ของ “ทฤษฎี” ทางเศรษฐกิจ ผู้ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์นี้ได้ จะต้องมองเห็นเศรษฐกิจในมุมกว้าง หรือเศรษฐศาสตร์มหภาคได้อย่างเข้าใจและลึกซึ้ง ครบทุกมิติ

วันนี้ อปท.วส์นเชิญเป็นแขก จึงขอเสนอหนึ่งอดีตขุนคลัง ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้มีงานวิจัยและประสบการณ์มากว่า 40 ปี และเป็นผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) ระดับปริญญาโทและเอก ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มากมาย ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงการคลัง และ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งยังเป็นผู้คิดค้น “ทฤษฎีบ่อปลา” สำหรับอธิบายเศรษฐศาสตร์มหภาคให้เข้าใจง่ายอีกด้วย

โดย ศ.สุชาติ ได้เล่าชีวิตของตนเองว่า เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เป็นลูกคนโต มีน้องๆ ทั้งหมด 4 คน อาศัยอยู่ที่บ้านเช่าในชุมชนริมคลองบางหลวง ค่าเช่าเดือนละ 30 บาท โดยคุณแม่เป็นแม่ค้า ขณะที่คุณพ่อเป็นกรรมกรทำรองเท้า ตอนนั้นครอบครัวพ่อแม่มีรายได้แทบไม่พอกิน จนต่อมาเมื่อแม่มีลูกคนที่ 5 แม่จึงคิดไปช่วยหารายได้ โดยไปพายเรือขายหวานเย็นน้ำแข็งใสในคลองบางหลวง ธนบุรี และต่อมาไปขายก๋วยเตี๋ยวแทน โดยจ้างคนข้างบ้านดูน้องคนเล็ก และตอนนั้นตนอายุเพียง 8 ขวบ ได้นั่งหัวเรือไปขายของกับแม่ ตากแดดทั้งวัน ทำให้เห็นความลำบากของแม่มาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้รู้สึกรักแม่มาก

คุณแม่ไม่เคยมีโอกาสได้เล่าเรียน อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น แต่แม่ก็ทุ่มเททํางานหามรุ่งหามค่ำเพื่อปากท้องของลูกๆ แต่แม่มองเห็นประโยชน์ของการศึกษา จึงมีความต้องการให้ลูกๆ ได้รับการศึกษา ด้วยเหตุนี้ทำให้ตนได้ไปเรียนหนังสือเริ่มชั้นป.1 ที่โรงเรียนวัดทองศาลางาม จังหวัดธนบุรี ต่อมาได้ไปสอบชิงทุนกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทุนเรียนหลวงเรียนตั้งแต่เรียนประถม 5

ต่อมาจึงมีโอกาสได้ไปเล่าเรียนที่ต่างประเทศ ซึ่งเรียนปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ McMaster University, Canada ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ The London School of Economics and Political Science, England และได้รับประกาศนียบัตรเศรษฐศาสตร์ University of East Anglia, England ก่อนหน้านั้น ได้จบเศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาบัตรหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชนรุ่นที่ 1 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร  ดร.สุชาติ เล่าอีกว่า

“ผมรู้สึกขอบคุณแม่ที่ได้พันธุกรรมทางด้านสมองจากคุณแม่มา ทำให้เด็กยากจนอย่างผม สามารถเรียนจนจบปริญญาเอกในต่างประเทศได้ คงเป็นเพราะครอบครัวแม่ยากจนมาก จึงทำให้แม่เป็นคนระมัดระวังและประหยัดมาก ผมเองไม่ระมัดระวังเท่าแม่ แต่ผมได้นิสัยประหยัดจากแม่มา แม่เป็นคนฉลาด ผมเข้า ป.1 เมื่ออายุได้ 9 ขวบแล้ว โดยเกณฑ์จะประมาณ 7-8 ขวบ เข้าใจว่า พ่อแม่ที่เป็นคนยากจนคงไม่รู้จึงพาไปเข้าโรงเรียนช้า วันแรกที่ผมได้การบ้านมาทำ เขียน ก. ข. บนกระดานชนวน ยังจำได้ว่า แม่ได้จับมือให้เขียนในขณะที่ผมง่วงนอนมาก”

“พ่อพาผมไปฝากเข้าโรงเรียนวัดใกล้ๆ บ้าน ชื่อโรงเรียนวัดทองศาลางาม ผมสอบได้ที่ 1 ของชั้นมาโดยตลอด ทุกๆ เช้าเวลาประมาณตี 5 ผมจะนั่งเรือหางยาวในคลอง บางหลวง ไปซื้อบะหมี่ เนื้อหมู ถั่วงอก เพื่อเตรียมให้แม่ไปขายก๋วยเตี๋ยวในคลองบางหลวง กลับมาถึงบ้านเชประมาณ 7 โมงกว่า ผมก็จะไปโรงเรียน แม่เป็นผู้ดูแลอาหารการกิน และเสื้อผ้าให้ผมและน้องๆ แต่ผมชอบใส่เสื้อเก่าๆ และเสื้อปะเสมอ และรู้สึกดีกว่าใส่เสื้อใหม่ คงได้นิสัยประหยัดจากแม่มา และคงอยากช่วยแม่ประหยัด ทำให้ผมไม่เคยขออะไรจากพ่อแม่เลย การไม่ขออะไรจากผู้อื่น จึงติดเป็นนิสัยมาจนทุกวันนี้”

ศ.สุชาติ กล่าวถึงเส้นทางการเมืองว่า เมื่อเข้าสู่ปี 2547 ได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้กับนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในหน้าที่ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังในปี 2551

ตอนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ได้เกิดวิกฤตทางการเงินในสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส  ด้วยเกรงว่าปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐฯ จะสร้างปัญหาการสั่นคลอนต่อระบบเงินไทย ตนจึงได้สั่งการให้ค้ำประกันเงินฝากของประชาชนเต็มจำนวน เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อระบบการเงินไทย จึงไม่เกิดการถอนเงินจำนวนมากจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 นอกจากนี้ ตนยังเป็นผู้ริเริ่มวิธีทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์มหภาค เช่น “ทฤษฎีบ่อปลา” ขึ้นมา

 โดยทฤษฎีบ่อปลา เป็นการอธิบายถึงการบริหารระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเปรียบเสมือนการดูแลปริมาณน้ำในบ่อปลา ปลาแต่ละตัว คือองค์กรธุรกิจหรือประชาชนมีหน้าที่บริหารและดูแลตัวเอง ตามวิชาการบริหารธุรกิจและการเงินธุรกิจ แต่การบริหารระบบเศรษฐกิจนั้น ไม่เหมือนกับการบริหารธุรกิจ รัฐบาลไม่ได้ดูแลตนเองเหมือนองค์กรธุรกิจ รัฐบาลดูแลปริมาณน้ำในบ่อให้เต็มที่เพียงพอ แต่ไม่ให้ล้นบ่อ เพื่อให้ปลาสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ที่สุด ซึ่งเป็นทฤษฎีหนึ่งในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics)  

เมื่อเข้าสู่ ปี 2555 ช่วง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายระยะเวลา 10 เดือนในการทำงานของตน ได้ดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา โดยได้ขับเคลื่อนการทำงานตาม 31 นโยบายหลักด้านการศึกษา หนึ่งในนโยบายที่ขับเคลื่อนคือ “ปฏิบัติธรรม นำการศึกษา”

โดยได้เน้นในที่ประชุมองค์กรหลัก องค์กรในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย การปฏิบัติธรรม นำการศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารทุกระดับ ใช้อำนาจการบริหารบนหลักของคุณธรรม เพื่อดูแลบุคลากรในสังกัด ด้วยหลักพี่ดูแลน้อง เพราะเมื่อเราดูแลครูให้มีความเป็นอยู่ที่ดีได้รับความยุติธรรม มีกำลังใจในการทำงานแล้ว ก็จะทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนหรือลูกหลานของเราได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะกระทรวงหลัก ที่จัดและส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีคุณธรรม จริยธรรม และมีชีวิตที่เป็นสุข ปลอดภัยจากปัญหาสังคมในปัจจุบัน ซึ่งมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหายาเสพติด เป็นต้น จึงได้ตระหนักและเล็งเห็นความ สำคัญในการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ให้มีการปฏิบัติธรรมของบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ครู ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะไปปฏิบัติธรรมตามศาสนาที่แต่ละคนนับถือ หรือไปพักในสถานปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3-5 วัน ในส่วนของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มัธยมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ทั้งในส่วนราชการ ก็ควรได้รับการส่งเสริมตามนโยบายนี้เช่นกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ริเริ่ม “นำข้าราชการครู ส่งเสริมพัฒนาจิตใจ”

ในส่วนของนักเรียนนักศึกษาได้จัดโครงการ “โรงเรียนดีศรีตำบล ด้วยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับพระสังฆาธิการทั่วประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อศีลธรรมและองค์กรอื่นๆ ร่วมวางแผนพัฒนา บุคลากรทั้ง 6,545 โรงเรียน เพื่อพัฒนาศีลธรรมและคุณธรรม นำวิชาการให้กับนักเรียนควบคู่กับการพัฒนาความรู้ผ่านเทคโนโลยีลักษณะ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน

เป็นการเร่งพัฒนาศีลธรรมและเสริมสร้างคุณธรรมนำวิชาการและเทคโนโลยีในโรงเรียน โดยใช้เครือข่าย “บวร” มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนทุกคนในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นคนมีวินัย มีความเคารพและมีความอดทน โดยการกำหนดเป้าหมายเริ่มจากเด็กนั้นเอง

โดยช่วงท้าย ดร.สุชาติ ได้เผยมุมมองฝากถึงปัญหาเศรษฐกิจไทยไว้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยเกิดจาก อัตราเงินเฟ้อไทยต่ำเกินไป อัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป และปริมาณเงิน (M2) น้อยเกินไป ทำให้ต้นทุนการผลิตแพงไป GDP จึงเติบโตต่ำ ทำให้ประชาชนไม่มีเงินบริโภค ไม่มีเงินออมและลงทุน นอกจากนี้ค่าเงินบาทก็แข็งกว่าเพื่อนบ้านมานานหลายปี (แข็งกว่าจีน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม) การส่งออกจึงเติบโตต่ำ ซึ่งย้อนกลับไปลดการผลิตลงไปอีก ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยนายกฯประยุทธ์ จึงเจริญเติบโตต่ำ แม้วันนี้ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าเกือบทุกสกุลในเอเชีย... มานาน การส่งออกจึงไม่เติบโต ตัวอย่าง เงินริงกิตมาเลเซีย เคยเท่ากับ 10 บาท วันนี้ 1 ริงกิตเท่ากับ 7.50 บาท เงินบาทแข็งค่าขึ้นไป 25% มานานหลายปี เกือบทุกประเทศในเอเชีย จึงมีอัตราความเจริญเติบโตสูงกว่าไทยค่อนข้างมาก มานานหลายปี

อัตราเงินเฟ้อไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา (เหมือนเด็กๆ ที่ต้องการอาหารมากหน่อย ไม่เหมือนคนที่แก่แล้วอย่างสหรัฐฯ ที่ต้องกินอาหารน้อยเพราะกลัวไม่สบาย) จึงควรอยู่ระหว่าง 2-4% ไม่ใช่ 0-2% แบบสหรัฐฯ เพื่อจูงใจให้ขายของแล้วมีกำไร, ให้ค่าแรงขึ้นได้ ดังนั้นประเทศไทย จึงควรลดอัตราดอกเบี้ย, เพิ่มปริมาณเงิน (money supply), ปล่อยค่าเงินบาทให้อ่อนหน่อย ให้แข่งขันสู้ได้

“สิ่งที่ผมใฝ่ฝันเสมอมา คืออยากให้โอกาสคนยากคนจนส่วนใหญ่ของชาติ มีงานที่สุจริตทําทุกๆ คน มีรายได้ตามกําลังสติปัญญาและความรู้ มีโอกาสพัฒนาอาชีพ การงาน ได้ตามความใฝ่ฝัน สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ที่ดิน เงินทุน การศึกษา เทคโนโลยี ได้มากเพียงพอ สามารถขายสินค้าที่ผลิตได้ในตลาดที่แข่งขันเท่าเทียมกัน โดยปราศจากอิทธิพลและการผูกขาด กระผมต้องการเห็นประเทศไทยได้ดูแลผู้ที่มีความทุกข์ยาก มีระบบรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย โดยเฉพาะคนยากคนจน โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ คนทุพพลภาพได้รับการดูแล มีศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ มีโอกาสในการทํางาน เท่าเทียมกับคนโดยทั่วไป”

“คนไทยทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน มีความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ สามารถใช้วิจารณญาณ ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ทั่วโลก ในวิทยาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง คนไทยทั้งประเทศจะได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในการพัฒนาชาติบ้านเมืองได้อย่างกว้างขวาง ขจัดระบบความคิดแบบแคบๆ มาบังคับให้คนไทยอยู่ในกรอบเดิมๆ ประเทศไทยจะได้พัฒนาในทุกๆ ด้าน เท่าเทียมกับนานาอารยะประเทศ” ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เผยมุมมองช่วงท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 กันยายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...