ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
จีนปราบโกง ทำจริงไม่ละเว้น
13 พ.ย. 2567

          การให้เงินหรือทรัพย์สินอันมีค่าแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่ออำนวยความสะดวกดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของจีนที่มีมาแต่โบราณจนเรียกติดปากว่าเป็น “ค่าน้ำร้อนน้ำชา”  ที่ยินดีทั้งผู้ให้ พอใจทั้งผู้รับ  เหมือนให้โดยเสน่หา  แต่นานวันกลายเป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย  กลายเป็นรายได้พิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐจากการรีดไถประชาชน  กลายเป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอีกมากมายซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อาจยอมรับได้

          ในยุคของสี จิ้นผิง นับตั้งแต่ปี 2012 ได้ประกาศปราบปรามพวกโกงบ้านกินเมืองซึ่งถือว่าเป็นพวก “เซาะกร่อนบ่อนทำลายชาติ”ที่ปล่อยไว้ไม่ได้  ซึ่งแม้จะผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษท่านผู้นำสีก็ยังมุ่งมั่นที่จะปราบโกงอย่างต่อเนื่อง

          เห็นได้จากช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีรายงานจากคณะกรรมาธิการสอบวินัยส่วนกลางของจีนว่า  ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024  ได้มีการลงโทษประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐรวม 589,000 คน ฐานละเมิดวินัยในการเสนอและรับสินบนจากการปฏิบัติหน้าที่  ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่า 53 คนที่ถูกลงโทษด้วย

          การปราบโกงของรัฐบาลจีนในช่วงหลังนี้เน้นไปที่การกำกับดูแลภาค “อุตสาหกรรมการเงิน” โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานปราบปรามการทุจริตทางการเงินชุดใหม่ขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ  เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ส่วนหนึ่งก็มาจากการทุจริตในสถาบันการเงิน

          ย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2024 ไป๋ เทียนฮุย วัย 53 ปี อดีตผู้จัดการทั่วไปของไชน่า หว่าหรง อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ บริษัทบริหารจัดการเงินลงทุนซึ่งเป็นกิจการของรัฐ ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต โทษฐานรับสินบนกว่า 1,100 ล้านหยวน  ตามหลังไล่ เสี่ยวหมิน อดีตประธานบริษัทที่ถูกพิพากษาประหารชีวิตเมื่อปี 2021 โ[A1] ทษฐานทุจริตเป็นมูลค่าเกือบ 1,790 ล้านหยวน

          นโยบายของผู้นำจีนคือสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานทุกระดับต้องรับสนอง  เมื่อสี จิ้นผิง ชูธงทำสงครามปราบโกง  ภาครัฐก็ต้องออกแอคชั่นให้เป็นผล  โดยตั้งแต่เดือนกันยายน2022 รัฐบาลได้ริเริ่มระบบ “บัญชีดำผู้ติดสินบน” พร้อมกับกำหนดบทลงโทษเข้มงวด   มีการมุ่งเป้าทั้งบนและล่าง  ทั้งเจ้าหน้าที่พรรค ข้าราชการระดับสูง  ลงไปถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย  ไม่ใช่จับผิดแค่ปลาซิวปลาสร้อย  แต่มองข้ามความร่ำรวยผิดปกติของคนใกล้ตัวที่อ้าง “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” จนทำให้นโยบายปราบโกงในบางประเทศกลายเป็นการเล่นลิเกที่ไม่มีใครอยากดู

          กรณีตัวอย่างล่าสุดที่ผู้นำจีนทำให้คนจีนทั้งประเทศเห็น ทำให้โลกอึ้งคือการปลด ฉิน กัง วัย 58 ปีที่กำลังมาแรงออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังนั่งเก้าอี้เพียงแค่ 7 เดือน แล้วให้ หวัง อี้ กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง  หลังมีข่าวลือเรื่องสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างฉิน กัง กับ ฟู่ เสี่ยวเถียน นักข่าว-พิธีกรสาว ผู้ถูกกล่าวหาเป็นสายลับสองหน้าเพราะทำงานให้จีนแต่ส่งข่าวให้สหรัฐฯ

           ขณะเดียวกันยังปลด หลี่ ชางฟู่  วัย 66 ปีจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ขับไล่ออกจากคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน เนื่องจาก "ละเมิดวินัยและกฎหมายอย่างร้ายแรง"

          การสั่งเด้งนักการเมืองระดับสูงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า จีนไม่มีการละเว้นการทุจริตคอรัปชั่น  ยิ่งเป็นบุคคลระดับผู้นำยิ่งไม่มีข้ออ้าง

          จีนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Commission for Discipline Inspection : CCDI) ขึ้นมาตรวจสอบพฤติกรรมและฐานะของสมาชิกพรรคโดยเฉพาะ

          จีนปฏิรูปสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.จีน) ให้สามารถทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ  ปัจจุบัน สตง.จีนมีผู้ตรวจสอบ 200,000 คน แบ่งเป็น 7,000 ทีม ทำภารกิจตรวจสอบการรั่วไหลและการทุจริตประพฤติมิชอบในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ 

          นอกจากนี้ สตง.จีนยังได้พัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบแบบ “Real-time Audit” สามารถตรวจสอบให้เป็นปัจจุบัน ทันสถานการณ์ ช่วยให้อุดรูรั่วก่อนเกิดการทุจริตหรือลดความเสียหายจากการผลาญเงินแผ่นดิน

          ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายในการหาหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ชุดป้องกัน วัคซีน ยา อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯนั้น  จีนสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะที่นานาประเทศเจอปัญหาการยักยอกเงิน ยักยอกของ การทุจริตจัดซื้อเวชภัณฑ์  

          สตง.ไทย น่าจะไปดูงานแล้วเอามาปรับใช้ในบ้านเราที่กินกันทุกระดับ ทุกขั้นตอนทุกโครงการ แม้กระทั่งงบประมาณที่ทุ่มใส่ในช่วงน้ำท่วมภาคเหนือ  เงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ก็ยังตรวจสอบกันไม่ได้ว่าตกหายไปกับสายน้ำและดินโคลนมากน้อยแค่ไหน           

            จากการจัดอันดับดัชนีคอร์รัปชั่นโลก (Corruption Perception Index – CPI)  พบว่าจีนมี 42 คะแนนในปี 2023  โดยอันดับของจีนขยับมาเป็นที่ 76 ของโลก จาก 180 ประเทศ  ขณะที่ประเทศไทยร่วงจากอันดับ 101 ในปี 2022 ลงไปอยู่ลำดับที่ 108 คะแนน ประเมินได้แค่ 35  คะแนนจากเต็ม 100  

          มีการสำรวจความคิดเห็นชาวจีนส่วนใหญ่เชื่อว่าการทุจริตของรัฐบาลยังเป็นปัญหาใหญ่แม้จะมีการปราบโกงอย่างเข้มข้น โดยมีร้อยละ 28 กล่าวว่าตนมอบสินบนเพื่อรับบริการจากภาครัฐ  และชาวจีนอีกร้อยละ 32 กล่าวว่าตนใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเพื่อให้ได้รับบริการจากภาครัฐ

           ข้อสรุปของผู้นำจีนคือ “การทุจริตคือความเสี่ยงสูงสุดต่อการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

           สี จิ้นผิง เคยกล่าวว่า การต่อสู้กับการทุจริตเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดที่ประชาชนติดตามตลอด เป็นสงครามทางการเมืองที่ไม่สามารถแพ้ได้ จำเป็นต้องเพิ่มความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการกำหนดวินัยพรรคและรัฐบาลที่สะอาด เข้าใจการปราบปรามการทุจริตภายใต้สถานการณ์ใหม่

          ปรับปรุงความสามารถและระดับของนโยบาย “ไม่กล้าทุจริต ไม่สามารถทุจริต และไม่อยากทุจริต” เพื่อเอาชนะสงครามปราบปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นยาวนานอย่างรอบด้าน

          "ไม่กล้า" เพราะเคารพประชาชน

         "ไม่สามารถ" เพราะระบบวินัย 

          "ไม่อยาก" "เพราะมีจิตสำนึกสูงส่ง

           สีกล่าวว่าทุกส่วนงานต้องยึดมั่นในหลักการความเข้มงวดและแน่วแน่เสมอ ลงโทษและปราบปรามการทุจริตโดยไม่ให้อภัยเด็ดขาด  ในการถอนรากถอนโคนปัญหาคอร์รัปชั่นและฉ้อโกง ซึ่งมีความรุนแรงและซับซ้อนนั้น ไม่ควรมีความเมตตาปรานีอย่างเด็ดขาด

          มีการอ้างคำกล่าวของผู้นำจีน ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าที่ว่า  “วิธีหยุดนักการเมืองโกง ข้าราชการและนายทุนไม่ให้ทุจริต  คือต้องทำให้หายไปจากแผ่นดิน

โลกของจีน / ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...