สวัสดีครับทุกวันนี้หลายคนเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการพูดคุย คอมเมนต์ โต้ตอบ ลงรูปภาพและส่งวิดีโอ ทำได้ง่ายดายและรวดเร็วเพียงแค่ปลายนิ้ว ด้วยความที่ง่ายและเร็วนี้แหละครับ... การแสดงออกทางความคิด การด่าทอด้วยคำหยาบ การบูลลี่กลั่นแกล้ง หยอกล้อ ล้อเลียน ล้อเล่น การหลอกลวงกับผู้อื่นในเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์และติ๊กต๊อก อย่างสนุกสนานคึกคะนองเอามันนั้น อาจมีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ตัว
ผู้ที่ชอบโพสต์ใส่ร้าย ใส่ความ อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วย อ้างอิงจากตัวบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งนี้ผู้ที่สร้างความเสียหายต่อผู้อื่นยังมีความผิดในการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อีกด้วย เพราะมีการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ยกตัวอย่าง การนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ถือว่ามีความผิด เช่น นายดำ โพสต์ด่านายขาวในเฟสบุ๊คว่าโกงเงินทั้งที่เป็นข้อมูลเท็จ ทั้งนี้นายดำ ย่อมมีความผิดต่อการโพสข้อความลงในเฟซบุ๊คเพื่อเล่าข้อมูลที่เท็จอ้างอิงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) ผู้ใดนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากสิ่งที่นายดำโพสต์นั้นเป็นความจริง นายดำยอมไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เช่นกัน
หรือตัวอย่าง การนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ เช่น นส.เขียว ไลฟ์สดผ่านติ๊กต๊อกขายครีมที่อวดอ้างคุณภาพที่เกินจริง แหล่งที่มาที่ไม่มีจริงและปริมาณของสินค้าที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงทำให้ผู้ซื้อหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ถือว่า นส.เขียวมีความผิดอ้างอิงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 ประชาชนจำนวนมากเกิดความเสียหาย จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าบุคคลหนึ่งเสียหาย (ยอมความได้) จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอ้างโดยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงกระทำต่อบุคคลเดียว มาตรา 341 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กระทำต่อประชาชน มาตรา 343 วรรคแรก จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กล่าวสรุปได้ว่า “รู้แล้วไม่ผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ที่ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอก ทำให้พ้นจากเหล่ามิจฉาชีพโดยอาศัยช่องทาง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ เอามาใช้หาผลประโยชน์นำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จหรือข้อมูลปลอม เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบเงินหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่เหล่ามิจฉาชีพโดยทุจริต เช่น มิจฉาชีพประกาศขายสินค้าผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสินค้าจริงๆ โดยใช้วิธีหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินแล้วไม่ส่งสินค้าให้ผู้เสียหาย เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของกฎหมายในการป้องกันประโยชน์สาธารณะ แต่ปรากฎว่าในทางปฎับัติกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทุกวันนี้กลับถูกนำมาปรับใช้กับเรื่องของการทะเลาะหรือการกระทบกระทั่งกันในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในสังคมกันเป็นจำนวนมาก อ้างอิงข้อมูลประกอบเนื้อหาจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) & ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ภาพประกอบบทความ Freepix