4ปีที่โดนัลด์ ทรัมป์ นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2017-2020 เขาทำให้เห็นว่าเอาจริงกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯโดยไม่แคร์ความรู้สึกของชาวโลก ไม่สนกฎ กติกา ที่สหรัฐฯเคยตั้งเคยอ้างเป็นบรรทัดฐานสากล
การเปิดสงครามการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน การตั้งกำแพงภาษีกับประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯคือผลงานชิ้นโบว์ดำ ที่สร้างความปั่นป่วนในวงการการค้าโลก ที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่จะเป็นงานที่ทรัมป์จะกลับมาสานต่ออีก 4 ปี (2025-2028) เพราะเป็นนโยบายหลักที่ใช้หาเสียง และเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้วก็ยังเน้นย้ำมาต่อเนื่องว่าสหรัฐฯจะใช้นโยบายภาษีกับคู่แข่งขันหรือผู้ที่ทำตัวไม่เป็นมิตร
วันที่ 1 ธันวาคม 2024 ทรัมป์ขู่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 100% จากกลุ่มประเทศ BRICS โดยสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียว่า “แนวคิดที่ BRICS พยายามที่จะถอยห่างจากดอลลาร์ ในขณะที่เรายังคงยืนดูอยู่นั้นสิ้นสุดลงแล้ว เราต้องการคำมั่นสัญญาจากประเทศเหล่านี้ว่าจะไม่สร้างสกุลเงินของกลุ่มBRICSขึ้นมาใหม่ หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นใดเพื่อทดแทนดอลลาร์สหรัฐ มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับภาษีนำเข้า 100%”
แต่วันเดียวกันรัฐบาลจีนประกาศนโยบาย “ลดภาษีเหลือศูนย์” ให้แก่สินค้าทุกประเภทที่มาจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือ China’s Zero Tariffs Treatment for LDCs (Least Developed Countries ) ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน มีผลตั้งแต่วันที่1 ธันวาคม 2024 ถือเป็นเรื่องที่ช่างบังเอิญที่สองยักษ์ต่างประกาศนโยบายที่สวนทาง
นักวิชาการของจีนให้ความเห็นว่า ในขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้นโยบายกีดกันทางการค้า แต่จีนเลือกที่จะแบ่งปันโอกาสกับประเทศอื่นๆโดยอาศัยตลาดขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งเสริมโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ
ตามข้อมูลของสหประชาชาติ ปัจจุบัน LDCs มีอยู่ 46 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มประเทศได้แก่ 1.กลุ่มประเทศ LDCs ในแอฟริกาและเฮติ ประกอบด้วย แองโกลา, เบนิน, บูร์กินาฟาโซ, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ชาด, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, จิบูตี, เอริเทรีย, เอธิโอเปีย, แกมเบีย, กินี, กินี-บิสเซา, เฮติ, เลโซโท, ไลบีเรีย, มาดากัสการ์, มาลาวี, มาลี, มอริเตเนีย, โมซัมบิก, ไนเจอร์, รวันดา, เซเนกัล, เซียร์ราลีโอน, โซมาเลีย, ซูดานใต้, ซูดาน, โตโก, ยูกันดา, สหสาธารณรัฐแทนซาเนียและแซมเบีย
2.กลุ่มประเทศ LDCs ในเอเชีย ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เนปาล และเยเมน และ 3.กลุ่มประเทศ LDCs ที่เป็นประเทศเกาะ ประกอบด้วย คอโมโรส คิริบาส เซาตูเมและปรินซิปี หมู่เกาะโซโลมอน ติมอร์-เลสเต และตูวาลู
สหประชาชาติมีนิยามของ LDCs ว่า หมายถึงบรรดาประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและ “เปราะบาง” ต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังสนุกสนานเพลิดเพลินกับการแทรกแซงการเมืองนอกบ้าน สร้างความขัดแย้งก่อสงครามแล้วขายอาวุธ แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้โครงการความร่วมมือต่างๆทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุน การช่วยเหลือแบบให้เปล่า และเงินกู้ กับนานาประเทศในหลายภูมิภาคโดยเฉพาะกลุ่ม LDCs ที่สหรัฐมองข้าม
สองทศวรรษผ่านไปสหรัฐฯเพิ่งตื่นตกใจว่าอิทธิพลของจีนได้แผ่ขยายไปทั่วโลกไม่เฉพาะในเอเชีย แต่วันนี้แทบจะกลืนทวีปแอฟริกา และบรรดาชาติหมู่เกาะ เพราะจีนกลายเป็นทั้ง “คู่คิดและคู่ค้า” มีส่วนการในยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจของเหล่าประเทศ LDCs
องค์การการค้าโลก(WTO) มีนโยบายให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศ LDCs ที่เป็นสมาชิก WTOและมีรายงานถึงแนวโน้มการค้าที่สำคัญของประเทศ LDCs ว่า ในปี 2022 การส่งออกสินค้ามีอัตราเติบโตถึง17.4% ขณะที่การส่งออกสินค้าบริการมีการเติบโตสูงถึง 27% แต่ประเทศ LDCs ยังคงขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเทศ LDCs ที่เป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับต้นๆได้แก่ บังกลาเทศ แองโกลา คองโก กัมพูชา เมียนมาร์ โดย “จีน”คือตลาดที่สำคัญที่สุด รองลงมา ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดความร่วมมือจีน-แอฟริกา (FOCAC) ปี 2024 ที่กรุงปักกิ่ง โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับบรรดาผู้นำและผู้แทนระดับสูงของกว่า 50 ประเทศจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเกือบครึ่งอยู่ในกลุ่มLDCs
ผู้นำจีนในเวทีนี้ “ซื้อใจ”เหล่าผู้นำและผู้แทนประกาศว่าจีนเตรียมสนับสนุนเงินลงทุนราว 3.6 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) สำหรับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐานกว่า 30 โครงการทั่วทวีปแอฟริกา ซึ่งจะช่วยสร้างงานอย่างน้อย 1 ล้านตำแหน่ง
สียังเน้นย้ำว่าจีนพร้อมจะช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนา “เขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา” (African Continental Free Trade Area: ACFTA)’ และกระชับความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และการเงิน เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาข้ามภูมิภาคในทวีปแอฟริกา
สำนักการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ สังกัดสำนักบริหารกิจการภาษีแห่งชาติจีน เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันจีนได้ลงนามสนธิสัญญาภาษีร่วมกับ 21 ประเทศในแอฟริกา
สนธิสัญญาภาษีถือเป็นรากฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญต่อการลงทุนและทำธุรกิจข้ามพรมแดน เนื่องจากสามารถป้องกันสถานการณ์การจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน สร้างความแน่นอนทางภาษี และอำนวยความสะดวกแก่การยุติข้อพิพาททางภาษี ซึ่งเอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและภาษีระหว่างประเทศที่มีความยุติธรรม ความแข็งแกร่ง และเป็นประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนข้ามพรมแดน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและบุคลากร
เมื่อตอนต้นปีกระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่า จีน ยังคงครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาติดต่อกันเป็นปีที่ 15 ด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคีสูงแตะ 2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) ในปี 2023
มองจากภายนอกจีนอาจจะพยายามสร้างภาพความเป็น “พ่อพระ”ที่จะช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาที่ยากจน อยากจะอวดอ้างความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองที่สามารถพาประชากรหลายร้อยล้านคนก้าวพ้นจากความยากจน
แต่อย่างน้อยจีนก็พิสูจน์ว่าไม่อาศัยความเป็น “พี่ใหญ่”ในการคบค้ากับประเทศเล็กๆ ไม่หักหาญน้ำใจและมิตรภาพกันด้วยผลกำไรหรือขาดทุนจากการค้า ไม่ใช่ภาษีเป็นเครื่องมือในการข่มขู่คู่ค้า
เพราะในทางกลับกัน จีนแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่าให้สามารถยืนอยู่บนเวทีการค้าได้ จีนอาจจะเสียรายได้จากการเก็บภาษีลงไปบ้าง แต่จะได้ความร่วมมือจากนานาประเทศอีกมหาศาล
เล่นบทนี้ใครจะได้ “มิตร” ใครจะได้ “ศัตรู”