การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทในเครือ ประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการรวมพลังพลิกฟื้นคืนธรรมชาติสู่สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” กับมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มอนส) โดยมี นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO และนายพีระวัฒน์ พุ่มทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ 1 RATCH ร่วมลงนามกับ ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการบริหารศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ เปิดเผยว่า โครงการรวมพลังพลิกฟื้นคืนธรรมชาติสู่สิ่งแวดล้อมฯ เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ ในปี 2558 เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการร่วมกันฟื้นฟูและปลูกป่า 33 ไร่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตลอดจนก่อสร้างเส้นทางเรียนรู้ธรรมชาติ และปรับปรุงห้องนิทรรศการความรู้ด้านพลังงานของอุทยานฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงร่วมกันจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2559 โดย กฟผ. และบริษัทในเครือ ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการฯ จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานเป็นเวลา 6 ปี (ระหว่างปี 2558-2563) รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท แบ่งเป็น กฟผ. สนับสนุน 10 ล้านบาท ส่วน EGCO และ RATCH สนับสนุนบริษัทละ 5 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว กล่าวว่า ภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ มอนส จะร่วมกับ กฟผ. และบริษัทในเครือ ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาให้มากที่สุด พร้อมทั้ง มอนส จะจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์โครงการ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านวิชาการอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการลุล่วงไปด้วยดี
สำหรับอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับสากลด้านพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายครบวงจร มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น กฟผ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการวิจัยและประยุกต์ใช้ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ที่มีคุณสมบัติชะลอคลื่นและทุเลาการกัดเซาะ นำมาจัดวางในทะเลบริเวณชายฝั่งอุทยานฯ เป็นผลให้ชายหาดบริเวณนี้ที่เคยประสบปัญหาถูกกัดเซาะเสียหาย ฟื้นคืนสภาพชายหาดกลับมา จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. และบริษัทในเครือ ได้มีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานของอุทยานฯ มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้สนับสนุนการดำเนินงานของ มอนส ในโอกาสวันสถาปนาอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ครบรอบ 7 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา แสดงถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ. และบริษัทในเครือ ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี