เตรียมผลัก ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ แก้ PM2.5 ดูประสบการณ์จากอเมริกา
กลุ่ม ‘ไทยพร้อม’ และเครือข่ายจัดเสวนาผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ให้พรรคการเมืองต่างๆ รณรงค์ผ่าน change.org สถานทูตอเมริกาเล่าประสบการณ์ริเริ่มกฎหมายนี้ตั้งแต่ 1970 มีองค์กรกำกับดูแลเข้มงวด นักวิชาการระบุ PM2.5 ยังเป็นปัญหา มีสารพิษอื่นอีกมากในฝุ่น โต้กรมควบคุมมลพิษที่ระบุแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคเกษตร-ขนส่ง เพราะขาดข้อมูลภาคอุตสาหกรรม จี้เร่งทำกฎหมาย ‘บัญชีปลดปล่อยมลพิษ’ ด้าน สช. เสนอบรรจุวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมขับเคลื่อนกฎหมาย
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2562 สืบเนื่องจากวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและหลายพื้นที่ทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มไทยพร้อม (ThaiPrompt) และเครือข่ายได้จัด เวทีเสวนา “อากาศสะอาดเป็นของมนุษยชาติ” เพื่อผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act ในประเทศไทย โดยในวันที่ 8 มี.ค. 2562 ทางกลุ่มมีกำหนดจะยื่นหนังสือถึงพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อผลักดันกฎหมายนี้ให้เป็นนโยบายเร่งด่วน รวมถึงการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org
อิริก แอนเดอร์สัน เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมฯ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายอากาศสะอาดมาตั้งแต่ปี 1970 ให้อำนาจทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐต่างๆ ออกกฎเกณฑ์จำกัดการปล่อยก๊าซต่างๆ ทั้งกับโรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ อีพีเอ (United States Environmental Protection Agency: EPA) ทำหน้าที่ออกระเบียบและให้ความช่วยเหลือรัฐต่างๆ ในการวางแผน ทบทวนแผน และตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานของสารพิษในอากาศ หากพบผู้ละเมิด อีพีเอจะออกคำเตือน ออกคำสั่งให้แก้ไข สั่งปรับก็ได้ หรือกระทั่งฟ้องผู้ละเมิดในศาลได้ด้วย
“เราจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ฉลาดในการรับมือและให้ภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดง่ายๆ ช่วงก่อตั้งอีพีเอต้องประนีประนอมหลายประเด็น เพื่ออย่างน้อยจะได้ขยับเข้าใกล้เป้าที่ต้องการ” อิริกกล่าว
อิริกยังกล่าวถึงสถิติขององค์การอนามัยโลกว่า มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก มากกว่าเอดส์ 4 เท่า
ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เน้นการควบคุมอย่างเดียว แต่ส่งเสริมให้ลดมลพิษอย่างเป็นระบบด้วย นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนการวิจัย 20 ปีแก่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อติดตามผลกระทบทางสุขภาพของผู้คน ตีพิมพ์ผลวิจัยปี 1993 ทำให้คนรู้จักอันตรายของ PM2.5 ต่อมาปี 1995 สมาคมโรงมะเร็งอเมริกันเผยแพร่ผลการศึกษาว่า PM2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 1997 หลักฐานทั้ง 2 ชิ้นนี้ทำให้สมาคมโรคปอดอเมริกันฟ้องอีพีเอ ส่งผลให้หน่วยงานนี้ต้องเพิ่มมาตรฐานอากาศและบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากขึ้น
ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย คือ 1.ยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่รอบด้านทั้งการควบคุมและลดมลพิษ 2.ตั้งหน่วยงานกลางอย่างอีพีเอ 3.สร้างระบบติดตามตรวจสอบสภาพอากาศในทุกพื้นที่ 4.ผลิตองค์ความรู้ที่ทันสมัยรวมสหวิทยาการ
ดร.นพ.วิรุฬ ยังระบุถึงรายงานของกรมควบคุมมลพิษปี 2561 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากทีมวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที (Asian Institute of Technology: AIT) ที่ระบุว่า แหล่งกำเนิด PM2.5 ใน กทม. คือ “ไอเสียรถยนต์ ดีเซล การเผาชีวมวล และฝุ่นทุติยภูมิ...” ว่าการวิเคราะห์ที่มาของฝุ่นนั้นเป็นไปตาม “บัญชีการปลดปล่อยมลพิษ” ซึ่งยังขาดความครบถ้วนของข้อมูลในภาคอุตสาหกรรม
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า บัญชีการปลดปล่อยมลพิษเป็นสิ่งที่จำเป็นมากและประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ ขณะที่ต่างประเทศล้วนมีกฎหมายนี้แล้ว สาระสำคัญคือกำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษต้องส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษโดยระบุชนิดและปริมาณด้วย ในสหรัฐอเมริกามีการกำหนดตัวมลพิษที่ต้องรายงานไว้ 800 กว่าชนิด ญี่ปุ่นประมาณ 200 กว่าชนิด
“มูลนิธิฯ ยกร่างกฎหมายบัญชีการปล่อยมลพิษในปี 2558 สำรวจความเห็นภาคอุตสาหกรรมในมาบตาพุดแล้วด้วยว่า 79% เขาอยากให้มีและยินดีปฏิบัติตาม แต่เกิดรัฐประหารก่อนจึงยังไม่ได้ผลักดัน” เพ็ญโฉมกล่าว
เพ็ญโฉม ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.โรงงานฯ ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ว่าอาจมีผลเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการตั้งโรงงานได้มากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งอาจมีผลต่อความรุนแรงของปัญหามลภาวะทางอากาศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงปัญหา PM2.5 ด้วย ส่วนข้อเสนอในทางนโยบายคือ ต้องแยกอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนและควบคุมมลพิษให้แยกขาดจากกันและมีอำนาจทัดเทียมกัน
รศ.ดร.วิษณุ อรรถานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า องค์การอนามัยโลกคำนวณว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 4.2 ล้านคน โดย 92% อยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ที่ผ่านมาตนได้ทำวิจัยโดยใช้แนวคิดความพึงพอใจในชีวิตซึ่งรวมเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย มีการคำนวณความเต็มใจจ่ายของคน กทม. (หากต้องการอากาศสะอาดยอมจ่ายเงินเท่าไร) พบว่า หากต้องการให้ฝุ่น PM.10 ลดลง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจากที่เกินระดับความปลอดภัย คน กทม. เต็มใจจ่าย 6,380 บาทต่อปีต่อครัวเรือน เมื่อคูณกับ 2.89 ล้านครัวเรือนจะได้เงินจำนวน 18,420 ล้านบาทต่อปี
รศ.ดร.วิษณุ ยังกล่าวว่า เราอาจกล่าวโทษหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก แต่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมของไทยมุ่งเน้นไปที่ด้านอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาน้ำเสีย กำจัดขยะ เป็นหลัก ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณการดูแลมลภาวะทางอากาศให้สมดุลกับงานที่ต้องทำด้วย
ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญและไม่ค่อยพูดถึงกันคือ มรดกร่วมกันของมนุษยชาติ อากาศที่ดีก็อยู่ในแนวคิดนี้ มันไม่ใช่ของใคร ทุกคนรับตกทอดจากการบรรพบุรุษ มีหน้าที่ต้องรักษาเพื่อส่งให้รุ่นถัดไป และ Right to breathe clean air จึงเกิดขึ้น
“ถามว่ากฎหมายอากาศสะอาดเกิดในประเทศไทยหรือยัง เรามีแบบไม่เต็มที่ ไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาได้ และยิ่งกว่านั้นโครงสร้างองค์กรของเราอ่อนแอมาก หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถทำงานให้ได้ผล ถ้าจะเริ่มผลักดันก็เริ่มได้เลย ตรงไหนก็ได้ขอแค่เริ่ม” ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องคำนึงและพูดถึงอย่างมากคือ PM2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่น มันยังมีสารก่อมะเร็งเป็นร้อยชนิด มีตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารโลหะหนักหลายชนิดที่จะอยู่ในนั้นได้ นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายตัวด้วย สิ่งที่เรียกร้องมาโดยตลอดสิบกว่าปีคือ อยากเห็นค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ แต่ก็ไม่เกิดความคืบหน้าแต่อย่างใด
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้คือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดประชุมทุกเดือนธันวาคม ในปี 2562 อาจตั้งเป้าเลยว่าจะบรรจุเรื่องนี้ในระเบียบวาระ โดยภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมเตรียมการ พร้อมกับเคลื่อนไหวด้านอื่นทั้งการผลักดันข้อเสนอกับพรรคการเมือง การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และสร้างแรงกระตุ้น ปลุกพลังทุกภาคส่วนมาสานพลังบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างจริงจัง