ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ศรีสุวรรณ จรรยา จากรั้วแม่โจ้….สู่นักร้อง(เรียน)มือหนึ่ง
30 ต.ค. 2562

ศรีสุวรรณ จรรยา   เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย   จากรั้วแม่โจ้….สู่นักร้อง(เรียน)มือหนึ่ง

“การส่งเรื่องตรวจสอบนักการเมืองทุกเรื่อง ก็ทำให้สังคมมีการตื่นตัวและรับรู้ พร้อมทั้งเข้ามาร่วมตรวจสอบกันมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้นักการเมืองไม่กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากทำอะไรไป ก็จะเจอ “ศรีสุวรรณ” ซัดเข้าให้”

ถ้าใครติดตามข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ก็คงจะได้ยินชื่อกันเป็นประจำสำหรับบุคคลนี้ที่เกี่ยวกับการร้องเรียนในประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคมและประชาชน นั่นก็คือ “พี่ศรี” หรือ “นายศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยและนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่ง อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขกฉบับนี้ได้เชิญ“พี่ศรี”มาร่วมพูดคุยกันในเส้นทางของนักร้อง (เรียน) ที่จะทำให้หลายๆคนรู้จัก“พี่ศรี”มากขึ้นในอีกแง่มุมหนึ่ง

“พี่ศรี”เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเป็นคนต่างจังหวัดอาศัยอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นลูกชาวนาแต่มีโอกาสได้ไปศึกษาเล่าเรียนสูงกว่าคนอื่นๆ ซึ่งการที่ได้มีโอกาสไปเล่าเรียนสูงกว่าคนอื่นๆ ก็มองว่าเป็นเรื่องฟลุ๊กเนื่องจากตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม ตัวเขาก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญา แต่ปรากฎว่าเรียนได้เกรดดีและได้โควตาไปเรียนที่แม่โจ้จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้เลือกเรียนสายเกษตรเพราะมีพื้นฐานเป็นลูกชาวสวนชาวนาอยู่แล้ว การเรียนที่แม่โจ้ก็ได้มีโอกาสเป็นนายกองค์การนักศึกษาและค่อนข้างที่จะหัวรุนแรง เพราะได้นำนักศึกษาและชาวบ้านปิดถนนประท้วงผู้ว่าฯในสมัยนั้นเป็นเวลา 2วัน 3คืน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนักศึกษาและชาวบ้าน ซึ่งการประท้วงในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จและเป็นที่ประทับใจของเพื่อนๆนักศึกษาและชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ต่อมาพอจบการศึกษาก็ไม่อยากจะไปรับราชการ เลยมาทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับ ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร มาช่วยงานในรูปของมูลนิธิที่จะดำเนินการรณรงค์เรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับได้ช่วยในเรื่องของการเมืองอยู่บ้างในช่วงของการหาเสียงของดร.พิจิตต ก็เลยมีความรู้และความสนใจผูกพันทางด้านการเมืองอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ พี่ศรีปฎิเสธที่จะเข้ามาช่วยงานทางด้านการเมืองอย่างเต็มตัว เพราะสนใจและทำเกี่ยวกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

“พี่ศรี”เล่าให้ฟังต่อว่า เมื่อ ดร.พิจิตต หมดวาระทางการเมือง ก็ได้ขออนุญาตที่จะแยกมาตั้งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งเหตุผลที่ต้องมาตั้งก็เพราะว่าช่วงที่ทำงานที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้มีโอกาสไปทำงานของสภาทนายความในการก่อตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ก็ช่วยงานด้านคดีสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งถึงแม้ว่าจะจบสายเกษตรมาแต่ก็ไม่หยุดนิ่งที่จะหาความรู้และได้เรียนเพิ่มเติมจนได้3 ปริญญาตรี 2 ปริญญาโท และ 1 ปริญญาเอก ก็เอาความรู้เหล่านี้มาช่วยเหลือชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาทำงานก็พบว่าเรื่องของการเมืองส่วนใหญ่มักจะสร้างความเดือดร้อนและสร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน เพราะการเมืองเป็นต้นสายของปัญหาซึ่งมักจะเกิดจากนโยบายทางการเมือง ประกอบกับได้เข้ามาฝึกอบรมในหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้าก็ได้รู้จักเพื่อนฝูงจำนวนมากที่สนใจงานทางด้านการเมืองเลยชวนกันมาจัดตั้งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดยได้เอาสมาคมนี้มาขับเคลื่อนงานทางด้านการเมือง ส่วนสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนก็เป็นงานทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็จะทำงานควบคู่กันไปในการขับเคลื่อนทั้ง2 สมาคมและก็เป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไป

สำหรับงานของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนทีประทับใจก็คือการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมพื้นที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตามที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เสนอในกรอบวงเงิน 55,400 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นงานขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ (เพื่อก่อสร้างท่าเรือ และพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน) พื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนดินเลน ประมาณ 450 ไร่ ท่าเรือก๊าซ (พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร) ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า (พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร) คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ (พื้นที่ 150 ไร่)

การถมทะเลดังกล่าวจะเพิ่มผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชายฝั่งทะเลและพื้นที่บนบก โดยเฉพาะกระทบกับทรัพยากรทางทะเลและวิถีทางการประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวของชุมชนในบริเวณทะเลทะเลมาบตาพุด หาดแสงจันทร์ หาดพลา ให้เสียหายรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะนับแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 1 ในปี พ.ศ. 2525 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบันกว่า 30 ปีนั้น พบว่า

จ.ระยอง ซึ่งเคยเป็นอัญมณีแห่งภาคตะวันออก กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมมลพิษ มีโรงงานอุตสาหกรรมมากว่า 2,000 โรง รวมถึงเกิดอุบัติภัยเกี่ยวภัยสารเคมีแพร่กระจายมากกว่า 40 ครั้ง ซึ่งการที่ ครม.ขยายพื้นที่ด้วยการถมทะเลเพิ่มแสดงถึงความมืดบอดของ ครม. ที่มองไม่เห็นทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านและทรัพยากรทางทะเลที่เสียหายอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ขยายประโยชน์ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ชายทะเล ชายหาดถูกน้ำทะเลกันเซาะพังเสียหายอันเนื่องมาจากการถมทะเล แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่เห็นชอบเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพกลับไม่คำนึงถึงประชาชน

“พี่ศรี”ยอมรับว่า ตัวเขามีความประทับใจในการทำหน้าที่ตรงส่วนนี้อย่างมาก เพราะในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีมาบตาพุดนี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมมาบตาพุด 70กว่าโรงงานต้องระงับเป็นการชั่วคราว จนนำไปสู่การแก้ไขกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากมาย และอีกเรื่องที่ดำเนินการได้สำเร็จก็คือเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ได้มีการตรวจสอบจนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถกู้เงิน 35แสนล้านบาทมาปู้ยี้ปู้ยำได้ ซึ่งนี่ก็คือผลงานชิ้นโบแดงที่เขามีความภูมิใจในการทำงาน

ส่วนงานของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยก็ได้ยื่นตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นใครหรืออยู่พรรคไหน คือจะทำงานอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหลายคนก็ชื่นชอบแต่หลายคนก็ตำหนิติเตียนที่เข้าไปตรวจสอบบุคคลที่พวกเขารักและหลงกัน แต่ก็ถือว่าได้ทำตามหน้าที่และดำรงตนอยู่ตรงกลางไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการทำหน้าที่ซึ่งสิ่งที่ถือว่าประสบผลสำเร็จในการทำหน้าที่ของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยก็คือการยื่นเรื่องยุบพรรคไทยรักษาชาติ

นอกจากนี้“พี่ศรี”คิดว่าการส่งเรื่องตรวจสอบนักการเมืองทุกเรื่องก็ทำให้สังคมมีการตื่นตัวและรับรู้พร้อมทั้งเข้ามาร่วมตรวจสอบกันมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้นักการเมืองไม่กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากทำอะไรไปก็จะเจอ“ศรีสุวรรณ”ซัดเข้าให้

และเมื่อถูกถามถึงฉายาที่สื่อมักเรียก“พี่ศรี”กันว่านักร้อง(เรียน) พี่ศรีสุวรรณได้หัวเราะพร้อมกล่าวว่ารู้สึกเฉยๆ เพราะถือว่าการทำงานในส่วนตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม ใครจะมาชม ไม่ชม หรือมาตำหนิติเตียนอะไรก็ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ทำงานด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์หวังว่าประชาชนและประเทสชาติได้รับความเป็นธรรม รวมถึงงบประมาณแผ่นดินก็หวังให้ใช้ไปในทางที่ถูกที่ควรและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน เพราะตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้เสียภาษี และก็เป็นหนึ่งในคนของประเทศชาติ

ดังนั้นก็ต้องมีส่วนในการที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือ ไม่ใช่มานั่งติเตียนคนอื่นแล้วไม่ทำอะไร ซึ่งคิดว่าเรื่องไหนที่ไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินการตามสิทธิ์ที่เรามีอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องที่ไปร้องเรียนกับองค์กรอิสระต่างๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตามจะให้ดำเนินการทันทีรวดเร็วหรือให้เป็นไปดั่งใจก็คงจะไม่ได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าองค์กรอิสระบางทีก็ไม่อิสระอย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยการที่ไปยื่นเรื่องแต่ครั้งหรือแต่ละเรื่องนั้นก็ทำให้สังคมตื่นตัวขึ้นมา

ที่นี้มาพูดถึงท่าฮิตของ“พี่ศรี” อย่างท่าชูนิ้วชี้ ที่ถือได้ว่าเป็นท่าประจำตัวเวลาถ่ายรูปเดินทางไปร้องเรียนเรื่องต่างๆ ซึ่ง“พี่ศรี”เล่าให้ฟังว่า นั่นคือสัญลักษณ์ว่า "เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวเจอศรีสุวรรณ แน่ " !! 

เมื่อได้รู้จักช่วงเวลาการทำงานของ“พี่ศรี”ไปแล้วว่าการทำงานหรือการทำหน้าที่ของ“พี่ศรี”มีความเข้มข้น จริงจังและเด็ดเดี่ยวมากแค่ไหน จากนี้มาดูกันว่าเวลาว่างจากการทำงานหรือการไปเป็นนักร้อง(เรียน) “พี่ศรี”ได้ใช้เวลาหรือชอบทำอะไรกันบ้าง ซึ่งเรื่องนี้พี่ศรีเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ผ่อนคลายและดูเหมือนจะอมยิ้มไปด้วยก็คือ “พี่ศรี”ชอบอยู่กับธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ซึ่งหากใครมีเฟซบุ๊กของ“พี่ศรี”ก็จะทราบว่า “พี่ศรี”ชอบถ่ายรูปผลไม้ ต้นไม้หรือดอกไม้สวยๆมาให้เพื่อนในเฟสบุ๊กได้ชมกันเป็นประจำ ซึ่งพี่ศรีย้ำกับเราว่าการอยู่กับธรรมชาติเป็นสิ่งที่ผ่อนคลาย และตัวเขาก็ไม่ชอบไปเที่ยวหรือนั่งดื่มตามผับตามบาร์แต่อย่างใด รวมถึงเรื่องการเล่นกอล์ฟด้วย

ท้ายนี้เราคงอยากทราบกันว่าคติประจำใจในการทำงานหรือทำหน้าที่ของ“พี่ศรี”คืออะไร ถึงได้ยึดมั่นในแนวทางที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง“พี่ศรี”ตอบกลับว่างานหนักไม่เคยฆ่าคน ดังนั้นการทำงานแต่ละครั้งต้องมีความสุข ทำไปเถอะ อย่ามาบ่นว่างานหนักหรืองานนั้นไม่ดี ซึ่งถ้ามีโอกาสทำงานก็ทำไปถ้างานนั้นเป็นงานที่ซื่อสัตย์ไม่ไปคดโกงใคร

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...