ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
เส้นทางสื่อสารมวลชนสู่งานการเมืองของ วัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน
02 ม.ค. 2563

­­­

เส้นทางสื่อสารมวลชนสู่งานการเมืองของ วัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน

“เพราะตำแหน่งโฆษกเป็นตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูง เป็นตำแหน่งของนักบริหาร ไม่ใช่ว่าใครพูดเก่งก็เป็นได้ ฉะนั้น การพูดของคนในตำแหน่งนี้ คนเขาไม่ได้สนใจหรอกว่าพูดในชื่อของตน แต่เขาจะสนใจและให้ความสำคัญว่า เป็นการเปิดเผยหรือชี้แจงและให้ข่าวจากกระทรวงนั้นๆ ดังนั้น การพูดในแต่ละครั้ง สิ่งหนึ่งที่ต้องละเลยไม่ได้อย่างเด็ดขาดนั่นก็คือ เราต้องพูดอยู่บนข้อเท็จจริง ความน่าเชื่อถือและความถูกต้อง”  วัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน

เรื่องของพลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพราะพลังงานมีทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องของความมั่นคง ผสมผสานให้ผู้บริหารรัฐจำต้องใส่ใจและมีวิสัยทัศน์กว้างเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้บริหารมากฝีมือเข้ามารับผิดชอบแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่จะขาดไปมิได้ก็คือ“กระบอกเสียง” ที่จะรายงาน แจ้งข่าว สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รับทราบถึงการทำงานที่ก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด
 
ฉบับนี้ อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขก จึงจะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับ“กระบอกเสียง” หรือโฆษกของกระทรวงพลังงาน วัชระกรรณิการ์หรือ “พี่ต่อ” ที่ให้เกียรติคอลัมน์อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขกเข้าร่วมพูดคุยถึงการทำงานและกิจกรรมยามว่างที่ชื่นชอบ 
 
“พี่ต่อ” ต้อนรับทีมงานด้วยรอยยิ้มพร้อมเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่า จริงๆแล้วตัวเขาไม่ได้ห่างจากแวดวงของสื่อมวลชน เพราะเริ่มต้นจากการเป็นนักสื่อสารมวลชนในการเป็นนักข่าวอยู่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับด้วยกัน โดยเรียนจบรัฐศาสตร์ จากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่าเรียนด้านการฑูตนั่นเอง อย่างไรก็ตาม “พี่ต่อ” สะท้อนความรู้สึกในสมัยนั้นที่ถามตัวเองให้ฟังว่า เมื่อตัวเขามีนามสกุล“กรรณิการ์” เป็นลูกข้าราชการชั้นผู้น้อย เป็นลูกเป็นหลานชาวนาและเป็นคนมอญแท้ๆ อาศัยอยู่ที่ปทุมธานี จะมีโอกาสเป็นนักการฑูตได้ไหม...? เพราะความเชื่อของคนในยุคนั้นที่อายุประมาณ 20 กว่าๆเชื่อว่าคนที่จะเป็นนักการฑูตได้ต้องมีเชื้อสายและต้องมีนามสกุลดังๆ หรือที่พูดง่ายๆว่าต้องเป็นคนที่มีโปรไฟล์ เลยมีความรู้สึกว่าตัวเขาจะไปรอดหรือไม่และจะได้เป็นนักการฑูตได้หรือไม่ 
 
 
“พี่ต่อ” เล่าอดีตให้ฟังต่อไปว่า ช่วงนั้นพี่ชายของ “พี่ต่อ” ทำหนังสือพิมพ์ด้วยการเป็นนักข่าวและคอลัมภ์นิสต์ ซึ่งนักหนังสือพิมพ์สมัยก่อนเจะดื่มจัดและสูบบุหรี่จัด จนบางครั้งก็เหนื่อยและเขียนคอลัมน์ไม่ทัน “พี่ต่อ”ก็เลยแอบไปเขียนในนามปากกาของพี่ชายในการเขียนคอลัมน์ทางการเมือง ขณะที่ตัวเข้าเองก็สนใจการเมืองด้วยอยู่แล้วและผลปรากฎว่าผู้หลักผู้ใหญ่ชอบที่เขียนกันมากก็เลยได้เงินค่าเขียนเหมือนเป็นค่าขนมเล็กๆน้อยๆ ทำให้รู้สึกว่ามันก็ทำให้ได้เงิน บวกกับสิ่งที่ได้เคยตั้งคำถามกับตัวเองเอาไว้ว่าถ้าจบการฑูตมาจะเป็นนักการฑูตได้จริงหรือ ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่น่าจะเป็นนักการฑูตได้จริง ก็เลยตัดสินใจเดินออกจากมหาวิทยาลัยและได้มาเริ่มทำหนังสือพิมพ์จนมาเป็นบรรณาธิการ(บก.)
 
“ในยุคนั้นคนที่เป็น บก.ต้องเป็นเจ้าของแต่เราทำการตลาดไม่เป็น ทำเป็นอย่างเดียวคือทำข่าวและสัมภาษณ์เก่ง แต่ก็ล้มเหลวทั้งที่เราทำแมกกาซีนออกมาได้ดี แต่ด้วยภาระค่ากระดาษที่แพงและสปอนเซอร์เราไม่มีก็เลยเป็นหนี้เป็นสิน” 
 
“หลังจากนั้นก็แต่งงานและพรรคพวกที่ทำหนังสือพิมพ์ด้วยกันก็มาชวนให้ไปทำทีวี โดยในยุคนั้นต้องยอมรับว่าทำทีวีรายได้ดีจริง แต่ก็ไม่มีความรู้เรื่องการทำทีวีเลย แต่ก็ไปลองทำดูในการสัมภาษณ์คน พอดีด้วยความบังเอิญภรรยาผมเรียนจบเอกวิทยุโทรทัศน์มาก็ได้สอนผมบ้างเกี่ยวกับเรื่องของการเป็นพิธีกรทีวีและการทำสื่อ จนทำมาได้ 10กว่าปี และได้มาสัมภาษณ์ท่านบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งท่านชอบและได้ชวนมาทำงานการเมือง และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นในการเข้ามาสู่แวดวงการเมืองของผม ในตำแหน่งรองโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนาแล้วก็ควบมาเป็นโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา 3 สมัย หลังจากนั้นในช่วง 10 ปีที่ทำงานการเมือง ก็เริ่มทำงานด้วยการเป็นรองโฆษกรัฐบาลยุคคุณอภิสิทธิ์ โดยจะดูแลครม.เศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ควบตำแหน่งโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยเดียวกันเลย” พี่ต่อ เล่าให้ฟังถึงก้าวย่างการเข้าสู่แวดวงการเมืองพร้อมกับเปิดเผยด้วยว่า
 
“ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะถามว่าความภูมิใจที่สุดในชีวิตของผมสิ่งหนึ่งก็คือการที่คิดว่าน่าจะเป็นนักการเมืองคนเดียวตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครองในปี 2475 ที่ดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกในวาระเดียวสมัยเดียวกัน 4 ตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่ไม่ใช่การอุปโลกน์ขึ้นมา นันก็คือโฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวงเกษตรฯ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และโฆษกพรรคชาติไทย”
 
 
สำหรับการเข้ามารับตำแหน่งโฆษกกระทรวงพลังงาน “พี่ต่อ”บอกว่า เนื่องจากรู้จักกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมา 10กว่าปีแล้ว ก็เป็นคนคุ้นเคยกันและท่านรัฐมนตรีก็บอกว่าอยากจะปรับเปลี่ยนรูปแบบมิติของกระทรวงพลังงานที่อาจจะพูดจาภาษาวิศวะที่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง และก็อยู่ในข่าวที่เป็นข่าวย่อย ก็มองว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากกระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงของทุกคนไม่ใช่กระทรวงของมหาเศรษฐี ดังนั้นท่านรัฐมนตรีเลยชวนเข้ามาทำงาน ซึ่งก็ใช้เวลาคิดและตัดสินใจไม่เกิน 10นาที และบอกว่ายินดีรับใช้ และได้เข้ามายังกระทรวงพลังงานเลยทันที หลังจากนั้นก็เข้ามาทำงานแต่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนก็เป็นอันรับทราบว่าเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ ซึ่งพอทำงานไปได้สักประมาณ 2-3เดือน ก็ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจาก ครม. 
 
 
“พี่ต่อ” ยังกล่าวด้วยว่า นี่ก็คือเส้นทางของเขาที่เติบโตมากจากสื่อสารมวลชนและที่สุดก็กระโดดมาเป็นนักการเมือง และสายที่ชำนาญที่สุดก็คือสายด้านการเป็นโฆษก ซึ่งยอมรับว่าการเปลี่ยนจากนักสื่อสารมวลชนหรือนักข่าวกลายมาเป็นผู้ที่ต้องให้ข่าวต้องแถลงข่าวเองนั้น เรื่องนี้บางคนอาจยังเข้าใจผิดอยู่ว่าตำแหน่งโฆษกจะเหมือนกับตำแหน่งพิธีกรในโทรทัศน์ ซึ่งขอบอกว่าไม่ใช่แบบนั้นอย่างแน่นอน 
เพราะตำแหน่งโฆษกเป็นตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูง เป็นตำแหน่งของนักบริหารไม่ใช่ว่าใครพูดเก่งก็เป็นได้ ฉะนั้นการพูดของคนในตำแหน่งนี้คนเขาไม่ได้สนใจหรอกว่าพูดในชื่อของตน แต่เขาจะสนใจและให้ความสำคัญว่าเป็นการเปิดเผยหรือชี้แจงและให้ข่าวจากกระทรวงนั้นๆ ดังนั้นการพูดในแต่ละครั้งสิ่งหนึ่งที่ต้องละเลยไม่ได้อย่างเด็ดขาดนั่นก็คือเราต้องพูดอยู่บนข้อเท็จจริง ความน่าเชื่อถือและความถูกต้อง
 
 
สำหรับเวลาว่างเว้นจากการทำงานนั้น “พี่ต่อ” เปิดเผยว่า สมัยก่อนชอบดูหนังคนเดียว แต่ในตอนนี้ไม่ค่อยมีเวลาเลยไม่ค่อยได้ไปดู เพราะตั้งแต่เริ่มทำงานการเมืองมา ไม่เคยมีวันหยุดหรือวันเสาร์อาทิตย์เลยเพราะลงพื้นที่และทำงานตลอด แต่ถ้าหากมีเวลาจริงๆ สิ่งที่ชื่นชอบคือการจัดสวนสวยงามก็จะจัดตกแต่งบริเวณบ้านเป็นการออกกำลังกายไปในตัว แต่ต้องยอมรับจริงๆว่าช่วงนี้ไม่มีเวลาเลยกิจกรรมยามว่างที่ชื่นชอบก็หายไปบ้าง ดังนั้นจึงทำได้เพียงอ่านหนังสือก่อนนอนบนหัวเตียง 
 
“พี่ต่อ”ยังแอบกระซิบให้ฟังว่า ตัวเขาก็เป็นทาสแมวเหมือนกัน มีอยู่ 1 ตัว ชื่อ“วาสนา” แต่จะเรียกมันว่า “อีหนา”คือเป็นแมวจรจัดที่รอดตายมาจากการถูกตัวเงินตัวทองกิน ซึ่งพี่น้องและแม่ของมันถูกตัวเงินตัวทองกินตายไปแล้ว เหลือเจ้านี่อยู่ตัวเดียว แต่ก็บอกที่บ้านไปว่าไม่ให้เอามาเลี้ยง เนื่องจากภรรยาและลูกสาว 2 คนเป็นภูมิแพ้ขนสัตว์ แต่ปรากฎว่าพวกเขาก็ไปเอาแมวตัวนี้มาเลี้ยงและมาอ้อนวอนขอร้องว่าอยากจะเลี้ยง และได้มีการโหวตคะแนนเสียงกัน ปรากฎว่าตัวเขามีเสียงเดียวแพ้คะแนนเสียงของภรรยาและลูกสาวอีก 2 คน ซึ่งรวมเป็น 3 เสียง เลยเอามาเลี้ยงและตั้งชื่อให้ว่า วาสนา เพราะรอดพ้นจากการถูกตัวเงินตัวทองกิน
 
“พอเอามาเลี้ยงเลยกลายเป็นทาสแมวไปเลย เนื่องจากแมวตัวนี้ก็เป็นแมวนอนดึกเหมือนผม ก็เลยเป็นเพื่อนตอนกลับถึงบ้านและมานั่งอ่านหนังสือดูโทรทัศน์ด้วยกัน ก็เล่นกับแมวจนกลายเป็นทาสแมว โดย“พี่ต่อ”พูดติดตลกว่า อีหนา ไม่ได้คิดว่าผมเป็นคนแต่คงคิดว่าผมเป็นแมวที่เดิน2 ขา เพราะดูจากวิธีการปฎิบัติของมันแล้วไม่ได้ให้เกียรติผมเลย ทั้งที่เวลาออกมาทำงานข้างนอกได้รับเกียรติสูงมากนะ แต่กลับบ้านมันมากัดไม่ให้เกียรติแถมมันยังดูถูกดูแคลนด้วยซ้ำ ซึ่งคนที่คิดคำว่าทาสแมว นี่ต้องยอมรับเลยว่าเก่งมากเพราะมันเป็นแบบนั้นจริงๆ
 
สุดท้ายพี่ต่อได้ทิ้งท้ายถึงอุดมคติในการทำงานและการใช้ชีวิตด้วยว่า มีต้นแบบอยู่ 3 คน คนแรกคือนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เป็นต้นแบบในเรื่องการทำงานหนัก คนที่2  คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นต้นแบบในการศึกษาแต่ละเรื่องแต่ละนโยบายอย่างแท้จริง และคนสุดท้ายคือนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน ที่เป็นต้นแบบในเรื่องของคนที่เข้าใจโลกธุรกิจเป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะมากที่นั่งกำกับดูแลกระทรวงนี้ เพราะเข้าใจสภาพของธุรกิจและของโลกและนำมาปรับใช้ 
โดยอยากจะขอบอกเลยว่า “ถ้าใครอยากจะประสบความสำเร็จทางการเมืองต้องทำงานหนักอย่างท่านบรรหาร ต้องรอบรู้อย่างท่านอภิสิทธิ์ และต้องเข้าใจโลกปัจจุบันในเชิงธุรกิจอย่างท่านสนธิรัตน์ และสุดท้ายที่สำคัญ นักการเมืองทุกคนคุณจะทำงานเก่งอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องปราศรัยเก่งด้วย !!”
 
 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...