“เราต้องดำรงความเป็นสถาบันหลักทางวิชาการในทุกหน้างานของเราให้ได้ ซึ่งการทำงานทุกอย่างต้องมีมาตรฐาน บนพื้นฐานของความเป็นวิชาการ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการ ดำรงรักษาและสืบต่อไป ”
ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร
กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานของรัฐมีภารกิจคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ จัดการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยและความมั่นคงของชาติ
ที่ผ่านมาเราได้เห็นความเป็นไทยที่ถ่ายทอดผ่านงานและกิจกรรมต่างๆมากมาย ซึ่งหนึ่งในความรับผิดชอบก็มาจากกรมศิลปากร ฉบับนี้คอลัมน์ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกจึงขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักพูดคุยกับอธิบดีกรมศิลปากร ประทีป เพ็งตะโกที่จะว่าไปแล้วก็เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ปลายปีที่ผ่านมานี้เอง โดยก้าวขึ้นมาจากตำแหน่งรองอธิบดีกรมศิลปากร แล้วไปต่อที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรมอยู่พักหนึ่ง ก่อนได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมศลิปากรในที่สุด ถือเป็นบุคคลที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการโปราณคดีอย่างยาวนาน หรือจะว่าตั้งแต่เริ่มต้นก็ได้ เพราะจบปริญญาตรีก็จากคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร และยังคว้าปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากคณะเดียวกันนี้ด้วย
เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งนักโบราณคดี อยู่ที่จังหวัดพระรนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2527 และไต่เต้าขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร จังหวัดสงขลา สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา แล้วขึ้นสู่รองอธิบดีกรมศิลปากร ไปรั้งตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ 1 ปี ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในที่สุดดังกล่าว ท่านอธิบดีประทีป ในวัย 59 ย่าง 60 ในปีนี้ (เกิดเมื่อวันที่ 9 คุลาคม 2503) เล่าให้เราฟังถึงการทำงานว่า ตัวท่านเป็นคนของกรมศิลปากรมาตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ เพราะเรียนก็เรียนที่ศิลปากร เมื่อเรียนจบก็เข้ามาทำงานที่กรมศิลปากรในตำแหน่งนักโบราณคดีและทำงานมาเรื่อยๆจนเติบโตมาตามสายงาน
อย่างไรก็ตาม ท่านอธิบดีฯ ย้ำว่า พอเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรต้องเข้าใจก่อนว่ากรมศิลปากรมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและเก่าแก่เป็นปีที่ 109 แล้ว มีภาระงานที่พัฒนามาโดยลำดับ ปัจจุบันนี้ก็มีภารกิจหน้าที่ 4 เรื่องหลักด้วยกันคือ
1. งานเกี่ยวกับโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ก็คือจะดูแลแหล่งประวัติศาสตร์ต่างๆและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ
2. งานเกี่ยวกับเอกสารก็จะมีสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักหอจดหมายเหตุที่จะดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้
3. งานเกี่ยวกับนาฏศิลป์และดนตรีที่จะดูในเรื่องของศิลปะการแสดงต่างๆ และงานที่
4. คืองานที่เกี่ยวกับศิลปกรรม สถาปัตยกรรม งานช่างสิบหมู่ ซึ่งก็มีการพัฒนาการในการทำงานกันมาในการเป็นหลักของประเทศชาติบ้านเมืองในด้านต่างๆเหล่านี้ และก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้ทำงานและสร้างคุณูปการไว้อย่างมากมาย
“การพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ากรมศิลปากรถือว่าเป็นสถาบันหลักทั้งในทางวิชาการและในหน้างานหลักๆ 4 ด้านข้างต้น ฉะนั้นก็หมายความว่าเป็นที่พึ่งของประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นเมื่อเข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ตรงนี้แล้วได้พูดเน้นย้ำกับบุคลากรข้าราชการว่าเราต้องดำรงความเป็นสถาบันหลักทางวิชาการในทุกหน้างานของเราให้ได้ ซึ่งการทำงานทุกอย่างต้องมีมาตรฐานบนพื้นฐานของความเป็นวิชาการนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการ ดำรงรักษาและสืบต่อไป “ซึ่งสิ่งที่ต้องทำในการที่จะดำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้นั้นก็ต้องให้ความสำคัญกับคนหรือบุคลากรที่ต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถ มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในตำแหน่งหน้าที่ เพราะอย่าลืมว่ากรมศิลปากรมีตำแหน่งเฉพาะทางที่หลากหลายและจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งที่ต้องสั่งสมความรู้เพื่อให้เกิดการทำงานที่ดีได้”
ดังนั้นเรื่องที่สำคัญคือต้องมีการสนับสนุนเรื่องการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพราะล้วนเป็นงานวิชาการ รวมทั้งเมื่อศึกษาค้นคว้าวิจัยแล้วก็ต้องมีการเผยแพร่ด้วยการพิมพ์เป็นเอกสารหนังสือเผยแพร่หรือแม้แต่การให้ความรู้ในการประชุมหรือสัมมนาเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เป็นต้น
อธิบดีกรมศิลปากร เล่าต่อว่าพอเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนตรงนี้แล้วมีความประทับใจ เพราะผูกพันกับที่นี่มาตั้งแต่ต้นของการทำงานจนเติบโตขึ้นมาตามสายงาน พร้อมกับบอกให้เราฟังว่าคนที่ทำงานของกรมศิลปากรทำด้วยหัวจิตหัวใจ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าล้วนเป็นงานฝีมือ งานช่าง งานโบราณคดีต่างๆ คือเป็นงานที่ต้องให้ความใส่ใจและต้องมีความทุ่มเท ประกอบกับบางงานต้องมีการลงพื้นที่ไปสำรวจ อยู่กับซากของโบราณสถาน จึงจำเป็นอย่างมากที่การทำงานต้องใช้ความทุ่มเทและความรักในการทำงาน จึงพูดได้เลยว่าประทับใจอย่างมากในการทำงานนี้ เพราะทำงานรับราชการที่กรมศิลปากรมาตลอดจนใกล้จะเกษียณก็ไม่ได้ไปไหน ดังนั้นจึงเป็นตัวบ่งชี้ได้เลยว่าเรามีความรัก ความประทับใจ และผูกพันกับที่นี้
สำหรับข้อคิดในการทำงานของท่านอธิบดีกรมศิลปากร ที่เรียกได้ว่าเป็นคนของกรมศิลปากรอย่างแท้จริง ก็คือการทำงานราชการต้องทำเพื่อประชาชนเพราะการเป็นข้าราชการก็คือการเป็นข้าของแผ่นดิน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำและต้องใส่ใจก็คือต้องทำเพื่อประชาชน คือต้องทำงานให้คุ้มกับค่าแรงค่าจ้างเพราะเงินที่ได้รับก็คือเงินของประชาชน โดยต้องทำงานให้เต็มที่และให้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตามแม้ท่านอธิบดีกรมศิลปากรจะมีความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างไร ก็ต้องมีเวลาที่ว่างเว้นจากการทำงานบ้าง โดยท่านเล่าให้เราฟังว่าเอาจริงๆ จะว่าไปก็ไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก เพราะบางครั้งต้องลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ แต่การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งท่านอธิบดีกรมศิลปากรจะมีมุมมองที่น่ารัก นั่นคือท่านมองเหมือนกับการเปลี่ยนบรรยากาศ เหมือนเป็นการพักผ่อน ผ่อนคลายไปในตัว ส่วนเรื่องของการออกกำลังกายก็มีไปตีกอล์ฟบ้าง เพราะถือเป็นกีฬาที่ยังพอเล่นได้ และถือเป็นการพักผ่อนได้ เนื่องจากพออายุมากขึ้นกีฬาอะไรที่ต้องใช้พลกำลังมากๆ ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนเคย นอกจากนี้ก็เป็นการพักผ่อนไปกับการท่องโลกโซเชียลในการติดตามข่าวสารข้อมูลต่างๆ ซึ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นการพักผ่อนได้เช่นกัน ท่านอธิบดีกล่าวในที่สุด