นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยวิกฤตภัยแล้งช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนซึ่งเป็นต้นทุนของน้ำจืดด้านการเกษตรมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นดันน้ำเค็มไหลเข้าไปในแม่น้ำในพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณแถบปากแม่น้ำใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญ 12 จังหวัด มีอำเภอที่คาดว่าจะเสี่ยงภัยต่อน้ำเค็ม 40 อำเภอ 187 ตำบล ได้แก่ ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำบางปะกง พื้นที่ทำการเกษตร กว่า 173,888 ไร่ ประกอบด้วย ข้าว ไม้ผล ไม้ดอก และ ผัก
ทั้งนี้น้ำที่มีค่าความเค็มที่สูงกว่าระดับมาตรฐานที่พืชสวน เช่น กล้วยไม้ ส้ม ฝรั่ง ชมพู่ จะสามารถทนอยู่ได้ น้ำเค็มจะทำให้พืชขาดน้ำ มีอาการปลายใบไหม้ ต้นเหี่ยวเฉา ใบเหลือง หากพืชอยู่ในระยะกำลังเริ่มสร้างช่อดอกหรือผสมเกสรจะส่งผลให้ช่อดอกไม่พัฒนาต่อ ไม่เกิดการผสมเกสร ผลผลิตจะลดลงตามมา หากอยู่ในระยะติดผลจะสลัดลูกร่วงทิ้ง เพราะพืชไม่สามารถนำน้ำที่มีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน (ไม่ควรเกิน 1.2 กรัม/ลิตร และไม่เกิน 0.75 กรัม/ลิตรสำหรับกล้วยไม้) ไปใช้ในการเกษตรเติบโตได้
อย่างไรก็ตามอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันแก้ไขน้ำเค็มใน 187 ตำบล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงให้เกษตรกรรู้วิธีการรับมือด้วยตนเอง เกิดชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำเค็มในพื้นที่เกษตร เช่น ชุมชนตำบลบางยาง กระทุ่มแบน สมุทรสาคร เป็นชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำเค็มเป็นประจำทุกปี และเกิดวิกฤตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนตระหนักรู้และมีความรู้ในการป้องกันน้ำเค็ม โดยช่วงก่อนเกิดภัยตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน ชุมชนมีการใช้เครื่องมือเพื่อวัดค่าความเค็มที่ถูกต้องตามหลักวิชาการโดยกำหนดเวลาและระดับความลึกของน้ำที่วัดเป็นไปตามมาตรฐานและกระจายข่าวผ่านระบบสมาร์ทโฟน เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบค่าความเค็ม ช่วงเกิดภัย 1)
นอกจากนี้กรมชลประทาน ทำการติดตามสถานการณ์น้ำความเค็มอย่างใกล้ชิด วันละ 2 – 3 ครั้ง 2) เมื่อถึงขั้นวิกฤตแหล่งน้ำในพื้นที่ไม่สามารถใช้ได้ เกษตรกรจะขอบริการรถบรรทุกน้ำออกให้บริการตามสวน ผ่านสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประสานและหน่วยงานที่รับผิดชอบ 3) เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ใช้สปริงเกอร์หรือระบบพ่นหมอกให้น้ำพืชแทนการใช้สายยางรดน้ำ เพื่อประหยัดน้ำจืด ช่วงหลังเกิดภัย ชุมชนยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าค่าความเค็มจะลดลงสู่ระดับปกติ ทั้งนี้เกษตรกรสามารถขอคำปรึกษาในการป้องกันน้ำเค็มได้ที่สำนักงานอำเภอใกล้บ้าน