เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์
ทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงนี้อุณหภูมิอากาศลดลงระวังโรคภัยไข้เจ็บกันด้วยนะครับ โควิทก็ยังไม่หมดไปง่ายๆ กลายไปไม่รู้กี่สายพันธุ์จนขี้เกียจจำแล้วครับ อุณหภูมิการเมืองก็เริ่มร้อนแรงขึ้นไปเรื่อย จนไม่รู้จะสงบจบสิ้นเมื่อไรมาว่าเรื่องอาหารกลางวันเด็กต่ออีกสักเรื่องนะครับ
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่โรงเรียนในสังกัดของ อปท.แห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนวัดมีการกล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนว่านำเงินในบัญชีโครงการอาหารกลางวันไปปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียนลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้มีการสอบสวนทางวินัยฟังได้ว่า โรงเรียนวัดแห่งนี้ได้รับเงินอุดหนุนตามโครงการอาหารกลางวันมาหลายปีแล้ว และมีผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่นก่อนทำหน้าที่ไปแล้วสองสามคน
การบริหารเงินอาหารกลางวันมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอาหารกลางวันดำเนินการ ซึ่งก็บรรดาครูในโรงเรียนนั้นละครับ รวมถึงมีการนำเงินอาหารกลางวันที่ได้รับแต่ละปีเข้าฝากบัญชีธนาคารกรุงไทยที่เปิดไว้ตั้งแต่ปี 2530 ชื่อ “บัญชีโครงการอาหารกลางวันวัด..” และบางครั้งเจ้าอาวาสรูปเดิมได้จัดหาเงินโดยทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินมาสนับสนุนอาหารกลางวันเงินที่ได้จะนำฝากในบัญชีโครงการอาหารกลางวันมาตลอด
ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยโครงการอาหารกลางวันและแนวทางปฏิบัติการจัดโครงการของหน่วยงานท้องถิ่นบอกว่า เงินอาหารกลางวันไม่ใช่เงินบำรุงการศึกษา และระเบียบยังกำหนดอีกว่า ให้หัวหน้าสถานศึกษาตั้งเจ้าหน้าที่หนึ่งคนทำหน้าที่รายรับรายจ่าย และมีคณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อย่างน้อยสามคนรับผิดชอบเก็บรักษาเงินและตรวจสอบการรับจ่ายเงิน โดยหัวหน้าสถานศึกษามีหน้าที่รับผิดชอบโครงการและมีอำนาจสั่งจ่ายเงินโครงการ โดยเบิกจ่ายได้สามประเภทคือ ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น หม้อหุงข้าว ตู้แช่อาหาร ค่าวัสดุเครื่องบริโภคเพื่อประกอบอาหาร เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าเชื้อเพลิง ค่าวัสดุซักล้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังกำหนดข้อห้ามไว้เป็นสำคัญว่า เงินโครงการอาหารกลางวันให้นำไปใช้เพื่ออาหารกลางวันสำหรับนักเรียนเท่านั้น ห้ามนำไปใช้เพื่อการอื่นใด เช่น ไปใช้พัฒนาโรงเรียนหรือนำไปเป็นจัดอาหารกลางวันเป็นสวัสดิการให้กับครู หากจะทานต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราที่โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนจ่ายให้เด็กแต่ละคนในแต่ละเดือน โดยให้โรงเรียนทำบัญชีรับเงินไว้ด้วย และอาหารที่ครูทานควรเป็นชนิดเดียวกับที่เด็กทานและเงินที่รับจากครูก็ให้ออกใบเสร็จรับเงินรวมเดือนละ 1 ฉบับ จัดทำรายชื่อครูที่ทานอาหารแนบด้วย และนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเงินโครงการอาหารกลางวัน
ท่านผู้อ่านดูแล้วจะเห็นได้ว่า ในหน่วยงานท้องถิ่นก็มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนว่า เงินอาหารกลางวันของเด็กก็ควรให้กับเด็กอย่างเต็มที่ ถูกโภชนาการเพื่อสุขภาวะของเด็ก แต่ความเป็นจริงต้องยอมรับว่า หลายโรงเรียนไม่ได้ปฏิบัติตามนี้ เอาตั้งแต่จ้างเหมาทำอาหารแล้วครูโรงเรียนก็ยังทานด้วย โดยไม่ได้จ่ายเงินตามระเบียบอย่างใด ก็ยังพอทำเนา แต่การที่อาหารเด็กไม่ถูกหลักโภชนาการนั่นละครับ ที่ทำให้เด็กไทยมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตทั้งสุขภาวะและสติปัญญา เรื่องนี้คิดว่ากระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะย้ำเน้นและมีมาตรการลงโทษชัดเจนกว่าทุกวันนี้ครับ
ว่าต่อเรื่องร้องเรียนครับ โรงเรียนที่เกิดกรณีร้องเรียนเปิดบัญชีอาหารกลางวันหลายปีจนมีเงินเหลือในบัญชีกว่ายี่สิบล้านบาท เพราะไม่ได้คืนเงินเหลือจ่ายส่งเป็นรายได้ของหน่วยงานท้องถิ่น จนภายหลังมีการตรวจพบจึงให้มีการส่งเงินเหลือจ่ายคืนคลังไปจนเหลือประมาณห้าล้านบาทเศษ ทีนี้ผู้อำนวยการที่ถูกร้องแกเคยเป็นผู้บริหารโรงเรียนอื่นมาก่อนหน้าเกือบสิบปี ย่อมรู้ดีว่าระเบียบปฏิบัติเรื่องอาหารกลางวันเป็นอย่างไร แต่เมื่อมาเป็นหัวหน้าสถานศึกษาปี 2560 แกเห็นว่ามีเงินเหลือในบัญชีมากมาย อีกอย่างอีกสองปีตัวเองจะเกษียณแล้ว คิดจะเอาเงินไปใช้จ่าย เลยบอกกับคณะกรรมการเงินอาหารกลางวันโรงเรียนว่า จะเอาเงินไปใช้อย่างอื่น แต่คณะกรรมการเขาไม่ยอม บอกว่ามีระเบียบควบคุมอยู่อาศัยความเป็นผู้บริหารแกเลยให้ครูฝ่ายแกไปปิด “บัญชีกองทุนอาหารกลางวันวัด..” โรงเรียนที่เปิดมาหลายสิบปีโดยพลการแล้วให้เปิดบัญชีใหม่เป็นสองบัญชีชื่อ “กองทุนพระครูเจ้าอาวาสรูปเดิม” บัญชีหนึ่ง แล้วนำเงินจากบัญชีที่ปิดสี่ล้านบาทเศษไปเข้าที่เหลือราวห้าแสนกว่าบาท
แกก็เปิดบัญชีใหม่ชื่อ “กองทุนอาหารกลางวันโรงเรียน” เอาเงินที่เหลือเพียงห้าแสนกว่าบาทนำฝากในบัญชีใหม่ทั้งที่ควรจะฝากทั้งห้าล้าน เพราะเป็นเงินจากบัญชีกองทุนอาหารกลางวันเดิมที่เหลืออยู่ก่อนปิดบัญชีนั้นทั้งที่คณะกรรมการอาหารกลางวันทักท้วงแล้ว ทีนี้เมื่อแยกเงินออกจากบัญชีอาหารกลางวันไปเปิดเป็น “บัญชีกองทุนพระครูวัด” เพื่อสะดวกในการเบิกจ่ายเพื่อการอื่น โดยอ้างว่าบัญชีอาหารกลางวันที่ปิดไปนั้น แต่เดิมเป็นเงินที่พระครูเจ้าอาวาสรูปเดิมเปิดไว้ให้เพื่ออุปถัมภ์โรงเรียนก่อนที่จะมีโครงการอาหารกลางวัน ภายหลังจึงนำเงินโครงการอาหารกลางวันไปฝากไว้ด้วย ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่า เป็นเงินเดิมก่อนอาหารกลางวันจำนวนเท่าใด เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น
ทั้งยังอ้างว่าที่ปิดบัญชีเดิมแล้วเปิดบัญชีอาหารกลางวันใหม่เพื่อให้ใช้ชื่อ “กองทุนอาหารกลางวันโรงเรียนวัด”โดยบัญชีเดิมชื่อบัญชีตกคำว่าโรงเรียน ซึ่งเหตุผลนี้ไม่อาจโต้แย้งวัตถุประสงค์การใช้เงินได้ แล้วผู้อำนวยการโรงเรียนคนนี้ก็ให้น้องชายตนเองเข้ามาปรับปรุงซ่อมแซม ทาสีอาคารเรียนอื่นๆ รวมสิบห้ารายการเป็นเงินเกือบห้าล้านบาท โดยเบิกเงินจากบัญชี “กองทุนพระครูวัด” โดยไม่มีหลักฐานการจัดซื้อหรือจ้าง การประมาณราคา การตรวจรับงานประกอบการเบิกจ่ายเงินตามที่กฎหมายระเบียบกำหนดไว้แต่อย่างใด
จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างในการปรับปรุงโรงเรียนโดยใช้จ่ายจากเงินอาหารกลางวันโดยไม่ชอบ และเมื่อมีการสอบสวนเรื่องหลังจากตนเองเกษียณแล้ว ยังกลับนำเอาหลักฐานการปรับปรุงอาคาร ซึ่งเป็นรายการตรงกันกับที่อ้าง แต่เป็นภาพหรือเอกสารประกอบการจ้างปรับปรุงโรงเรียนของปีหลังจากเกิดเหตุนั้น ไปแสดงเท็จกับคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้เชื่อว่ามีการปรับปรุงโรงเรียนจริง ทั้งที่เป็นความเท็จ
ถามว่าเขาทำประโยชน์ให้โรงเรียนแล้วจะทุจริตอย่างไร ก็เพราะผู้อำนวยการคนนี้อ้างเอาหลักฐานการปรับปรุงโรงเรียนภายหลังจากที่ตัวเองเกษียณไปแล้ว โดยโรงเรียนนี้ได้งบปกติไปปรับปรุงภายหลัง จึงมีการแอบอ้างว่าเป็นหลักฐานที่ตนเองปรับปรุงโรงเรียนตั้งแต่ครั้งที่เอาเงินอาหารกลางวันปรับปรุงนั้นเอง ซึ่งข้อเท็จจริงหักล้างไม่น่าเชื่อถือแล้วครับ พฤติการณ์ของผู้อำนวยการคนนี้ก็ต้องเป็นความผิดทางวินัย และอาจมีมูลความผิดอาญาด้วยครับ ท่านผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่นพึงระวังไว้นะครับ