ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ข้าราชการกับพรรคการเมือง
02 เม.ย. 2566

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

ข้าราชการกับพรรคการเมือง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ย่างเข้าหน้าร้อนแล้วนะครับ ท่านผู้อ่านดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ ปีนี้ว่ากันว่าจะร้อนมากกว่าทุกปีตั้งแต่เดือนมีนาคมก็ร้อนระอุกันทั้งประเทศแล้ว เราคงเห็นภาวะโลกร้อนในอนาคตที่มากเร็วขึ้นถ้ายังมีการทำลายความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันทั่วโลกเช่นนี้

บ้านเราเองก็ยังมีร้อนเรื่องเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่เห็นนโยบายพรรคต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชัดเจน หรือแม้เรื่องปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีบางพรรคที่พูดถึงอยู่บ้างแต่ก็เป็นพรรคเล็กๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่จะพูดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น คงอยู่ที่ประชาชนเท่านั้นที่จะใช้สิทธิที่มีอยู่ไปเลือกพรรคและคนที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองอย่างจริงจัง สำคัญต้องไม่เข้าไปโกงกินกันอีก ทิศทางอนาคตประเทศจะเป็นอย่างไรอยู่ที่พวกเราประชาชนครับ

คราวนี้เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งแล้ว อดคิดไม่ได้ถึงบรรดาข้าราชการในทุกหน่วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งมักจะมีปัญหาแทบทุกครั้งที่ข้าราชการมักจะถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง แต่ถ้าเราดูตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมาจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จะเห็นว่าข้าราชการต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีเสรีภาพในการรวมกลุ่มแต่ต้องไม่กระทบกับประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน และความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ และต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง

จะเห็นได้ว่า ข้าราชการมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มได้ แต่ต้องไม่ใช่การเมือง ยิ่งเป็นข้าราชการพลเรือนกับทหารชัดเจนที่สุดที่ไม่มีการรวมกลุ่มกันอย่างชัดเจนมากไปกว่าการรวมกลุ่มในสถาบันหรือหน่วยงานราชการเอง เช่น สมาคมข้าราชการพลเรือน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงต่างๆ แทบทั้งสิ้น และมักไม่ค่อยออกมารวมกลุ่มเรียกร้องหรือวิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้านกับฝ่ายการเมืองเท่าใดนัก เช่นเดียวกับข้าราชการทหาร ที่ไม่สามารถรวมกลุ่มในเชิงเรียกร้องผลประโยชน์ในฝ่ายของตน

ผิดกับข้าราชการครูหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดตั้งเป็นชมรม สมาคม สมาพันธ์กันหลากหลาย เช่นสมาพันธ์ครูภาคต่างๆ หรือสมาคมสันนิบาตเทศบาล อบต. หรือ อบจ. หรือแม้กระทั่งปลัดของ อปท. แต่ละประเภทก็มีการจัดตั้งเป็นชมรม สมาคมกัน ทั้งทำหน้าที่ดูแลเรียกร้องผลประโยชน์ในแต่ละกลุ่มมาตลอด และดูเหมือนเป็นที่เกรงใจของฝ่ายการเมืองบ่อยครั้ง เพราะชมรม สมาคมของท้องถิ่นจะอยูใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ว่าก็ว่าครับ แม้กระทั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคอยู่ในกำกับดูแลของมหาดไทย ยังมีชมรม สมาคมที่มีบทบาทเรียกร้องผลประโยชน์ในกลุ่มของตนอยู่บ่อยครั้ง และค่อนข้างเป็นที่เกรงอกเกรงใจของฝ่ายการเมืองพอสมควรละครับ

ทีนี้มาพูดถึงความเป็นกลางที่กฎหมายของข้าราชการทุกประเภท มักจะเขียนไว้ว่า ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และข้าราชการพลเรือนยังกำหนดไว้นานแล้ว ถ้าดูระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 16 มีนาคม 2499 ว่า ข้าราชการจะนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดๆ ที่ตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย และจะไปในการประชุมของพรรคการเมืองนั้นเป็นการส่วนตัวก็ได้ แต่ในทางที่เกี่ยวกับประชาชนและในหน้าที่ราชการ จะต้องกระทำตัวเป็นกลาง ปฎิบัติตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมืองและต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามรวม 9 ข้อ เช่น ไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใดๆ เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาประเภท 2 หรือข้าราชการการเมือง ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฎแก่ประชาชน ไม่แต่งเครื่องแบบราชการไปประชุมพรรคการเมืองฯ ไม่ประดับเครื่องหมายพรรคการเมืองเวลาสวมเครื่องแบบหรือในเวลาราชการ ไม่บังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ขอร้องให้ใครอุทิศเงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์พรรคการเมือง ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง เป็นต้น

ซึ่งแสดงว่า ข้าราชการมีทั้งสถานะความเป็นประชาชนและข้าราชการในตัวเอง ถ้าจะถามว่า แล้วถ้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองจะผิดอะไรมั้ย แน่นอนว่า ก็ต้องดูพฤติกรรมการทำหน้าที่ของข้าราชการคนนั้นว่า ทำในฐานะประชาชนหรือข้าราชการ และลักษณะพฤติกรรมการกระทำนั้น เหมาะสมกับความเป็นราชการหรือไม่ เพราะถ้าเข้าการกระทำเช่นข้างต้น ก็อาจผิดวินัยได้ครับ และนอกจากผิดฐานไม่เป็นกลางทางการเมืองแล้ว อาจผิดวินัยฐานไม่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียอีกก็ได้

 ท้ายนี้คงสรุปได้ว่า ข้าราชการเป็นสมาชิกพรรคได้ แต่จะกระทำเช่นที่กล่าวข้างต้นไม่ได้ คราวหน้าจะเล่าถึงความผิดและบทำหนดโทษตามกฎหมายมี่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอีกสักครั้งนะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...