ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ไต้หวัน...นับถอยหลังสู่การรวมชาติ
29 ม.ค. 2567

ปลายปี 2023 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศจะรวมชาติจีน  แต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติของไต้หวันหรือ “สาธารณรัฐจีน” เมื่อกลางเดือนมกราคม 2024 ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันแล้วว่านายไล่ ชิงเต๋อ หรือ วิลเลียม ไล่ วัย 64 ปี ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) บุคคลที่จีนเคยเรียกว่า “เป็นพวกแบ่งแยกดินแดนที่เป็นตัวอันตราย”กำชัยชนะด้วยคะแนนนำ 5.58 ล้านเสียง หรือประมาณ 40.05% ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง     

แม้จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ DPP ได้ครองอำนาจต่อเนื่องในสมัยที่ 3  แต่ 5.58 ล้านเสียงยังถือว่าห่างไกลจาก 8 ล้านเสียงที่ ไช่ อิงเหวิน เคยกวาดคะแนนเสียงมาได้อย่างถล่มทลายในปี 2020 ด้วยกระแสเรียกร้องเอกราช อธิปไตย  พร้อมโหนกระแสม็อบฮ่องกงที่กำลังขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่ จนสามารถครองเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อได้ในสมัยที่ 2            

เสียงสนับสนุนที่ลดลงไปเกือบ 3 ล้านเสียงของ DPP อาจเนื่องมาจากเดิมนั้นไล่ ชิงเต๋อ เคยประกาศตนเองว่าเป็น “ผู้ปฏิบัติงานเพื่อเอกราชของไต้หวัน”  แต่ในการหาเสียงครั้งนี้ไล่ไม่พูดเรื่องการแยกตัวเพราะรู้ดีว่าชาวไต้หวันส่วนหนึ่งก็กลัวจะเกิดสงคราม  เนื่องจากได้เห็นแสนยานุภาพของกองทัพจีนตอนซ้อมรบยิงจรวจข้ามเกาะไต้หวันมาแล้ว  หรือการที่จีนส่งเครื่องบินรบเข้าไปบินเหนือฟ้าไต้หวันแผดเสียงคำรามมากที่สุดถึง 103 ลำในรอบ 24 ชั่วโมงจนชาวไต้หวันขวัญหนีดีฝ่อว่าจะเจอสงครามแน่ๆแล้ว

ไล่จึงเน้นเรื่องการรักษาความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวันที่มีอยู่  พูดเรื่องการพร้อมเจรจาเพื่อลดความขัดแย้ง

หลังได้รับชัยชนะไล่กล่าวปราศรัยกับผู้ให้การสนับสนุนว่า “ การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวไต้หวันยืนหยัดต่อระบอบประชาธิปไตย เราต้องแทนที่การปิดล้อมด้วยการแลกเปลี่ยน และแทนที่การเผชิญหน้าด้วยการเจรจา เพื่อบรรลุสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยการเจรจาต้องตั้งอยู่บนหลักความเสมอภาค และประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามเสียงจากปักกิ่งได้เตือนคนไต้หวันล่วงหน้าแล้วว่าชัยชนะของไล่ ชิงเต๋อจะนำมาซึ่ง “สงครามและความตกต่ำ” ของไต้หวัน 

 โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของรัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์ทันทีว่า  ผลการเลือกตั้งของไต้หวันไม่สามารถเป็นสิ่งชี้วัดทัศนคติของประชาชนส่วนใหญ่ได้  “ไต้หวันยังคงเป็นไต้หวันของจีน โดยการเลือกตั้งนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์พื้นฐานและทิศทางการพัฒนาของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ จะไม่เปลี่ยนแปลงความปรารถนาร่วมของเพื่อนร่วมชาติทั่วช่องแคบไต้หวันในการกระชับสายสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และจะไม่ขัดขวางทิศทางการรวมชาติของจีน

ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนบัญญัติไว้ชัดเจนว่า  “ ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน การดำเนินการอันยิ่งใหญ่เพื่อให้ปิตุภูมิเป็นเอกภาพ เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนชาวจีนทั้งหมด รวมถึงพี่น้องชาติชาวไต้หวันด้วย

ผู้นำจีนทุกคนนับแต่เหมา เจ๋อตุงเติ้ง เสี่ยวผิงเจียง เจ๋อหมิน, หู จิ่นเทา จนมาถึงสี จิ้นผิง  ต่างรู้ว่าภารกิจอันยิ่งใหญ่คือ “การรวมชาติ” แต่เพราะ7ทศวรรษที่ผ่านมาต่างมีเรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องบริหารจัดการก่อน  ทั้งความอดอยากยากแค้น  การยกระดับคุณภาพชีวิต  การเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม  การสร้างงาน  การพัฒนาการคมนาคมขนส่ง  การพัฒนาเทคโนโลยี  การพัฒนากองทัพที่เข้มแข็ง  ฯลฯ

เมื่อสหประชาชาติรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าคือ “จีนเดียว”อยู่แล้ว  จึงไม่ใช่เรื่องเร่งร้อนที่จะควบรวมด้วยกำลังหรือความรุนแรง

              ต้องยอมรับความจริงที่ว่า  คนจีนที่เกิดในไต้หวันอายุต่ำกว่า 75 ปีอาจจะปฏิเสธแผ่นดินใหญ่และเรียกตนเองว่าเป็น “คนไต้หวัน”ไม่ใช่ “คนจีน

 เช่นเดียวกับคนฮ่องกงที่เกิดในยุคสัญญาเช่า 99ปีของอังกฤษ หรือแม้จะเกิดหลังจากอังกฤษคืนเกาะในปี 1997 เปลี่ยนเป็น “เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน”  แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านกฎระเบียบอันเข้มงวดของจีนแล้วเรียกตนเองว่า “คนฮ่องกง” ไม่ใช่ “คนจีน” 

          ในกรณีฮ่องกงรัฐบาลจีนก็ตอบผู้ที่เคยประท้วงต่อต้านอย่างนุ่มนวลว่าหากไม่ต้องการเป็น “คนจีน” ก็ยินดีให้ออกไปเป็นคนของชาติอื่น

           ในกรณีไต้หวัน  รัฐบาลจีนพยายามเอาใจคนที่เกิดบนเกาะไต้หวันด้วยการเสนอให้บัตรประชาชนคนจีน  ให้ไปทำงานบนแผ่นดินใหญ่  ส่งเสริมผู้ประกอบการเอกชนให้ทำการค้าการลงทุนกับเอกชนหรือวิสาหกิจจีน  จนทุกวันนี้คาดว่ามีชาวไต้หวันข้ามไปทำงานหรือทำมาหากินบนแผ่นดินใหญ่มากกว่า 1 ล้านคน

          เหตุเพราะช่วง 8 ปีที่ผ่านมาของไต้หวันภายใต้พรรค DPP เศรษฐกิจอ่อนแอลง  รายได้คนไต้หวันที่เคยดีกว่าคนจีนบนแผ่นดินใหญ่  จนเคยเป็นพื้นที่ที่คนจากอผ่นดินใหญ่อยากอพยบมาอยู่ด้วย  เหมือนกับที่เคยรู้สึกกับฮ่องกง  วันนี้กลายเป็นคนไต้หวันจำนวนไม่น้อยได้ย้ายไปทำงานที่แผ่นดินใหญ่  เพราะรายได้ดีกว่าและทันสมัยกว่า 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน ได้ให้ความเห็นไว้ใน The Standard ตอนหนึ่งว่า  ไต้หวันจะเจอแรงกดดันจากจีนมากขึ้น  ทั้งการซ้อมรบในบริเวณช่องแคบไต้หวันโดยฝ่ายจีนอาจมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นและมีความถี่ที่สูงมากยิ่งขึ้น   ควบคู่กับการกดดันทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากไต้หวัน หรือในวันที่จีนมีศักยภาพเพียงพอในการพึ่งพาตนเองทางเซมิคอนดักเตอร์  นั่นจะทำให้จีนลดการพึ่งพาไต้หวันได้อย่างมีนัยสำคัญ และยิ่งทำให้จีนสามารถเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันได้มากขึ้น       

          “การรวมชาติเป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จีนคงไม่ต้องการสร้างความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินให้กับคนไต้หวันบนเกาะ  เพราะจะมีประโยชน์อะไรหากชนะสงครามแต่ได้ความเกลียดชังของผู้คนบนเกาะที่จะเป็นมณฑลแห่งใหม่เข้ามารวมกับประเทศเดิม เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการสร้างคลื่นใต้น้ำลูกใหม่ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในหลังการรวมชาติ” ความเห็นของรศ.ดร.ปิติ   

ผลการเลือกตั้งบอกให้รู้ว่าคนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง  ต้องการเป็นอย่างเดิมๆ ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นเอกราชแต่ก็ไม่ต้องการรวมชาติ   แต่สำหรับรัฐบาลปักกิ่งที่ประกาศนโยบาย One China ต้องการให้ไต้หวันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน  กฎหมายฉบับเดียว  ธงผืนเดียวกัน และประธานาธิบดีเพียงคนเดียว

            ภายใน 4 ปี หรือก่อนถึงการเลือกตั้งในปี 2028  พรรคคอมมิวนิสต์จีน น่าจะทำการบ้านอย่างหนักว่าจะทำอย่างไรในการปลูกฝังความรักชาติและแนวคิดรวมชาติในไต้หวันให้บังเกิดผลได้มากกว่านี้  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ 

วันนี้สี จิ้นผิง อายุ 75 ปีแล้วคงไม่รอถึงปี 2049 เพื่อฉลอง 100 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รวมชาติสำเร็จ

 

โลกของจีน / ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มกราคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...