ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
'บิ๊กตู่' ชงอาเซียนบวก 3 ตั้ง 'กองทุนรับมือโควิด' ดึงเงินวิจัยวัคซีน-ซื้ออุปกรณ์การแพทย์
14 เม.ย. 2563

14 เม.ย. เวลา 8.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

โดยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยสถาบันวิจัย เอกชนชั้นนำอย่างแม็กคินซี่คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้อาจจะติดลบถึง 1.5% และหากวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อต่อไป ก็อาจจะติดลบ 4.7%

ขณะที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยอาจสูญเสียรายได้กว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเห็นว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน โดยเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทย จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.- 30 เม.ย.2563

พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับการรับมือและแก้ไขปัญหา ทั้งต้นทางที่เน้นควบคุมการเดินทางและคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ กลางทาง โดยการรณรงค์มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และปลายทางที่ให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วย และเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สนับสนุนการวิจัยเชิงรุกเพื่อพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 และการพัฒนาระบบสนับสนุนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1.อาเซียนต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม พร้อมเสนอให้อาเซียนและประเทศบวก 3 ร่วมกันจัดตั้ง 'กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19' โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้วเท่าที่สามารถตกลงกันได้ มาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัยคิดค้นยาและวัคซีน ให้อาเซียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

2.อาเซียนควรต้องร่วมกันในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การผ่านพิธีการศุลกากร และการค้าชายแดนระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคของเราได้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าที่จำเป็นในช่วงวิกฤติอย่างเพียงพอและทันท่วงที

3.เราควรสนับสนุนให้อาเซียนใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคให้มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการเชื่อมโยงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันได้ ให้การค้าภายในภูมิภาคของเรามีความคล่องตัวมากขึ้น

4.ขอเสนอให้อาเซียนถอดบทเรียนและประสบการณ์จากการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับ ความท้าทายต่างๆ ที่อาจคุกคามชีวิตของประชาชนในอนาคต โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายในและการพึ่งพาตนเองของภูมิภาคในระยะยาวให้มากขึ้น

5.เราควรเสริมสร้างบทบาทของท่านเลขาธิการอาเซียนในการเป็นผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์วิกฤตอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ และทันเหตุการณ์

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้กล่าวขอบคุณเลขาธิการอาเซียนที่ได้ช่วยจัดการหารือระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน พร้อมย้ำว่า อาเซียนควรใช้โอกาสนี้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม โดยเน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภายในอาเซียน และกับภาคีภายนอกใน วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็ง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการตอบสนองต่อโควิด-19 อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเข้าสู่ครอบครัวอาเซียนอีกด้วย

ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน บวก 3 สมัยพิเศษ ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยพล.อ.ประยุทธ์ ย้ำถ้อยแถลงใน 3 แนวทาง เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้

1.จัดตั้ง 'กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19' โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้ว จากกองทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียน กองทุนความร่วมมือกับจีน ญี่ปุน เกาหลีใต้ และอาเซียนบวกสาม หรือเท่าที่สามารถตกลงกันได้ เพื่อรองรับผลกระทบ ทั้งในระยะสั้น ในการเป็นทุนสำหรับจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นวัคซีน และยา

2.ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสนอให้ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการผลิตนวัตกรรมเพื่อป้องกันและรับมือการแพร่ระบาด และความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการความร่วมมือไตรภาคี (TCS) รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการของแต่ละประเทศ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (CMIM) เพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค ในกรณีที่จำเป็น

3.ส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนบวกสามเห็นพ้องในปีที่ผ่านมา ทั้งการศึกษา การติดต่อสื่อสาร และการค้าการลงทุน พร้อมเร่งใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากข่าวปลอม

โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้น และการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ จะช่วยให้เราเอาชนะวิกฤตนี้ไปได้ โดยไทยพร้อมร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนบวกสามอย่างเต็มที่ ให้ทุกประเทศในภูมิภาคสามารถฟื้นตัวและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของโลกนี้ต่อไป เราจะเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...