ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
ไทย-จีน-ไต้หวัน
18 มิ.ย. 2563

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 

ไทย-จีน-ไต้หวัน

          เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไช่ อิงเหวิน ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวันเป็นสมัยที่ 2 หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นปีด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายกว่า 8 ล้านเสียง

          ชัยชนะของไช่ อิงเหวิน ในปี 2020 หรือสมัยแรกปี 2016 ก็เหมือนชัยชนะของ เฉิน สุยเปี่ยน ในปี 2001และปี 2004 ที่ชูนโยบายให้ไต้หวันเป็นเอกราชจากจีน

          เรียกว่าขี่กระแสเอกราช อธิปไตย พร้อมโหนกระแสม็อบฮ่องกงที่กำลังขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่         

          ไช่ อิงเหวิน ยังประกาศสนับสนุนม็อบฮ่องกงที่ออกมาต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง โดยบอกว่าไต้หวันจะจัดตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาช่วยเหลือชาวฮ่องกง ทั้งด้านที่อยู่ ที่กิน และอาชีพการงาน 

          การเคลื่อนไหวของผู้นำไต้หวันยังเป็นการแสดงความท้าทายแบบเดิมๆ ที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ที่ประกาศต่อทั้งโลกว่าไต้หวันคือ “มณฑล” หนึ่งของจีน

          นั่นทำให้การประชุมครบรอบ 15 ปี การบังคับใช้กฎหมายห้ามแยกประเทศ (Anti-Secession Law) ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน มีการส่งเสียงออกมาว่า “หากไทเปประกาศแยกตัวเมื่อไรก็ต้องเจอกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนแน่นอน”

          นี่เป็นประเด็นที่ได้หยิบยกเอาความสัมพันธ์ ไทย-จีน-ไต้หวัน มาเขียนในฉบับนี้ เพราะสอดคล้องกับช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปร่วมงานเสวนา “พันธมิตรชานม : ไทย-ไต้หวัน-จีน จะเดินทิศทางใดในยุคโซเชียลมีเดีย?” ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย(FCCT)

          ผู้ดำเนินรายการถามว่า กระแสโลกโซเชียลมีเดีย กระแสเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงและไต้หวัน จะมีผลให้รัฐบาลไทยต้องทบทวนความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่

         ผู้เขียนบอกอย่ามองแค่ “พันธมิตรชานม” แต่ให้มองความจริงหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่ขนาดพื้นที่ของจีนแผ่นดินใหญ่ 9.5 ล้าน ตร.กม. กับเกาะไต้หวันแค่ 3.5 หมื่น ตร.กม. ก็เทียบกันไม่ติด ขนาดพลเมือง 1,400 ล้านคนบนแผ่นดินใหญ่ กับแค่ 25 ล้านคนบนเกาะ หรือขนาดของเศรษฐกิจของจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ2ของโลก แต่บางคนว่าแซงสหรัฐอเมริกาไปแล้ว ขณะที่ไต้หวันมีเศรษฐกิจอยู่ในอันดับ 14 ของโลก

          เปรียบเทียบยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีนวันนี้ที่โดดเด่นคือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ที่เชื่อมจีนกับโลก ทั้งยุโรปและเอเชีย นับถึงวันนี้น่าจะมีประเทศ 70 ประเทศเข้าร่วม ส่วนของไต้หวันคือ “ยุทธศาสตร์มุ่งใต้” (New Southbound Policy) เป็นนโยบายลดการพึ่งพาจีน มุ่งอาเซียน เอเชียใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

         มองด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ไต้หวัน แต่ละปีมีการค้าขายกันในระดับ 4 แสนล้านบาท นักท่องเที่ยวไต้หวันมาเที่ยวไทยปีละประมาณ 6-7 แสนคน เทียบกับการค้าไทย-จีน ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย 11 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท จากรายได้รวมด้านการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท

          แค่รายได้จากการท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเดียวก็มากกว่าตัวเลขการค้าไต้หวันทั้งปี อย่างนี้คิดว่ารัฐบาลไทยจะเลือกใคร?

          ความจริงรัฐบาลไทยก็ตัดสินใจเลือกมาตั้งนานแล้ว จากประวัติศาสตร์การเมืองที่สมัยหนึ่งไทยเคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่เมื่อโลกเปลี่ยน สหประชาชาติหันมารับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน ไทยซึ่งเป็นสมาชิกสหประชาชาติก็ต้องเปลี่ยนนโยบายมาผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2518 สมัยรัฐบาล ม.รว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

         ความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านการทูตจะครบรอบ 45 ปีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

          ส่วนความสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน แม้ไม่มีทางการเมือง แต่ก็เติบโตแน่นแฟ้นในด้านการค้าระหว่างนักธุรกิจ และด้านสังคมวัฒนธรรมจากการไปมาหาสู่ของประชาชนไทย-ไต้หวัน

         มีข้อสงสัยว่า ความขัดแข้งระหว่างจีนกับไต้หวันโดยมีสหรัฐอเมริกาคอยแทรกแซงจะรุนแรงขึ้นกลายเป็นสงครามไหม

         ผู้เขียนตอบว่า ทุกวันนี้ก็รบกันอยู่แล้วในรูปแบบ “สงครามไซเบอร์” หรือสงครามดิจิทัลที่ไม่ต้องใช้กำลังทหารให้เสียเลือดเนื้อ แต่เป็นนสงครามข้อมูลข่าวสารที่แต่ละฝ่ายพยายามแทรกแซงข้อมูล ฉกข้อมูล บิดเบือน หรือสร้างข่าว เพื่อสร้างอิทธิพลต่อความคิดเห็นสาธารณะ

          ตัวอย่างของสงครามไซเบอร์คือจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่ทะเลาะกันรุนแรงกว่า ขู่กันไปมาจนน้ำลายแตกฟอง ล่าสุดอเมริกาโม้ว่า มีมิสไซน์ความเร็วเหนือเสียง ฝ่ายจีนก็บอกมีกองทัพ 2 ล้านคน มีขีปนาวุธต่งเฟิง มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์

          แต่เชื่อเถอะว่า แค่เอาไว้โชว์เอาไว้ข่มขวัญ ไม่มีใครกล้ายิงก่อน เพราะหมายถึงหายนะทั้ง 2 ฝ่าย สู้ใช้ทวิตเตอร์โจมตีได้ไวกว่าและเป็นข่าวไปทั่วโลก

          วิทยากรที่ร่วมเสวนาในเวทีเดียวกันอีกท่านคือ รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เพียงกระแสชั่วคราวทางโซเชียลมีเดียไม่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนท่าทีหรือความสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นอน

         ขณะเดียวกันจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีนโยบายที่แน่ชัดเรื่อง “จีนเดียว” ฮ่องกงและไต้หวันเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำจีนให้พันธสัญญากับชาวจีนไว้แล้ว่า นี่คือภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ขนาดเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจีนในส่วนอารัมภบทว่า

          “ไต้หวันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชาชนจีนทั้งปวงมีหน้าที่ต้องร่วมแรงร่วมใจดึงไต้หวันสู่ปิตุภูมิ”

          น่าจะเป็นคำตอบของคำถามทั้งมวล          

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...