ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ตัวอย่างการกระทำผิดที่ศาลฯ วินิจฉัยต่างกัน (2)
01 ส.ค. 2563

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

 

ตัวอย่างการกระทำผิดที่ศาลฯ วินิจฉัยต่างกัน (2)

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน มาต่อจากตอนที่แล้วที่ได้เล่าถึงคดีอาญาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่งกับพวก ละเว้นคดีละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กิ่วข้าวหลาม อ่างเก็บน้ำปงชัย อ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ในเขตอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 5 ตัดสินจำคุกไปก่อนนั้น

คดีนี้ยังไปสู้กันที่ศาลปกครองอีกครับ โดยเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยได้ลงโทษไล่ออกอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกับพวก เบื้องต้นท่านกับพวกจึงไปยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมหรือ กพค. แต่ กพค.ก็ต้องว่าตาม ป.ป.ช. ท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกับพวกจึงไปยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยท่านฟ้องปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมหรือ กพค. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในคดีที่กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งไล่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้ออกจากราชการ ฐานมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่า ละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กิ่วข้าวหลาม อ่างเก็บน้ำปงชัย อ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้

ก็สู้ตั้งแต่ศาลปกครองชั้นต้นจนศาลปกครองสูงสุด ในที่สุดศาลปกครองสูงสุด ฟังข้อเท็จจริงในกรณีถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดังกล่าวว่า เรื่องนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรณีที่อดีตผู้ว่าฯ ท่านนี้ปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการอนุมัติให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกิ่วข้าวหลาม อ่างเก็บน้ำปงชัย อ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ที่เป็นโครงการของกองทุนฯ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด หรือในฐานะประธานกรรมการฯ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

นอกจากนี้ การที่อดีตผู้ว่าฯ อนุมัติจ่ายเงินค่าก่อสร้างเป็นการอนุมัติให้มีการจ่ายเงินค่าจ้าง ซึ่งผู้รับจ้างมีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้าง และผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง แต่เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมป่าไม้ ดังนั้น การที่กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งลงโทษไล่อดีตผู้ว่าฯ กับพวก ออกจากราชการในฐานความผิดประพฤติชั่วร้ายแรง โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน จึงเป็นการกระทำไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ด้วยว่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้ มีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้จากการเป็นผู้จัดการอ่างเก็บน้ำดังกล่าว

เมื่อมิได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยดังกล่าว ซึ่งนอกจากที่ศาลปกครองเองรับฟังว่า มิได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เพื่อให้ตนเองและผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการแล้ว ยังปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงาน เพื่อประกอบพระราชดำริ จากการถวายฎีกาของกำนันผู้ใหญ่บ้าน และพวกในคดีนี้ว่า  ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง กระทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ มิได้มีเจตนาบุกรุก ครอบครอง เข้าทำประโยชน์ส่วนตนอันสอดคล้องกับความเห็นของจังหวัดลำปาง ที่เสนอผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ภายหลังการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง มีสภาพมั่นคงแข็งแรง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ตลอดปี

ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ไล่อดีตผู้ว่าฯ ออกจากราชการจึงมิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่ง ได้รับคืนสิทธิทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว โดยศาลไม่จำต้องกำหนดคำบังคับ ส่วนมติ ป.ป.ช.นั้น เป็นเพียงขั้นตอนภายใน ยังไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของอดีตผู้ว่าฯ จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้

นอกจากนี้ ยังพิพากษาให้กระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการของอดีตนายอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีดังกล่าวด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 นี้เอง กระทรวงมหาดไทยได้ยกเลิกคำสั่งไล่ออกตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่า คำวินิจฉัยระหว่างศาลอาญาคดีทุจริตฯ กับศาลปกครองสูงสุดต่างกันในการรับฟังข้อเท็จจริงและคนละบทลงโทษ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะยังไม่ถึงที่สุด แต่การรับฟังข้อเท็จจริงต่างกันเช่นนี้โดยทางวินัยศาลปกครองมองว่าไม่ผิดให้ยกวินัยไป แต่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ถ้ามีการต่อสู้ถึงศาลฎีกาแล้ววินิจฉัยผิดตามศาลอาญาคดีทุจริตฯ และให้ลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว คำวินิจฉัยของทั้ 2 ศาลที่แตกต่างกัน จะเป็นปัญหาได้อีกว่า จะต้องลงโทษต่อไปอย่างไรได้หรือไม่ เพราะเหตุที่ศาลปกครองวินิจฉัยว่า ไม่ผิดไปแล้ว แต่ถ้าทางอาญาเกิดศาลอาญาฯ วินิจฉัยว่าผิด และเป็นเรื่องทุจริต นั่นหมายถึงทางวินัยต้นสังกัดต้องกลับไปลงโทษร้ายแรงอีกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องน่าคิดนะครับ

เพราะปกติแล้ว ถ้าเป็นเรื่องทุจริตแล้ว การดำเนินการทางวินัยคือไล่ออก ซึ่งจะกระทบถึงสิทธิของผู้กระทำผิดที่จะถูกรอนสิทธิที่พึงได้หลังเกษียณ เช่น บำเหน็จบำนาญ ขณะที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ทางวินัยไม่ผิด เพราะแม้การดำเนินคดีอาญาจะต่างจากการดำเนินการวินัยแต่ความเชื่อมโยงของข้อกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินก็ยังมีผลอยู่ดีทั้งทางวินัยและอาญา

ที่ได้เล่าเรื่องนี้ยาวถึง 2 ตอน ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้แลเห็นถึงการต่อสู้คดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลทั้งวินัยและอาญา ซึ่งก็ต้องเสียเวลาไปต่อสู้คดีทั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ และศาลปกครอง คนถูกฟ้องก็ต้องดูว่า จะถือเอาประโยชน์ด้านไหนมาต่อสู้ทางคดี ติดตามตอนต่อไปครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...