ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรแปลงใหญ่ หนทางแก้ปัญหาการเกษตรไทย
01 ส.ค. 2563

รายงาน

เกษตรแปลงใหญ่

หนทางแก้ปัญหาการเกษตรไทย

 

            แม้ประเทศไทยของเรา จะเป็นประเทศเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจวบจนปัจจุบัน แต่กระนั้น การเกษตรบ้านเราก็มักจะประสบปัญหาเก่าๆ ซ้ำซากอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งและก็น้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตไม่คงเส้นคงวา ต้นทุนสูง ส่งผลให้ไม่สัมพันธ์กับการตลาดทั้งในและนอกประเทศ

                จุดอ่อนที่ค้นพบ ได้แก่ พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานมากถึงร้อยละ 80 สินค้าเกษตรผลิตอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ซึ่งมีถึงร้อยละ 70 รวมถึงสถาบันเกษตรกรขาดความเข้มแข็ง ขาดโอกาสในการต่อรองทางการตลาด ดังนั้น แนวคิด “เกษตรแปลงใหญ่” จึงบังเกิดขึ้น เพื่อเป้าหมายนำเกษตรรายย่อยมารวมกันให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยยังคงสิทธิ์ในพื้นที่ของตนเอง มีการบริหารจัดการผลิต การตลาด ตลอดจนการนำวิธีการและเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดต้นทุน มาใช้ในพื้นที่ร่วมกัน

                อย่างไรก็ตาม แม้ “เกษตรแปลงใหญ่” จะถูกเรียกขานขึ้นอย่างจริงจังขึ้นในยุคของนายกฤษฎา บุญราช เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงปี 2560-2562 ก็ตาม แต่นโยบายดังกล่าวนี้ ก็มีจุดเริ่มต้นเรื่อยมา นับแต่นโยบาย “การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร” ในสมัยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ ปี 2556-2557 ต่อเนื่องมาถึงนโยบาย “ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน” ในยุคของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเกษตรฯ ทั้งนี้ “เกษตรแปลงใหญ่” ถูกกำหนดเป้าหมายไว้ จากปี 2560-2564 จำนวน 30 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่นำร่อง 9 ประเภทสินค้าเกษตร ประกอบด้วย ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล หม่อน กล้วยไม้ ปศุสัตว์ และประมง

                สำหรับผลการดำเนินงานในภาพรวมระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันได้มีการรับรองแปลงใหญ่แล้ว 6,888 แปลง รวมพื้นที่ 6,578,392 ไร่ เกษตรกร 406,755 แบ่งเป็น ปี 2559 จำนวน 593 แปลง 39 ชนิดสินค้า เกษตรกร 80,384 ราย พื้นที่ 1,406,176 ไร่ ปี 2560 จำนวน 1,772 แปลง 70 ชนิดสินค้า เกษตรกร 116,018 ราย พื้นที่ 2,005,998 ไร่  ปี 2561 จำนวน 1,582 แปลง 68 ชนิดสินค้า เกษตรกร 75,223 ราย พื้นที่ 1,168,447 ไร่ และปี 2562 จำนวน 1,279 แปลง 89 ชนิดสินค้า เกษตรกร 48,907 ราย พื้นที่ 662,160 ไร่

“ส่วนการบริหารจัดการแปลงใหญ่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดให้มีการจัดเวทีวิเคราะห์ซึ่งในปี 2563 เน้นการรับรองแปลงผ่านคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร (Chief of Operation : CoO) และร่วมกับทีมผู้จัดการแปลงและเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ จัดเวทีวิเคราะห์ จัดทำแผนและเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่ม พร้อมทั้งจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานแปลงใหญ่และประเมินผลจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานของกลุ่มในประเด็นต่างๆ”

นอกจากนี้ ปัจจุบันระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างมากโดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิต รวมมูลค่า 36,180.25 ล้านบาท ส่วนด้านพัฒนาคุณภาพมีเกษตรกรแปลงใหญ่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตสินค้ารวม158,904 ราย แบ่งเป็น GAP 131,732 รายเกษตรอินทรีย์ 15,566 ราย RSPO (ปาล์มน้ำมัน) 2,850 ราย และ PGS กลุ่มรับรองตนเอง 8,756 โดยจากการเปิดเผยของนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ ด้านข้าว นับเป็นแปลงใหญ่ที่ได้รับความสนใจมาก รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา โดยได้จัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยการวางแผนในการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด กำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตข้าวในปี 2562/63 ไว้จำนวนประมาณ 34.158 ล้านตัน เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสมีรายได้สูงขึ้น และส่งเสริมให้เกษตรกรรมกลุ่มเพื่อทำการผลิตในระบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การยกระดับมาตรฐาน และบริหารจัดการผลผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในเขตพื้นที่นาที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าว

โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีโอกาสเข้ามาสู่การส่งเสริมในระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้มากขึ้น จากผลการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ ตั้งแต่ ปี 2558–2562 รวมจำนวน 2,741แปลง เกษตรกร จำนวน 220,000 ราย เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อตันได้เฉลี่ย ร้อยละ 20 เพิ่มผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย ร้อยละ 15

ขณะที่นายทัศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษากรมการข้าว เปิดเผยว่า นาแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งจากภาพรวมพบว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันทั่วประเทศมีกลุ่มนาแปลงใหญ่กว่า 2 พันแห่ง และกรมการข้าวมีนโยบายขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ในอนาคต

    “นาแปลงใหญ่เราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่จะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นโครงการที่ได้รับความนิยมจากพี่น้องเกษตรกรชาวนาเพิ่มมากขึ้น มีการขึ้นบัญชีไว้เยอะมาก แต่งบประมาณมีจำกัด ซึ่งก็จะพยายามผลักดันให้มีกลุ่มนาแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนาดีขึ้น” นายทัศนะ กล่าว

 

ขณะที่ด้านสมุนไพรแปลงใหญ่ ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นเช่นกัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันได้เกิดการรวมกลุ่มผลิตสมุนไพรในรูปแบบแปลงใหญ่แล้วจำนวน 16 แปลง ใน 15 จังหวัด จำนวนเกษตรกร 701 ราย พื้นที่รวม7,706.75 ไร่ เน้นส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง หรือที่เรียกว่า Product Champions 4 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ, ไพล, บัวบก และ ขมิ้นชัน

“เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่พืชสมุนไพร จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจร ภายใต้หลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการและความต้องการของเกษตรกร เช่น การผลิตสมุนไพรคุณภาพ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอและมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาดโดยเน้นเรื่อง การจัดการแปลงการจัดทำแผนการผลิตการวิเคราะห์พื้นที่ปลูกการตรวจวิเคราะห์ดินและน้ำการใช้ต้นพันธุ์ดีการดูแลรักษาการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวรวมถึงเพิ่มมูลค่าของผลผลิต”

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3) กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงการขยายผลงานด้านการพัฒนาการเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่ว่า มีการพัฒนาทั้งด้านพืช ด้านสัตว์ และด้านประมง โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ในแต่ละชนิด และแต่ละพื้นที่ให้เป็นแปลงใหญ่อัจฉะริยะ เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรดำเนินกิจการอย่างมืออาชีพในทุกด้าน ทั้งวิธีการเพาะปลูก การพัฒนาผลผลิต และการจัดการด้านการตลาดอย่างมืออาชีพ

"สำหรับทางภาคตะวันออกมีจำนวน 410 แปลง สมาชิกรวม 18,559 ราย บนพื้นที่ 349,870.25 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นแปลงใหญ่ไม้ผล โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดแล้ว เกษตรกรได้รับผลผลิตที่ดีและขายได้ราคาสูงมาก เป็นที่ปลาบปลื้มของเกษตรกรโดยทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่จะมาพูดคุยกันว่า แนวทางในการพัฒนาขบวนการผลิตและการตลาดของแต่ละแปลงใหญ่นั้น จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปบ้าง ที่จะทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นการต่อยอดสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นๆ ไป" นายดำรงฤทธิ์ กล่าว

ปัจจุบัน โครงการเกษตรแปลงใหญ่ มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับในหลายสินค้าเกษตรด้วยกัน ที่สำคัญเกษตรแปลงใหญ่ยังผนวกแผนงานด้านการตลาดเข้าไปด้วย จึงไม่เพียงแต่สามารถทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ต้นทุนต่ำลง รวมถึงและนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาใช้  แจ่ยังเชื่อมโยงไปยังแหล่งจำหน่ายที่สำคัญๆ ด้วย ทั้งในรูปของออฟไลน์และออนไลน์ จึงหวังว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะขยายพื้นที่โครงการเกษตรแปลงใหญ่ให้มากยิ่งขึ้นด้วยความรวดเร็ว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...