ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
เมื่อจีนช่วยอินเดียสู้โควิด
18 พ.ค. 2564

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ                                                      

เมื่อจีนช่วยอินเดียสู้โควิด

 

 “จีน”กับ “อินเดีย” คือสองยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่งขันในเอเชีย หากมองเฉพาะพื้นที่นั้น แผ่นดินมังกรกว้างใหญ่กว่าแผ่นดินภารตะถึง 3 เท่า แต่ในด้านจำนวนประชากรถือว่าใกล้เคียง วันนี้จีนมี 1,400 ล้านคน อินเดียมี 1,376 ล้านคน  สองประเทศรวมกันมีจำนวนประชากรถึง 37% ของประชากรโลก

มีการศึกษาแนวโน้มด้านประชากรโลกว่า ภายในปี 2570 จำนวนประชากรอินเดียจะแซงหน้าจีน และเมื่อถึงปี 2593 อินเดียจะมีประชากรเพิ่มถึง 1,500 ล้านคน ขณะที่ประชากรจีนจะลดลงเหลือ 1,100 ล้านคน ด้วยเหตุว่า คนจนในอินเดียมีการศึกษาน้อยไม่ค่อยคุมกำเนิด ส่วนคนจีนมีการศึกษามากขึ้น ผู้สูงอายุมากขึ้น เด็กเกิดใหม่น้อยลง

แม้สองประเทศนี้จะมีเขตแดนติดกันยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร แถบเทือกเขาหิมาลัย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดียในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยราบรื่นนัก ดูเหมือนเป็นไม้เบื่อไม้เบากันมาตลอด 

นับจากปี 1962 ที่ทำสงครามแย่งชิงดินแดนที่เป็นรอยต่อของสองประเทศ แม้กระทั่งกลางปี 2563 ก็ยังมีเหตุทะเลาะกันระหว่างทหารจีนกับทหารอินเดียบริเวณชายแดน จนเป็นผลให้ทหารอินเดียเสียชีวิตถึง 20 นาย แต่ฝ่ายจีนไม่ปรากฎจำนวนแน่ชัด

ลึกๆ ของความบาดหมาง คือการที่อินเดียให้ที่ลี้ภัยแก่องค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของจีน จึงสร้างความไม่พอใจแก่จีนจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งที่จีนแสดงออก คือการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ “ปากีสถาน” ซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นของอินเดีย

มาระยะหลัง เมื่อจีนเริ่มใช้นโยบายออกสู่ภายนอก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ริเริ่มโครงการเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative) เชื่อมจีนกับทั่วโลก อินเดียมองว่า เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ที่อินเดียเคยครอบครอง โดยเฉพาะเอเชียใต้ โดยจีนอ้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า จึงร่วมมือสร้างทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน กับนานาประเทศในเอเชียใต้ ทั้งปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา 

อินเดียปฏิเสธคำชวนเข้าร่วมโครงการเส้นทางสายไหมของจีน เช่นเดียวกับที่ปฏิเสธเข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรี  Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP ที่จีนเป็นแกนนำ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านเศรษฐกิจ ต้องถือว่าสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอินเดีย สินค้าของอินเดียส่งออกไปขายในตลาดจีนมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ขณะที่การลงทุนของจีนในอินเดียก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

แต่การค้าต้องหยุดชะงักนับแต่เกิดการระบาดโควิด-19 ในจีน จนถึงวันนี้จีนควบคุมได้ แต่สถานการณ์ในอินเดียกลับเลวร้ายจนโลกตะลึง

ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 คนอินเดียติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 21 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 2.3 แสนคน มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มวันละ 4 แสนคน ตายวันละ 4,000 คน ต้องเผาศพกันบนถนนเป็นที่อเนจอนาถใจ และหากแนวโน้ยังเป็นเช่นนี้ ภายในต้นเดือนมิถุนายน “อินเดีย”อาจจะขึ้นอันดับ 1 ของโลกที่ติดเชื้อมากสุด

เห็นชัดว่า ระบบสาธารณสุขล่มจากปรากฏการณ์คนป่วยล้นโรงพยาบาล เตียงไม่พอรองรับ ต้องนอนเตียงละ 2 คน แพทย์ พยาบาลไม่พอ ชุดอุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอ แม้กระทั่งถังออกซิเจนที่จะช่วยการหายใจก็กลายเป็นของขาดตลาดที่มีราคาแพง ถึงขนาดต้องแย่งชิงและปล้นกัน

เศรษฐีที่มีเงินหนีออกนอกประเทศนานแล้ว ถึงขนาดมีข่าวเหมาเครื่องบินไปหลายประเทศรวมถึงไทย จนนานาชาติประกาศบล็อกผู้เดินทางจากอินเดีย เพราะกลัวไวรัสกลายพันธุ์

ที่พอมีสตางค์บ้างต้องวิ่งหาซื้อยาและวัคซีนในตลาดมืด ส่วนคนยากจนหันพึ่งหมอผีชีพราหมณ์ นักบวช หรือปล่อยตายตามยถากรรม

แม้กระทั่งวัคซีนที่จะฉีดให้ประชากรก็ไม่พอ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ อินเดียได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานวัคซีนของโลก” เพราะวัคซีนที่ใช้กันทั่วโลกประมาณ 60% ถูกผลิตที่อินเดีย เนื่องจากบริษัทยานานาชาติใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตด้วยเหตุผลว่า มีเทคโนโลยีและต้นทุนต่ำ

เมื่อเกิดโควิด-19 อินเดียน่าจะมีโอกาสดีที่สุดที่จะฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่ประชาชน แต่เพราะความเห็นแก่ตัวของสหรัฐอเมริกาที่กักสารตั้งต้นและวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนเอาไว้ใช้เอง ทำให้สายพานการผลิตวัคซีนของอินเดียหยุดชะงัก   แล้วสิ่งที่ตามมา คือการล้มตายของคนอินเดีย

สหรัฐอเมริกาถูกด่าเละในเรื่องนี้ที่เพิกเฉยต่อวิกฤติในอินเดีย ทั้งๆ ที่ผ่านมา ได้ใช้อินเดียเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจจีน  หรือช่วงที่อเมริกาวิกฤติโควิดช่วงปีที่แล้ว ทางอินเดียก็ออกหน้าช่วยเหลือ ส่งผลให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องกลับลำอนุมัติให้ส่งออกวัตถุดิบและสารตั้งต้นได้ พร้อมความช่วยเหลืออีกระดับ

จีนแสดงสปิริต ประกาศสนับสนุนและช่วยเหลืออินเดียอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับโควิด-19 ทั้งในนามรัฐบาลและบริษัทเอกชนจีนที่ทำมาค้าขายหรือลงทุนในอินเดีย

ซุนเว่ยตง เอกอัครราชทูตจีนประจำอินเดีย โพสต์ทวิตเตอร์ว่า จีนได้จัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนแก่อินเดียในปริมาณสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และยังคงเดินหน้าผลิตเครื่องผลิตออกซิเจนและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อส่งมอบแก่อินเดีย

“บรรดาบริษัทจีนต่างสืบสานจิตวิญญาณแห่งมนุษยธรรม มุ่งเน้นการช่วยชีวิต ตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของชาวอินเดีย” ซุนระบุในอีกทวีตหนึ่ง “สิ่งเหล่านี้สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนความปรารถนาดีที่จะช่วยเหลืออินเดียต่อสู้กับโควิด-19

ตั้งแต่เดือนเมษาย นจีนได้จัดหาเครื่องช่วยหายใจมากกว่า 5,000 เครื่อง เครื่องผลิตออกซิเจน 21,569 เครื่อง หน้ากากอนามัยกว่า 21.48 ล้านชิ้น และยาอีกประมาณ 3,800 ตันให้แก่อินเดีย นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทจีนยังมีเป้าหมายผลิตเครื่องผลิตออกซิเจนให้อินเดียอย่างน้อย 40,000 เครื่อง

โควิด-19 สร้างหายนะแก่โลกและอินเดีย แต่อีกด้านอาจช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้สองมหาอำนาจแห่งเอเชียกลับมาเป็นมิตรที่ดีต่อกัน

อ้างอิงภาพโดย : https://www.infoquest.co.th/tag/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%97

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...