ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
นโยบายลูก 3 คน
24 มิ.ย. 2564

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 นโยบายลูก 3 คน

ภาพจำในประวัติศาสตร์จีน คือการเกณฑ์ประชาชนเข้าทำสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างก๊กต่างๆ การเกณฑ์ประชาชนเป็นแรงงานสร้างกำแพงเมืองจีน สุสาน พระราชวัง ความฟุ้งเฟ้อสุขสบายของเจ้าผู้ครองนคร เปรียบเทียบกับความยากจนและความอดอยากยากแค้นของประชาชน    

ในปี 1949 เมื่อเหมา เจ๋อตุง กับคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนปีนั้น จีนมีประชากรประมาณ 540 ล้านคน

ปี 1959-1961 ชาวจีนร่วม 30 ล้านคน เสียชีวิตเพราะความอดอยากในช่วงเวลาสั้นๆ อันเนื่องมาจากเกิดวิกฤติด้านภัยธรรมชาติ ประกอบกับการทดลองระบบรวมกลุ่มแบบคอมมูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตภาคการเกษตร 

ปี 1976 ประชากรจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับ 940 ล้านคน หรือเกือบหนึ่งเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 27 ปี

ปี 1979 พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังจำถึงหายนะความอดอยากในอดีต จึงประกาศใช้นโยบาย “ลูกคนเดียว” เพื่อควบคุมอัตราการเกิดของประชากร ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือว่า ได้ผลดีในขณะนั้น แต่ส่งผลต่อสังคมจีนในเวลาต่อมา และกำลังจะมีผลต่อเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้

ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคุมกำเนิดอย่างเข้มข้น ว่ากันว่า ได้สร้างความกดดันต่อประชาชนอยู่ลึกๆ โดยเฉพาะสังคมชนบทที่ต้องอาศัยแรงงานลูกหลานในครอบครัวช่วยทำงานภาคการเกษตร จนรัฐบาลต้องยอมผ่อนคลายในบางพื้นที่

ว่ากันว่า นโยบายลูกคนเดียวมีผลต่อการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด “เพศหญิง” เพราะไม่สามารถสืบสกุลตามความคิดของครอบครัวสมัยเก่า ขณะที่ปรากฏข่าวการซื้อขายทารก “เพศชาย” และมีผลต่อโครงสร้างประชากรจีนในปัจจุบันที่เพศชายมากกว่าหญิง

ปี 2020 อัตราส่วนระหว่างเพศชายต่อเพศหญิงอยู่ที่ 105.07 ประชากรชายมีจำนวน 723.34 ล้านคน หรือ 51.24% ประชากรหญิงมีจำนวน 688.44 ล้านคน หรือ 48.76% มีผลให้ชายจีนในปัจจุบันหาภรรยายากขึ้นและแต่งงานช้าลง

วันที่ 29 ตุลาคม 2015 พรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค สี จิ้นผิง ได้แถลงยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว โดยอนุญาตให้คู่สามีภรรยาสามารถมีลูกได้ 2 คน เพื่อหวังสร้างความสมดุลประชากรและแก้ปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยทำงานในอนาคต สะท้อนว่า เริ่มมองเห็นสัญญาณไม่ดีตั้งแต่นั้นแล้ว

ปี 2016 จีนมีประชากร 1,379 ล้านคน รัฐบาลจีนเริ่มอนุญาตผ่อนคลายตามนโยบายพรรคฯ พร้อมกับตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2020 ประชากรจีนจะเพิ่มเป็น 1,420 พันล้านคน

ทว่าจากปี 2016 เป็นต้นมา อัตราเกิดของประชากรจีนลดลงมาตลอด

ปี 2018 เกิด 15.23 ล้านคน

ปี 2019 เกิด 14.65 ล้านคน

ปี 2020 เกิดเพียง 10.03 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่า เป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจีนเป็นประเทศแรกที่พบการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น จนต้องปิดเมืองและปิดประเทศ พร้อมควบคุมเข้มตลอดทั้งปี โดยปีนี้จีนมีประชากร 1,412 ล้านคน

กล่าวได้ว่า จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างสังคม “ลูกคนเดียว” จนแม้จะเปิดโอกาสให้มีลูกคนที่สองก็ไม่ค่อยมีครอบครัวเดิมที่มีลูกอยู่แล้วที่อยากจะสร้างสมาชิกเพิ่ม

หากคิดแบบพื้นๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่อัตราการเกิดของจีนลดลงสำหรับประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1,412 ล้านคนแล้ว แต่ในมุมมองของนักประชากรศาสตร์พบว่า จีนกำลังประสบปัญหาด้านโครงสร้างประชากร

วันนี้คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในจีนมีมากถึง 250 ล้านคน คิดเป็น 18% ของอัตราจำนวนประชากร และจะเพิ่มเป็น 480 ล้านคนในปี 2050 จำนวนประชากรราว 1 ใน 3 ของประชากร เรียกได้ว่า เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-age Society)

วันนี้จีนมีประชากรวัย 15-59 ปี จำนวน 894.38 ล้านคน หรือ 63.35% ของจำนวนประชากร ซึ่งมีการทำนายว่า ก่อนปี 2030 จีนจะสูญเสียคนในวัยแรงงานไป 67 ล้านคน

ที่สำคัญ ปี 2030 ประชากรจีนจะมีจำนวนสูงสุดที่ 1,429 ล้านคน และมีแนวโน้มจะลดลงอีก

ทิศทางที่เป็นปัญหาดังกล่าว ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องออก “นโยบายลูก 3 คน” ส่งเสริมให้อาตี๋อาหมวยช่วยกันผลิตอาตี๋น้อยอาหมวยน้อยเพิ่มขึ้นมาเป็นกำลังรุ่นใหม่ในการพัฒนาแดนมังกร

มาตรการส่งเสริมนั้น เห็นมีหลายอย่าง แต่สื่อจีนรายงานว่า นโยบายลูก 3 คน ไม่ได้รับการขานรับจากประชาชนจนน่าเป็นห่วง และเรื่องอย่างนี้พรรคฯ ไปบังคับให้สมาชิกพรรคหรือรัฐบาลจีนที่ได้ชื่อว่า เผด็จการเข้มข้น จะไปบังคับหรือออกกฎหมายให้ประชาชน “ปั๊มลูก” ก็ทำไม่ได้แน่         

อาจจะเพราะในพรรคฯ และรัฐบาลจีนมีผู้อาวุโสเยอะ จึงอาจไม่เข้าใจว่า ลูกหลานจีนยุคนี้ไม่คิดถึงการมีบุตรไว้สืบสกุลแบบยุคอากงอาม่า เพราะสังคมจีนยุค 5 G มีบรรยากาศของสังคมเมืองมากขึ้น เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความกดดันจากสภาพเศรษฐกิจ ค่าที่พักอาศัย ค่าครองชีพ ค่าการศึกษาเล่าเรียนบุตร ล้วนเป็นภาระที่ต้องแบกรับอยู่

อัตราการเกิดที่ลดลงสะท้อนว่า จีนยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสามี-ภรรยา ที่ต้องช่วยกันทำงานหารายได้มาเลี้ยงดูลูก ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น การแข่งขันที่รุนแรง

จึงแปลกใจที่มาเปิดนโยบายลูกคนที่ 3 แทนที่จะทำแคมเปญ “ลูกคนแรก” สำหรับคู่สมรสใหม่ หรือคู่สามีภรรยาที่แต่งงานมาพักหนึ่ง แต่ยังชะลอการมีลูกเพื่อสร้างฐานะให้มั่นคงก่อน หรือเพื่อให้ฝ่ายหญิงสามารถรักษาหน้าที่การงานและอาชีพไว้

แม้แต่หนุ่มสาวชาวจีนที่ยังโสดในวันนี้ ยังคิดว่า อย่าว่าแต่ลูกคนที่ 3 เลย แค่ดูแลตัวเองยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากเลยนะ ท่านประธานสีฯ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...