เมืองเซินเจิ้น ขึ้นตรงต่อมณฑลกวางตุ้ง สาธารณะรัฐประชาชนจีน มีเนื้อที่ 1,952.84 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 9 ล้านคน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ทิศตะวันออกอยู่ติดกับอ่าวต้าย่า กับ อ่าวต้าเผิง ทิศตะวันตกอยู่ติดกับปากแม่น้ำจูเจียงและอ่าวหลิงติง ทางด้านใต้อยู่ติดกับฮ่องกง ทางเหนืออยู่ติดกับเมืองตงก่วนและหุ้ยโจว โดยมีแนวชายฝั่งทะเลยาว 230 กิโลเมตร
เมื่อปี ค.ศ.1979 รัฐบาลจีนมีมติให้จัดตั้งเมืองเซินเจิ้นขึ้น โดยในเดือนสิงหาคม ปี 1980 คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน อนุมัติและประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน จากนั้นจึงทุ่มงบประมาณเข้าไปจำนวนมาก เพื่อการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัย พร้อมๆกับการประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนเข้าร่วมในการพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งถูกจัดแบ่งออกเป็นโชนต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละสภาพพื้นที่
หลังจากการสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองเซินเจิ้นมานานกว่า 30 ปี จากเมืองชนบทธรรมดาๆ เซินเจิ้นได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นเมืองท่าที่ทันสมัย มีการลงทุนในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เกิดขึ้นมากมาย ทำให้เป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก
เซินเจิ้นกลายเป็นหน้าต่างแห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน บรรดาชาวจีนต่างมณฑลจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปอยู่อาศัย ทำให้เป็นเมืองที่เปิดกว้าง สมานฉันท์ จนชาวจีนและชาวต่างชาติเข้าไปบุกเบิกในกิจการใหม่ ๆ มากที่สุด เมืองหนึ่ง
หลายปีที่ผ่านมา เมืองเซินเจิ้นได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองที่มีพลังทางเศรษฐกิจมากที่สุด และเมืองที่ได้รับความนิยมจากแรงงานเกษตรกรมากที่สุด สภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีนประกาศรายงานการประเมินขีดความสามารถการแข่งขันของเมืองว่า ศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของเมืองเซินเจิ้น อยู่อันดับแรกของจีน ต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว
ครั้งหนึ่งผมได้รับเชิญจาก CRI ให้เดินทางไปเยี่ยมชมการพัฒนาเมืองเซินเจิ้น และได้เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เซินเจิ้น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากใจกลางเมืองมากนัก ภายในพิพิธภัณฑ์สื่อให้เห็นถึงความเป็นมาของการพัฒนาและสร้างเมืองเซินเจิ้นในด้านต่างๆ มีการจัดสร้างโมเดลขนาดใหญ่ให้เห็นภาพโดยรวมของเมืองเซินเจิ้น พร้อมภาพถ่ายและหุ่นขี้ผึ้งจำลองการสร้างเมืองเซินเจิ้นในยุคแรกๆ บริเวณกลางห้องโถงใหญ่โดดเด่นด้วยประติมากรรมรูปปั้นของ นายเติ้ง เซี่ยวผิง ผู้นำการปฏิรูปของจีน กำลังก้มลงปลูกต้นไทร ณ สวนพฤกษชาติของเมืองเซินเจิ้น
บอกให้รู้เป็นนัยว่า “เติ้ง” คือผู้นำที่ชาวเชินเจิ้นและชาวจีนทั้งประเทศยกย่องชื่นชม ในความหาญกล้าที่ประกาศปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจของจีนให้ก้าวไปสู่ความทันสมัย โดยเลือกใช้รูปแบบการปกครองพิเศษ และประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในบางพื้นที่ ให้สอดรับกับระบบทุนนิยมเสรี เพื่อขับเคลื่อนประเทศจีนให้เดินไปข้างหน้า แทนที่จะยึดมั่นอยู่ในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างแต่ก่อน
เพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ได้มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1990 บ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนจำนวนมากต่างหลั่งไหลเข้าไปอยู่ที่เซินเจิ้น เกิดธุรกิจการค้าที่หล่ากหล่าย รวมถึงอุตสาหกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์และแฟชั่นต่างๆ และด้วยผลงานอันลือชื่อและงดงามของช่างฝีมือชาวจีน ในปี พ.ศ. 2532 เมืองเซินเจิ้นจึงได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นนครแห่งการออกแบบและแฟชั่น
เมืองเซินเจิ้น เป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันออกที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอกและมณฑลอื่นๆ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดการค้าเสรีในระดับสากล และด้วยการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว หลังจากที่มีการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างเกาะฮ่องกงกับเซินเจิ้น ความยาว 6 กิโลเมตร รวมทั้งยังมีเรือ มีรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมต่อถึงกัน ทำให้การเดินทางจากเกาะฮ่องกงมาถึงใจกลางเมืองเซินเจิ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนจีนจากเกาะฮ่องกงจึงหันกลับเข้ามาลงทุนและซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองเซินเจิ้นมากขึ้น เนื่องจากตลาดสินค้าในประเทศจีนมีกำลังซื้อมาก และราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่สูงมากนักหากเทียบกับเกาะฮ่องกง
จากเมืองเล็กๆ ขยายมาสู่เมืองใหญ่ ผู้คนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่คือความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ซึ่งต่อมาได้เป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ในประเทศจีนที่ทะยอยเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง ย่อมการันตีแนวคิดของนายเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “แมวไม่ว่าจะสีดำหรือสีขาว ก็จับหนูได้เหมือนกัน”
“การเปิดประเทศเพื่อต้อนรับระบบการค้าเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป และการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเมืองเซินเจิ้น แล้วเป็นผลพวงมาจากการประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มากเหลือเกิน เราไม่เคยคิดว่ารัฐบาลจีนจะกล้าเปลี่ยนแปลงมากถึงขนาดนี้ ทำให้พวกเราที่เคยมีความเป็นอยู่ด้วยความยากลำบาก ได้กลับมามีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าไม่มีเติ้งเซี่ยงพิง ก็คงไม่มีเราในวันนี้...”
นายหู หยงเจิ้ง ชาวเมืองเซินเจิ้นที่อพยพครอบครัวมาจากชนบท ตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองเซินเจิ้น ได้สะท้อนความในใจของเขาออกมา ด้วยจิตคารวะที่มีต่อคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของนายเติ้ง เซี่ยวผิง วีรบุรุษในความทรงจำของคนจีนตลอดไป ..
// * ผู้เ้ขียน : CHANWITTAYA CHAIKUL