ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมควบคุมโรค เผยประเทศไทยมีระบบความปลอดภัยด้านอาหารที่มีประสิทธิภาพ
10 ก.ค. 2562

              กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยมีระบบความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการสอบสวนโรค โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง พร้อมแนะประชาชนให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

             นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าชาวต่างชาติ 2 รายป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จากการรับประทานผัดไทยในประเทศไทย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นั้น  กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการสอบสวนโรค ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมกันดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ในการดูแลเกี่ยวกับอาหารนำเข้า ส่งออก และบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่บริโภคได้รับความปลอดภัยจากอาหาร

            ขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยประสานไปยังสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย  และคณะกรรมการเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (INFOSAN) ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องอาหารปลอดภัย เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประสานไปยังเครือข่ายระหว่างประเทศ และประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว  สำหรับเชื้อโรคตามที่ถูกอ้างถึงในเว็บไซต์ นั้น เป็นโปรโตซัวในลำไส้สกุลหนึ่ง โดยทั่วไปเชื้อนี้ไม่ก่อโรคในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง เชื้อจะไม่ทนต่อความร้อน และกรดในกระเพาะอาหาร  ซึ่งผัดไทย ปรุงให้สุกด้วยความร้อน จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุดังกล่าว

             นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เป็นต้น โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้  ในการป้องกันโรค ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด ล้างผัก ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน ดูแลความสะอาดของภาชนะใส่อาหาร ห้องครัว และการกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนเชื้อโรค   

“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ดังนี้ 1.กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง  2.ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อกินอาหารร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร  และ 3.ล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก  นอกจากนี้ ควรจัดให้มีน้ำดื่มที่สะอาด มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีการกำจัดขยะมูลฝอย และน้ำเสียที่เหมาะสมในบริเวณที่อยู่รวมกัน โดยเฉพาะในร้านอาหาร  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...